ถอดบทเรียนจากวิกฤต สร้างภูมิคุ้มกันสำหรับเอสเอ็มอี

คอลัมน์ SMART SMEs
โดย วีระศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์ ธนาคารกรุงเทพ

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ถือเป็นวิกฤตการณ์ที่ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งในด้านสุขภาพ สังคมและเศรษฐกิจอย่างมหาศาล แต่เหรียญมีสองด้านเสมอ ในขณะที่ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบมากบ้างน้อยบ้าง ยังมีธุรกิจอีกส่วนหนึ่งที่ได้รับอานิสงส์จากสถานการณ์นี้

โดยนอกจากบรรดาผลิตภัณฑ์ที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อและการดูแลสุขอนามัยที่ขายดิบขายดีจนขาดตลาด เช่น หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์เจล แอลกอฮอล์ทำความสะอาด สบู่เหลว และผลิตภัณฑ์รักษาความสะอาดและฆ่าเชื้อต่าง ๆ แล้ว สินค้าและบริการที่ตอบสนองวิถีชีวิตของผู้คนที่ต้องใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับบ้านก็พลอยได้รับประโยชน์ไปด้วย เช่น บริการส่งอาหาร การขายสินค้าออนไลน์ เฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน วัสดุอุปกรณ์ปลูกต้นไม้และจัดสวน ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมประเภทเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน บริการวิดีโอสตรีมมิ่ง เป็นต้น ซึ่งก็เป็นอย่างที่เราเคยได้ยินมาตลอดว่า ในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส

ดังนั้น บทความนี้จึงขอแชร์แนวคิดที่ท่านอาจนำไปปรับใช้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและเตรียมตัวรองรับความไม่แน่นอนในอนาคต ดังนี้ครับ

เตรียมแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ ผู้ประกอบการที่ยังไม่เคยเตรียมแผนเพื่อความต่อเนื่องทางธุรกิจมาก่อน ก็คงต้องประคับประคองกิจการให้ผ่านวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไปให้ได้ โดยสิ่งแรกที่ต้องคิดถึงคือการป้องกันการแพร่ระบาดในสถานประกอบการ เพื่อสร้างความปลอดภัยและความเชื่อมั่นให้แก่พนักงาน ลูกค้าและคู่ค้า ด้วยมาตรการต่าง ๆ อาทิ การให้พนักงานทำงานที่บ้าน การทำความสะอาดและฆ่าเชื้อในสถานประกอบการ ใช้ช่องทางการสื่อสารและสื่อออนไลน์เพื่อลดการพบปะระหว่างบุคคล เป็นต้น

ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการต้องรู้ฐานะทางการเงินที่เป็นจริงของกิจการด้วย เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการดำเนินธุรกิจ การดำเนินการต่าง ๆ ข้างต้นนอกจากจะช่วยให้ผู้ประกอบการประคับประคองธุรกิจให้ผ่านช่วงวิกฤตการณ์ไปได้แล้ว ยังจะทำให้เห็นแนวทางสำหรับการจัดทำแผนเพื่อความต่อเนื่องทางธุรกิจที่จะใช้รับมือกับความไม่แน่นอนในอนาคตได้อีกด้วย

“กระจายแหล่งรายได้”

การปิดเมืองปิดประเทศเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้หลาย ๆ กิจการที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก ต้องขาดรายได้อย่างมหาศาล แม้ว่าโรงแรมบางแห่งได้ปรับตัวหันมาทำอาหารขายแบบดีลิเวอรี่ แต่ก็เทียบไม่ได้กับรายได้ตามปกติ ซึ่งทำให้เห็นว่า การพึ่งพาลูกค้ากลุ่มเดียว หรือตลาดเดียว เป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่ง

สำหรับเรื่องนี้ผมมีตัวอย่างการปรับตัวอย่างน่าสนมาแชร์ครับ รายแรกเป็นผู้ประกอบการร้านอาหารบุฟเฟ่ต์ชาบู ที่ปรับกลยุทธ์ในภาวะที่โรคโควิด-19 ระบาดและไม่สามารถเปิดร้านได้ตามปกติ โดยผู้ประกอบการรายนี้หันมาขายแบบดีลิเวอรี่ รับออร์เดอร์ออนไลน์ พร้อมทั้งเสนอแพ็กเกจที่มีทั้งอาหารและหม้อชาบู ซึ่งนอกจากจะทำให้ลูกค้ารู้สึกเหมือนรับประทานในร้านแล้ว ยังทำให้ลูกค้าสะดวกที่จะสั่งซื้อในโอกาสต่อ ๆ ไปอีกด้วย

อีกรายหนึ่งเป็นโรงงานผลิตเครื่องใช้พลาสติกที่ทำมาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อคุณแม่ รุ่นลูกมาต่อยอดแตกไลน์ทำผลิตภัณฑ์จากพลาสติกรีไซเคิล ซึ่งถูกใจคนรุ่นใหม่ที่อยากช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ทำให้มีฐานลูกค้ากลุ่มใหม่เพิ่มขึ้น โดยรายนี้มีการปรับตัวมาตั้งแต่ก่อนเกิดสถานการณ์แล้ว

ที่ประเทศจีนก็มีตัวอย่างการปรับตัวในสถานการณ์โควิด-19 ที่น่าสนใจเช่นกัน ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวรายหนึ่งใช้ช่วงเวลาล็อกดาวน์จัดรายการออนไลน์ โดยให้ไกด์ของบริษัทนำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของสถานที่ท่องเที่ยว เพื่อหาลูกค้ากลุ่มใหม่ รวมทั้งนำสินค้าจากชุมชนในแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ มาขายผ่านตลาดอีคอมเมิร์ซ เพื่อสร้างแหล่งรายได้ใหม่และประชาสัมพันธ์ชุมชนไปในตัว

“ปรับตัวให้ไว”

การปรับตัวมี 2 ด้าน ด้านหนึ่งคือการลดต้นทุน หลังวิกฤตคนจะให้ความสำคัญกับการประหยัดมากขึ้นและใช้จ่ายอย่างระมัดระวังกว่าเดิม การลดต้นทุนเพื่อคุมราคาสินค้าให้แข่งขันได้จึงมีความสำคัญ อีกด้านหนึ่งคือการเพิ่มช่องทางการขาย ช่องทางออนไลน์จะตอบโจทย์วิถีใหม่ในการดำเนินชีวิต หรือ new normal ได้ดีที่สุด เนื่องจากผู้คนจะให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในชีวิตมากขึ้น การซื้อ-ขายผ่านช่องทางออนไลน์ที่นอกจากจะช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ ยังเป็นการรักษาระยะห่างทางสังคม หรือ social distancing อีกด้วย เรียกว่า win-win ทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ

“รักษาสภาพคล่อง”

ในภาวะวิกฤต ผู้ประกอบการจำเป็นต้องรู้ฐานะทางการเงินที่แท้จริงของกิจการ ทั้งกระแสเงินสดในมือ รายรับที่จะเข้ามาจากบัญชีลูกหนี้ ค่าใช้จ่ายประจำ และที่สำคัญคือต้องหาทางลดหรือตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นในขณะนี้ เพื่อให้มีกระแสเงินสดเพียงพอ

สำหรับการประคองให้ธุรกิจผ่านพ้นช่วงวิกฤตไปให้ได้ หลังจากผ่านช่วงวิกฤตไปแล้ว ผู้ประกอบการต้องมีการวางแผนทางการเงินที่ดี หลักการง่าย ๆ คือ พยายามเรียกเก็บเงินลูกค้าให้ได้ตามกำหนดเวลา บริหารสินค้าคงคลังอย่างมีประสิทธิภาพ ดูแลการสั่งซื้อหรือผลิตสินค้าให้สมดุลกับฝั่งขาย ซึ่งจะช่วยให้ท่านสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายและรักษาสมดุลระหว่างรายรับกับรายจ่ายให้เหมาะสม

นอกจากนี้ ท่านควรพยายามหลีกเลี่ยงการลงทุนในอาคาร เครื่องจักร สินค้าคงคลัง และอื่น ๆ ที่จะทำให้ทุนจม ซึ่งถ้าทำได้ ท่านจะมีกระแสเงินสดที่ดีขึ้น

“มีแผนฟื้นฟูหลังวิกฤต”

โลกจะเข้าสู่ new normal หลังวิกฤตพฤติกรรมของผู้บริโภคจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตจะมีบทบาทสำคัญมากขึ้น ผู้คนจะดำเนินชีวิตด้วยความระมัดระวัง ทั้งด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจและความปลอดภัยในชีวิต จะมีการใช้จ่ายอย่างประหยัดและออมเงินมากขึ้น ใส่ใจการรักษาสุขภาพมากขึ้น และบางส่วนจะใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านมากขึ้น รวมถึงการทำงานที่บ้าน นอกจากนี้ การรักษาระยะห่างทางสังคมยังเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับรูปแบบธุรกิจให้สอดคล้อง เช่น บริษัททัวร์อาจจะต้องหันมาจัดทัวร์เป็นกลุ่มที่เล็กลง หรือร้านค้าต้องมีช่องทางการขายทั้งออฟไลน์และออนไลน์ และพร้อมรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ทุกรูปแบบ ทั้งออนไลน์และแบบไร้การสัมผัส หรือ contactless payment เป็นต้น

ผมขอเป็นกำลังใจให้ท่านผู้ประกอบการก้าวข้ามวิกฤตในครั้งนี้ไปได้ และหวังว่าเมื่อผมมาพบกับทุกท่านในครั้งหน้าสถานการณ์จะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ขอให้ทุกท่านมองวิกฤตการณ์ในครั้งนี้แล้ว ไม่เพียงเห็นแต่อุปสรรค หากยังเห็นโอกาสที่จะปรับตัวเพื่อการเติบโตต่อไปอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนด้วยครับ