‘ออมสิน’ คงเกณฑ์ปล่อยซอฟต์โลนภาคท่องเที่ยว ป้องกันความเสี่ยง

ออมสิน ยันไม่ผ่อนเกณฑ์ปล่อยซอฟต์โลนภาคท่องเที่ยว ชี้ไม่มีใครคุ้มครองเงินต้น แบงก์ต้องป้องกันความเสี่ยง ส่วนมัคคุเทศก์ขอใช้ซอฟต์โลนกว่า 1 พันราย ไม่เข้าข่ายเกณฑ์ แนะไปใช้สินเชื่อฉุกเฉิน

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า จากกรณีที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวประสบปัญหาเข้าไม่ถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ของธนาคารออมสิน ตามที่รัฐบาลได้กันงบประมาณไว้ให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยว วงเงิน 1 หมื่นล้านบาทนั้น ล่าสุด ธนาคารออมสินได้ส่งตัวแทนเข้าไปหารือร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เรื่องการปรับเกณฑ์การปล่อยกู้ตามที่ภาคเอกชนท่องเที่ยวนำเสนอแล้ว ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ธนาคารออมสินจะยังคงเกณฑ์เดิมในการพิจารณาปล่อยซอฟต์โลน เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่ยื่นขอสินเชื่อมาเป็นรายบุคคล เช่น มัคคุเทศก์ ราว 1 พันราย ซึ่งไม่เข้าข่ายเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนด ว่าจะต้องเป็นบริษัท หรือธุรกิจ

ขณะเดียวกันก็มีธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เข้ามาขอใช้ซอฟต์โลนของธนาคาร วงเงินรวมกว่า 2 หมื่นล้านบาท ล่าสุดอนุมัติไปแล้ว 3.5 พันล้านบาท ซึ่งธนาคารอยู่ระหว่างการพิจารณา โดยรายชื่อธุรกิจที่สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ส่งมา ส่วนใหญ่เป็นรายเล็กที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ธนาคารจึงปล่อยสินเชื่อได้ทีละน้อย ส่วนธุรกิจบางแห่งที่ยื่นขอสินเชื่อแล้วไม่ผ่านเกณฑ์ตั้งแต่แรก เนื่องจากผลการดำเนินงานย้อนหลัง 3 ปี ไม่ได้มีกำไร ซึ่งไม่เข้าข่ายเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนดไว้นั้น ก็ไม่ได้มีการผ่อนเกณฑ์ให้ เนื่องจากธนาคารได้กำหนดเกณฑ์ที่ค่อยข้างง่ายแล้ว

“ช่วงนี้ธุรกิจไม่มีรายได้ไม่เป็นไร แต่ในอดีตจะต้องมีรายได้ และในอนาคตธนาคารก็จะใช้หลักเกณฑ์อิงกับในอดีต คือหากโควิด-19 จบไป ธุรกิจก็น่าจะกลับมามีรายได้ ไม่ใช่ว่าธนาคารปล่อยไปแล้วเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) หมด ซึ่งธนาคารก็ต้องรับความเสี่ยง เพราะไม่มีใครคุ้มครองเงินต้น ธนาคารจึงคงเกณฑ์เดิม” นายชาติชาย กล่าว

สำหรับเกณฑ์ของการขอสินเชื่อซอฟต์โลนที่กำหนดเงื่อนไขให้กับธุรกิจการท่องเที่ยวนั้น คือ งบการเงินย้อนหลังของธุรกิจ 3 ปี ขอให้ได้กำไร 1 ปี โดยรวมหากในอดีต 3 ปีที่แล้ว ซึ่งไวรัสโควิด-19 ยังไม่เกิดขึ้น แต่ธุรกิจยังไม่มีกำไร ธุรกิจก็จะผ่อนชำระไม่ได้ ขณะที่ผู้ที่ผ่านเกณฑ์จะให้เงินกู้เท่ากับค่าบริหารจัดการ 6 เดือน และหากมีธุรกิจเดิม เช่น โรงแรม ก็จะให้เป็นทุนไปหมุนเวียนได้ โดยหากขอกู้ไม่เกิน 5 ล้านบาท ธนาคารก็จะให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาช่วยค้ำประกัน แต่หากกู้มากกว่าวงเงิน 5 ล้านบาท จะให้ใช้หลักประกัน 30% และให้บสย. เข้ามาค้ำประกันด้วย

ทั้งนี้ ในส่วนของมัคคุเทศก์ที่ขอใช้ซอฟต์โลนเข้ามา ธนาคารก็จะพิจารณาแนวทางช่วงเหลือแนวทางอื่น โดยจะให้อาชีพดังกล่าวไปขอใช้สินเชื่อฉุกเฉิน กู้ไม่เกิน 10,000 บาท ดอกเบี้ย 0.10% ต่อเดือน ที่มีไว้สำหรับอาชีพอิสระ และหากไม่พอสำหรับความต้องการ ธนาคารก็มีสินเชื่อประชาชน วงเงินกู้ไม่เกิน 2 แสนบาท คิดอัตราดอกเบี้ยแบบปกติ เนื่องจากไม่ได้เป็นโครงการพิเศษ จึงไม่ได้คิดอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน

Advertisment