ไวรัสทุบกำไรบจ. 2 แสนล้าน Q1 วูบยกแผง / “พลังงาน-ปิโตร” ฉุด

โบรกฯจ่อหั่นกำไร บจ.ไทยปี”63 ฮวบ 2 แสนล้านบาท คาดทั้งปีเหลือกำไรแค่ระดับ 7 แสนล้านบาท หลังไตรมาสแรกอ่วมหนัก หุ้นกลุ่ม “พลังงาน-ปิโตรเคมี” ฉุดกำไรทรุด 2.8 หมื่นล้านบาท วูบ 58% จากช่วงเดียวกันปีก่อน “เมย์แบงก์ฯ” ลุ้นแนวโน้มไตรมาส 2 หุ้นพลังงานขาดทุนน้อยลงช่วยพยุงกำไรตลาด

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีความเสี่ยงในการปรับลดประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในปี 2563 ลง หลังการประกาศงบไตรมาสแรกกดดันให้กำไรสุทธิต่อหุ้น(EPS) ในตลาดปรับลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 69 บาท/หุ้น โดยเบื้องต้นคาดการณ์ว่ากำไร บจ.ปีนี้ มีโอกาสปรับลดลงมาอยู่ระดับ 7 แสนล้านบาท จากเดิมคาดไว้ 9.6-9.7 แสนล้านบาท โดยไตรมาสแรกกำไร บจ. ทรุดตัวมากพอสมควร จากระดับปกติที่ควรมีกำไรระดับ 2-2.5 แสนล้านบาทต่อไตรมาส ซึ่งข้อมูลฝ่ายวิจัย บล.เมย์แบงก์ฯ ล่าสุด (ณ 15 พ.ค. 63) พบว่ากำไร บจ.ประมาณ 92% ของมูลค่าตลาดรวม (market cap) อยู่ที่ 1.1 แสนล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) ที่มีกำไร 2.67 แสนล้านบาท หรือลดลงราว 58% และลดลง 50% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (QoQ)

“กำไรไตรมาสแรกออกมาต่ำกว่าตลาดคาดไว้ 12% หลัก ๆ ตัวที่ทำให้กำไรดรอปลงมากคือ กลุ่มพลังงาน จากการบันทึกการขาดทุนสต๊อกน้ำมัน (stock loss) ที่ส่งผลให้กลุ่มโรงกลั่นและปิโตรเคมีมียอดขาดทุนถึงระดับหมื่นล้านบาทแทบทุกตัว โดย 2 ใน 3 ของกำไรที่หายไป 1.5 แสนล้านบาทมาจากกลุ่มพลังงาน 9 หมื่นล้านบาท และปิโตรเคมี 1.7 หมื่นล้านบาท”

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มอื่น ๆ ได้แก่ กลุ่มโรงไฟฟ้าที่ขาดทุนค่าเงิน (FX loss) กลุ่มขนส่งก็ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่น บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) และกลุ่มวัสดุก่อสร้างที่กำไรลดลงราว 6,000 ล้านบาท

ส่วนแนวโน้มไตรมาส 2 เชื่อว่ากลุ่มพลังงานที่ถูกกดดันจากราคาน้ำมันดิบในไตรมาสแรก จะกลับมาฟื้นตัวได้ หากราคาน้ำมันดิบยังเคลื่อนไหวอยู่ในระดับปัจจุบันที่ 30 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งจะส่งผลให้ปัจจัยลบจาก stock loss รุนแรงจะหายไป รวมถึงกลุ่มโรงไฟฟ้าที่ในไตรมาสแรกเผชิญ FX loss จากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าน่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ด้วย

“กำไรของหุ้นกลุ่มพลังงานและโรงไฟฟ้าติดลบรวมกันราว 2.1 หมื่นล้านบาทในไตรมาสแรก ส่วนกลุ่มอื่น ๆ อาจได้รับผลกระทบจากการปิดเมืองในเดือน เม.ย. แต่เมื่อหักลบกับกลุ่มพลังงานที่เป็นกลุ่มใหญ่แล้ว คาดว่ากำไร บจ.ไตรมาส 2 อาจมีทิศทางทรงตัว ยังเป็นไปได้ยากที่จะทำได้ถึงระดับ 2 แสนล้านบาท โดยกลุ่มหลักที่น่าจะนำตลาดต่อจากนี้อาจจะเป็นกลุ่มพลังงานที่กำไรแย่มากในไตรมาส 1 ไปแล้ว”

นายชาญชัย พันทาธนากิจ ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.เอเซีย พลัสกล่าวว่า ปัจจุบันมี บจ.รายงานงบการเงินงวดไตรมาส 1/63 ไปแล้วทั้งสิ้น 543 บริษัท คิดเป็น 94.6% ของ market cap มีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 1.11 แสนล้านบาท ลดลง 49% QoQ และลดลง 58% YoY โดยกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี เป็นกลุ่มที่กดดันกำไรไตรมาสแรกมากที่สุด หลังขาดทุนรวมกันกว่า 2.8 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะโรงกลั่นกลุ่มที่ขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันดิบ (stock loss) ถัดมากลุ่มท่องเที่ยวติดลบ 97% หุ้น AOT ติดลบ 52% กลุ่มธนาคารติดลบ 20% ขณะที่กลุ่มเกษตรอาหารและกลุ่มสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคยังเติบโตได้

“กำไรไตรมาส 1 ที่ลดลงแรงถือเป็นความเสี่ยงขาลง (downside risk) ต่อประมาณการกำไรทั้งปี และกดดันโอกาสปรับขึ้นของตลาด เพราะกำไร 1.11 แสนล้านบาท คิดเป็น 11% ของประมาณการกำไรปี 2563 ที่เราเคยให้ไว้ที่ 7.8 แสนล้านบาทเท่านั้น”

ส่วนแนวโน้มไตรมาส 2 นั้น จากราคาน้ำมันดิบที่ปรับขึ้นในช่วงที่ผ่านมา จะหนุนกลุ่มพลังงานที่เผชิญ stock loss ในไตรมาสแรกถึง 3 หมื่นล้านบาท จะส่งผลให้ภาพรวมกำไรสุทธิของ บจ.ไม่ถูกกดดันมากเท่าในไตรมาสแรก รวมถึงหุ้นกลุ่ม ปตท.ที่คาดว่าในไตรมาส 2 กำไรจะฟื้นตัวได้เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้กล่าวว่า จากการรวบรวมผลกำไรสุทธิ บจ.ไตรมาส 1/2563 จำนวน 113 บริษัท พบว่ามีกำไรสุทธิรวมอยู่ที่ 7.87 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าคาดการณ์ของตลาดโดยรวม (bloomberg consensus) ที่มองไว้ที่ 1.11 แสนล้านบาท จำนวนนี้มี 45 บริษัทที่มีผลประกอบการดีกว่าคาด, 41 บริษัทแย่กว่าคาด และ 27 บริษัทเป็นไปตามคาด ทำให้ตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค.ถึงปัจจุบันนักวิเคราะห์ในตลาดเริ่มปรับลดประมาณการกำไร บจ.ไทยทั้งปี 2563 ลงประมาณ 5.2% เหลือ 69.7 บาทต่อหุ้น