ยอดว่างงานเม.ย.พุ่ง 5 เท่า ธปท.ห่วงกระแทกเสถียรภาพเศรษฐกิจ

ธปท. ห่วงยอดว่างงานพุ่ง กระแทกเสถียรภาพเศรษฐกิจและสถาบันการเงิน หลังตัวเลขลูกจ้างได้รับผลกระทบหยุดกิจการชั่วคราวพุ่ง 5 เท่า จากเดือนมี.ค. 9.2 หมื่นราย เพิ่มเป็น 4.65 แสนรายในเดือนเม.ย.  ชี้ การใช้จ่ายภาครัฐพระเอกช่วยพยุงเศรษฐกิจ ส่วนเครื่องยนต์ตัวอื่นหดทุกตัว การท่องเที่ยวหาย 100% เผย ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 3.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่ำสุดในประวัติการณ์ พร้อมเร่งติดตามค่าเงินบาทแข็ง เหตุแรงเทขายทองคำ

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจในเดือนเมษายน 2563 ซึ่งเป็นเดือนแรกของไตรมาสที่ 2 ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ชัดเจน จะเห็นว่าเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจขับหดตัวทุกตัว แต่สิ่งที่ธปท.ค่อนข้างเป็นกังวลเป็นพิเศษ จะเป็นเรื่อง “ตลาดแรงงาน” โดยเฉพาะอัตราการว่างงาน ซึ่งจากข้อมูลประกันสังคม พบว่า จำนวนลูกจ้างและสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดกิจการชั่วคราวในเดือนเมษายนเทียบกับเดือนมีนาคมเพิ่มสูงขึ้นถึง 5 เท่า โดยจำนวนลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบเพิ่มจาก 92,264 ราย เป็น 465,218 ราย ขณะที่สถานประกอบการเพิ่มจาก 445 แห่ง เป็น 2,406 แห่ง

ขณะที่สัดส่วนผู้ขอรับสิทธิ์ว่างงานและผู้สิ้นสุดสัญญาจ้างต่อผู้ประกันตนในเดือนเม.ย.เทียบเดือนมี.ค.มีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดดเช่นกัน โดยผู้ขอรับสิทธิ์ว่างงานในระบบประกันสังคมเพิ่มจาก 1.4% เป็น 1.8% และสัดส่วนผู้สิ้นสุดสัญญาจ้างเพิ่มจาก 0.25% เป็น 0.40% อย่างไรก็ดี การถูกเลิกจ้าง คิดเป็น 16% ของผู้รับสิทธิ์ว่างงานทั้งหมด สะท้อนจากมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ธปท.ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากตลาดแรงงานมีผลต่อเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจและสถาบันการเงินในระยะถัดไปได้

“การขอสวัสดิการว่างงานของลูกจ้างในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้นกระโดด สะท้อนจากเศรษฐกิจปิดกิจการชั่วคราว ในช่วงเม.ย. แต่หลังจากคลายล็อกดาวน์ คาดสถานประกอบการจะกลับมาเปิดดำเนินการ แต่การขอสิทธิว่างงาน มีความน่าห่วง เพราะอาจไม่ได้ชั่วคราว  ขณะที่แต่ละเดือนจำนวนสถานประกอบการ ที่ใช้สิทธิตามมาตรา 75 ขอให้พนักงานหยุดงานชั่วคราว โดยได้รับเงิน 75% ของรายได้   จะเห็นว่ามีเทรนด์เพิ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปี และยังเห็นการขอสวัสดิการเพิ่มขึ้นต่อในเดือนพ.ค.และ มิ.ย.ต่อเนื่องด้วย จากการปิดกิจการล่วงหน้า”

นายดอน กล่าวต่อไปอีก สำหรับตัวเลขมูลค่าการส่งออกในเดือนเมษายน พบว่า หากรวมส่งออกทองคำจะหดตัว -3.3% กรณีไม่รวมทองคำจะหดตัว -15.9% โดยสินค้าที่ติดลบหนักจะเป็นรถยนต์ และสินค้าที่ผูกกับราคาน้ำมันดิบ ส่วนหนึ่งที่การส่งออกหดตัวแรงเป็นผลมาจากอุปสงค์ของคู่ค้า เพราะมาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มข้นในหลายประเทศ อย่างไรก็ดี หากเทียบตัวเลขกระทรวงพาณิชย์จะพบว่ายังเป็นบวกมาจากการคืนเครื่องบินเช่าของเอกชน แต่มองไปข้างหน้าปัจจัยนี้จะลดลง เนื่องจากสายการบินเริ่มกลับมาบินปกติได้ในเดือนมิถุนายน แต่หากดูภาพรวมการส่งออกในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า จะเห็นการหดจากคำสั่งซื้อที่ดิ่งลง

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวมีอัตราการหดตัว -100% นับตั้งแต่เดือนมี.ค.เนื่องจากการล็อกดาวน์ประเทศและหารห้ามเดินทาง ส่วนการบริโภคเอกชน มีอัตราการหดตัว -15.1% โดยหดตัวทุกหมวดจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวเป็นบวกในหมวดสินค้าไม่คงทน ทำให้การบริโภคหดตัวสูงสุดตั้งแต่ทำดัชนีมา สอดคล้องกับรายได้ภาคเกษตรหดตัว -10.1% มาจากผลผลิต แม้ว่าราคายังเป็นบวกได้แต่ไม่เยอะ และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงแบบทิ้งดิ่งเป็นประวัติการณ์

ส่วนการลงทุนภาคเอกชนหดตัว -6.1% ปรับดีขึ้นจากเดือนมี.ค.ที่มีอัตรา -8.7% ส่วนหนึ่งมาจากภาคการก่อสร้างที่ปรับดีขึ้น เนื่องจากในเดือนเม.ย.มีการเลื่อนวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ ทำให้การก่อสร้างยังมีต่อเนื่อง โดนวัดผลจากการลงทุนในด้านวัสดุก่อสร้างที่มีทิศทางดีขึ้น ขณะเดียวกัน จากแนวโน้มอุปสงค์ในต่างประเทศที่อ่อนแอ สะท้อนภาคการผลิตอุตสาหกรรมหดตัว -17.3% ส่วนหนึ่งมาจากรถยนต์ที่ขายและส่งออกไม่ได้ รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า ปิโตเลียม แต่หมวดอิเล็กทรอนิกส์ยังเติบโตได้ดี ขณะที่การนำเข้าหดตัวแรง สอดคล้องกับการส่งออกที่หดตัวและการบริโภค

อย่างไรก็ดี เครื่องยนต์ที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจในเดือนเมษายน จะเป็นการใช้จ่ายภาครัฐ หากไม่มีตัวนี้จะเห็นเศรษฐกิจติดลบหนักกว่านี้ โดยจะเห็นว่ารายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลาง (ไม่รวมเงินโอน) ขยายตัวได้ 28.9% และรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัว 14.1% ขณะที่รายจ่ายประจำ (ไม่รวมเงินโอน) ขยายตัว 7.9% ทั้งนี้ การใช้จ่ายภาครัฐ จะเป็นพระเอกเพียงตัวเดียว และจะมีบทบาทมากขึ้นในมาตรการการเยียายาผ่านเงินโอนโครงการเราไม่ทิ้งกัน 5,000 บาท ซึ่งจะม่ช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ในระยะต่อไป

สำหรับตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนเม.ย.หดตัว -0.7% หรือ ขาดดุล 3,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถือเป็นการขาดดุลต่ำเป็นประวัติการณ์ และโดยปกติเดือนเม.ย.จะไม่ได้เป็นเดือนที่ติดลบ แต่จะติดลบในเดือนพ.ค. ถือว่าเลื่อนขึ้นมา ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการส่งเงินกลับเพื่อจ่ายเงินปันผล และรายได้จากการท่องเที่ยวที่หายไป โดยมองว่ามีโอกาสที่จะขาดดุลต่อเนื่อง ขณะที่เงินทุนเคลื่อนย้ายยังเป็นบวก เนื่องจากมีบุคคลนำเงินกลับเข้าประเทศ ส่วนนักลงทุนต่างชาติยังเป็นการขายออกสุทธิทั้งในตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้น

ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาท เดือนเม.ย.อ่อนค่ากว่าเดือนมี.ค. แต่หากดูตัวเลขนับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันพบว่ามีทิศทางแข็งค่าต่อเนื่อง เป็นผลมาจากการปรับมุมมองต่อเศรษฐกิจ ประกอบกับไทยเจอแรงกระแทกจากการส่งออกทองคำที่สูง ซึ่งเป็นอีกปัจจัยกดดันค่าเงินบาทแข็งค่า ซึ่งธปท.ติดตามอย่างใกล้ชิด


“คาดว่าเศรษฐกิจในเดือน พ.ค. จะหดตัวอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องไปถึงเดือน มิ.ย. หรือหดตัวไปอีก 1-2 เดือนข้างหน้า แต่พ.ค.น่าจะดีขึ้น จากผลคลายล็อกดาวน์ และมาตรการโอนเงินเยียว เราไม่ทิ้งกันที่จะเริ่มมีผล แต่ภาพรวมเศรษฐกิจยังหดตัวอยู่ ซึ่งสอดคล้องกับที่ธปท.มองว่าเศรษฐกิจไตรมาส 2 จะเห็นเศรษฐกิจหดตัวลึกที่สุดอยู่แล้ว”