ตลาดหุ้นกู้ฝืดจัด-นักลงทุนขยาดขายไม่ออก บริษัทใหญ่หันกู้แบงก์

ตลาดหุ้นกู้ ขาลง “SCC-PTTGC” เปิดขายต้น เม.ย. ยอดขายฝืดจัด อสังหาฯหลายรายเจอปัญหาขายไม่ออก “TMB-L&H” ตัดสินใจไม่โรลโอเวอร์ หลายบริษัทหันไปพึ่งเงินกู้แบงก์ ขณะที่หลายบริษัทถูกดาวน์เกรด จับตา “CPF-TRUE-BJC” ครบดีลเดือน พ.ค.-มิ.ย.อีกร่วม 5 หมื่นล้าน เตือนหุ้นกู้บริษัทนอกตลาดเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้

ล็อกคอเลื่อนไถ่ถอนหุ้นกู้

แหล่งข่าวจากวงการตลาดตราสารหนี้เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มส่งสัญญาณกดดันสภาพคล่องของหลาย ๆ บริษัท เห็นได้จากช่วงนี้เริ่มมีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ขอมติผู้ถือหุ้นกู้ ได้เลื่อนการไถ่ถอนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดออกไปก่อน โดยเฉพาะบริษัทที่มีเครดิตเรตติ้งต่ำกว่า investment grade (BBB) เนื่องจากภาวะตลาดขณะนี้โอกาสการที่ต่ออายุหุ้นกู้ครบดีล (rollover) เป็นไปได้ยาก

โดยขณะนี้มี 2 บริษัทแล้วที่มีการเลื่อนไถ่ถอนหุ้นกู้ครบกำหนดออกไปก่อน คือ บมจ.เอเชียแคปปิตอลกรุ๊ป (ACAP) และล่าสุด บมจ.ไมด้าแอสเซ็ท (MIDA) ที่ถูกดาวน์เกรดลงต่ำกว่า investment grade ได้ขอมติขยายเวลาไถ่ถอนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอน 24 เม.ย. 2563 ออกไปอีก 2 ปี โดยยอมจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มจาก 5.55% ต่อปี เป็น 6.00%

ทั้งนี้ บริษัทที่ถูกดาวน์เกรดจะมีการเลื่อนไถ่ถอนกันมากขึ้น เพราะหุ้นกู้เหล่านี้ไม่เข้าข่ายตามที่กองทุนเสริมสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (BSF) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเข้าไปช่วยอยู่แล้ว โดยในปี 2563 จนถึงสิ้นปี จะมีหุ้นกู้ต่ำกว่า investment grade ครบดีลประมาณ 3 หมื่นล้านบาท จากหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดรวมกว่า 4 แสนล้านบาท

บริษัทใหญ่หันขอกู้แบงก์

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ปัจจุบันบริษัทขนาดใหญ่ที่มีเครดิตจะหันไปขอกู้เงินจากธนาคารแทน อาทิ บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์, บมจ.ช.การช่าง (CK), บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เป็นต้น

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) กล่าวว่า ระยะข้างหน้าแนวโน้มบริษัทต่าง ๆ น่าจะออกหุ้นกู้ ทั้งแบบออกใหม่ และ rollover กันน้อยลง เนื่องจากไม่ได้ออกง่ายเหมือนช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งต้นทุนการออกหุ้นกู้สูงขึ้น อย่างไรก็ดี หากเป็นบริษัทที่ขนาดใหญ่และมีความน่าเชื่อถือก็คงไม่มีปัญหา หลังจากนี้คิดว่าหลาย ๆ

บริษัทน่าจะกลับมาหาเงินกู้ธนาคารพาณิชย์กันมากขึ้น โดยบางบริษัทอาจขอสินเชื่อไปรีไฟแนนซ์หุ้นกู้ที่ครบดีลเลย ซึ่งหากเป็นรายใหญ่ที่มีหลักประกันกับแบงก์อยู่แล้ว สามารถขอวงเงินเพิ่มได้

ขาใหญ่ขายฝืด-เจ้าอื่นถอย

ขณะที่นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สัญญาณความเสี่ยงของตลาดหุ้นกู้ชัดเจนขึ้นตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย. หลังมีบริษัทขอยืดการชำระหนี้หุ้นกู้ออกไป ขณะที่บางบริษัทเลือกที่จะประกาศไถ่ถอนก่อนกำหนด และยังมีสัญญาณลบจากประเด็นหุ้นกู้รายใหญ่ ของ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ที่เสนอขายหุ้นกู้รวม 25,000 ล้านบาท เมื่อต้นเดือนเม.ย. ที่แม้จะขายหมดภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่ถือว่าขายได้ช้ากว่าปกติที่นักลงทุนจะจองซื้อเต็มภายใน 1-2 วันรวมทั้งหุ้นกู้ของ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ระดับเครดิต AAA+ ที่การขายฝืดมาก ทำให้บริษัทอื่น ๆ ที่จะออกหุ้นกู้ต้องทบทวนอย่างมาก

ขณะที่หุ้นกู้ของ บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ (ANAN) ที่เสนอขายทั้งหมด 2 ชุด มูลค่ารวม 4,000 ล้านบาท ระดมทุนได้เพียง 1,169.9 ล้านบาท หรือระดมทุนได้เพียง 29.25% เท่านั้น

นอกจากนี้หุ้นกู้ของบริษัทขนาดเล็กได้แก่ บมจ.เอสจีเอฟ แคปปิตอล (SGF) มูลค่ารวม 270 ล้านบาท ระดมทุนได้จริง 149.2 ล้านบาท หรือ 55.26% และหุ้นกู้ของ บมจ.ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ (TSE) มูลค่ารวม 1,650 ล้านบาท ระดมทุนได้จริง 1,099.60 ล้านบาท หรือ 66.64%

“ตอนนี้เรามองตลาดหุ้นกู้ว่าการขายไม่หมดเป็นเรื่องปกติ โดยคาดว่ามีนักลงทุนส่วนหนึ่งที่ไปรอซื้อพันธบัตรรัฐบาลที่จะออกมาระดมเงินของ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ทำให้สภาพคล่องตลาดตราสารหนี้ถูกดึงไปส่วนหนึ่ง” นายณัฐพลกล่าว

หุ้นกู้นอกตลาดเสี่ยงผิดนัดจ่าย

ขณะที่ประเด็นการผิดนัดชำระหนี้ นายณัฐพลกล่าวว่า เป็นความเสี่ยงที่ตลาดคาดการณ์อยู่แล้ว โดยเฉพาะหุ้นกู้ของบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ที่ไม่เปิดเผยข้อมูลฐานะทางการเงิน สำหรับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภาพรวมฐานะทางการเงินยังไม่มีปัญหา ยกเว้นหุ้นกู้ของ บมจ.เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป (ACAP) ซึ่งมีปัญหาผิดนัดชำระหนี้ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2562

นายณัฐพลกล่าวว่า ในส่วนของ พ.ร.ก.จัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นกู้เอกชน (BFS) พบว่าไส้ใน พ.ร.ก.นั้น ธปท.เปิดช่องให้หุ้นกู้ที่ยังไม่ครบกำหนดอายุ หรือหุ้นกู้ที่ไม่เข้าข่ายต่ออายุ (rollover) สามารถรับความช่วยเหลือกับกองทุนได้ แต่กำหนดว่าจะต้องเป็นหุ้นกู้ที่อยู่ในระดับการลงทุนขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม หากตัดประเด็นการเลื่อนชำระหนี้หุ้นกู้ และประเด็นที่บริษัทใหญ่ขายหุ้นกู้ไม่หมดออกไป พบว่าในแง่ของการซื้อขายตราสารหนี้ยังค่อนข้างมีเสถียรภาพ สะท้อนจากราคารับซื้อและเสนอขายของทั้งหุ้นกู้เอกชนและพันธบัตรรัฐบาลยังอยู่ในระดับปกติ

ก.ล.ต.ตั้ง “ศูนย์หุ้นกู้ฉุกเฉิน”

รายงานข่าวระบุว่า ตั้งแต่เดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ก.ล.ต.ได้ติดตามสถานการณ์ของตราสารหนี้กลุ่มเสี่ยงที่อยู่ต่ำกว่าระดับลงทุน หรือไม่มีเรตติ้ง โดยได้ประสานงานกับบริษัทผู้ออกตราสาร บริษัทหลักทรัพย์ ธนาคารพาณิชย์ และผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้อย่างใกล้ชิด รวมทั้งพิจารณาแนวทางเพื่อลดและจำกัดผลกระทบในวงกว้าง เท่าที่จะเป็นไปได้ โดยมาตรการที่ ก.ล.ต.ดำเนินการที่ผ่านมา คือ ติดตามสถานการณ์ และผู้ออกตราสารอย่างใกล้ชิด

การตั้ง “ศูนย์ประสานงานหุ้นกู้” ดำเนินการติดต่อสอบถามและให้คำแนะนำผู้ออกตราสาร กรณีคาดว่าจะไม่สามารถ rollover ได้ รวมทั้งการจัดตั้ง “คณะกรรมการกำกับและพัฒนาตลาดตราสารหนี้” เพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับการกำกับและพัฒนาตลาดตราสารหนี้ ยกระดับอีโคซิสเต็มของตลาดตราสารหนี้ และช่วยหาแนวทางแก้ปัญหาเป็นรายกรณีหากจำเป็น

รวมถึงแนะนำผู้ออกตราสาร, ตัวกลางในการขาย และผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ กรณีผู้ออกต้องการจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ เพื่อแก้ไขข้อกำหนดสิทธิในเรื่องต่าง ๆ โดยกำชับผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ให้ทำหน้าที่ รักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นกู้

ตลาดฝืดเลื่อนแผนขายหุ้นกู้

แหล่งข่าววงการตลาดตราสารหนี้ไทยกล่าวว่า แผนการระดมทุนออกหุ้นกู้ของบริษัทต่าง ๆ ตอนนี้ค่อนข้างเงียบ หลังจากเซนติเมนต์ดูไม่ค่อยดีจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 และสัญญาณเริ่มเห็นชัด หลังจากที่ บมจ.ปูนซีเมนต์ไทย (SCC) ระดมทุนออกหุ้นกู้ 2.5 หมื่นล้านบาท อายุ 4 ปี ผลตอบแทน 2.80% ต่อปี ระดับเครดิต A+ เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 63 แต่เนื่องจากการขายฝืดมาก รวมทั้งกรณี บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ได้เสนอขายหุ้นกู้ 4 ชุด วงเงินรวม 1.5 หมื่นล้านบาท เมื่อวันที่ 3 และ 7 เม.ย. 63 ซึ่งก็มีปัญหาขายไม่หมด ทำให้หลังจากนั้น หลาย ๆ บริษัทก็เริ่มเลื่อนแผนการออกหุ้นกู้ จากยอดหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในเดือน เม.ย. มีจำนวนกว่า 8.5 หมื่นล้านบาท

โดยเดือน เม.ย. 63 มีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดและไม่ออกใหม่ คือ บมจ.ธนาคารทหารไทย (TMB) จำนวน 8,000 ล้านบาท และ บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH) 7,000 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 บริษัทได้นำกระแสเงินสดมาชำระคืนผู้ถือหุ้นกู้ ขณะที่ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ซึ่งมีหุ้นกู้ครบกำหนดเดือน พ.ค. ประมาณ 6.5 พันล้านบาท ยังไม่ได้แจ้งว่าจะออกหุ้นกู้ใหม่หรือไม่ เช่นเดียวกับ บมจ.ควอลิตี้ เฮ้าส์ (QH) และ บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) ที่จะครบกำหนดบริษัทละ 4 พันล้าน รวมทั้งบริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ที่จะมีหุ้นกู้ครบกำหนด 3.3 พันล้านบาท

ส่วนในเดือน มิ.ย. 63 จะมีหุ้นกู้ครบกำหนดรายใหญ่ 2 แห่ง คือ บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) กว่า 1.8 หมื่นล้านบาท และ บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) 2 หมื่นล้านบาท ต้องติดตามว่าช่วงเดือน พ.ค. บรรยากาศตลาดจะดีขึ้นหรือไม่

TRUE-EA ชิมลางระดมทุนต่อ

ขณะที่เดือน พ.ค. 63 จะมีเจ้าใหญ่อย่างกลุ่มทรู (TRUE) ก็เตรียมเปิดขายหุ้นกู้ TUC อายุ 1 ปี 6 เดือน และอายุ 5 ปี 6 เดือน ผลตอบแทน 3.05-4.50% ต่อปี แก่ผู้ลงทุนรายใหญ่ และผู้ลงทุนสถาบัน เนื่องจากมีหุ้นกู้ครบกำหนด 9 พันล้านบาท

ขณะที่นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA เปิดเผยว่า ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 63 มีมติอนุมัติให้ออกและเสนอขายหุ้นกู้ใหม่ ในวงเงินไม่เกิน 15,000 ล้านบาท เพื่อเตรียมการสำหรับกรณีที่หากพบว่ามีโอกาสเหมาะสมก็จะสามารถออก และเสนอขายหุ้นกู้ในต้นทุนที่ต่ำ และเงื่อนไขที่ดีได้ เพื่อนำเงินไปชำระคืนเพื่อปรับโครงสร้างหนี้เดิม หรือใช้ในการลงทุนในโครงการใหม่ ๆ

ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า หุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในปี 2563-2564 มีประมาณ 9.6 แสนล้านบาท แต่จะครบดีลในปี 2563 ราวกว่า 4 แสนล้านบาท ซึ่งพระราชกำหนดการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 ที่ตั้งกองทุน BSF วงเงิน 4 แสนล้านบาทนั้น มีหลักเกณฑ์ชัดเจนว่า ใครจะมาขอความช่วยเหลือได้บ้าง โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้ที่ออกตราสารหนี้จะต้องระดมทุนจากแหล่งอื่นไม่น้อยกว่า 50% ก่อน จึงจะมีสิทธิมาสมัครขอเข้าโครงการได้ ซึ่งกองทุน BSF จะทำหน้าที่แค่เติมส่วนที่ขาดให้เท่านั้น

และ ธปท.จะคิดดอกเบี้ยแพงกว่าทุกแหล่ง โดยจะทำหน้าที่ให้เงินระยะสั้นชั่วคราว อายุไม่เกิน 270 วัน และบริษัทที่จะขอใช้กลไกกองทุน BSF จะต้องได้รับการจัดอันดับเครดิตเรตติ้งในระดับที่ลงทุนได้ ซึ่งก็คือ investment grade ขึ้นไป โดยต้องมีการทบทวนเครดิตเรตติ้งหลังมีโควิด-19