รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายงบลงทุนทะลุ 1.04 แสนล้าน

นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า สคร. ได้ติดตามการเบิกจ่ายงบลงทุนในปี 2563 ของรัฐวิสาหกิจ 44 แห่ง ที่ สคร. กำกับดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งในภาพรวมรัฐวิสาหกิจยังสามารถเบิกจ่ายงบลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดย ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2563 มีผลการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมจำนวน 104,214 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 101 ของแผนการเบิกจ่ายสะสม รวมทั้งสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปี 2562

โดยรัฐวิสาหกิจที่มีงบลงทุนขนาดใหญ่และสามารถเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมายที่กำหนด ได้แก่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ผลการเบิกจ่ายสะสมของรัฐวิสาหกิจ ปี 2563 ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2563

แผนเบิกจ่ายสะสมปีงบประมาณ (ต.ค. 62 – ก.ย. 63) รัฐวิสาหกิจ จำนวน 34 แห่ง เบิกจ่ายจริงสะสม 61,140 ล้านบาท คิดเป็นแผนเบิกจ่ายสะสมแล้ว 94% ส่วนปีปฏิทิน (ม.ค. 63 – ธ.ค. 63)
รัฐวิสาหกิจ จำนวน 10 แห่ง เบิกจ่ายจริงสะสม 43,073 ล้านบาท คิดเป็นแผนเบิกจ่ายสะสม 114% รวม 44 แห่ง เบิกจ่ายจริงสะสม 104,214 ล้านลาท คิดเป็นแผนเบิกจ่ายสะสม 101%

นางสาวปิยวรรณ ล่ามกิจจา รองผู้อำนวยการ สคร. รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมของรัฐวิสาหกิจ 44 แห่ง แบ่งเป็นการเบิกจ่ายของรัฐวิสาหกิจปีงบประมาณ 34 แห่ง จำนวน 61,140 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 94 ของแผนการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม 8 เดือน (ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 – พฤษภาคม 2563) และการเบิกจ่ายของรัฐวิสาหกิจปีปฏิทิน 10 แห่ง จำนวน 43,073 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 114 ของแผนการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม 5 เดือน
(ตั้งแต่เดือนมกราคม – พฤษภาคม 2563)

โดยมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่สามารถเบิกจ่ายได้เกินกว่าเป้าหมาย เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม – มีนบุรี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต ของ รฟม. โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าภาคตะวันตกและภาคใต้ เพื่อสร้างความมั่นคงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และงานก่อสร้างปรับปรุงขยายระบบท่อส่งน้ำของการประปาส่วนภูมิภาค

สำหรับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่เบิกจ่ายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย เช่น โครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ช่วงบางซื่อ – รังสิต (รถไฟชานเมืองสายสีแดง) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ปีงบประมาณ 2554 – 2560) ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกตะวันตกของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นโครงการเดิมที่ดำเนินการล่าช้าต่อเนื่องมา

นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการ สคร. กล่าวสรุปว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID – 19 ได้ส่งผลกระทบต่อโครงการลงทุนบางโครงการที่ต้องใช้บุคลากรและการนำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศ รวมทั้งผู้รับเหมาไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องปรับปรุงแผนการลงทุนให้สอดคล้องกับความเหมาะสมในการลงทุนและผลการดำเนินงานจริง อย่างไรก็ตาม การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2563 รัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่ยังคงสามารถเบิกจ่ายงบลงทุนได้ตามเป้าหมาย ซึ่งเป็นผลมาจากการนำงานที่สามารถเบิกจ่ายได้มาทดแทนผลกระทบเหล่านี้ เช่น เงินเบิกจ่ายล่วงหน้าให้กับผู้รับจ้างหรือค่าทดแทนเพื่อชดเชยให้กับประชาชน ซึ่งจะเป็นการช่วยผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบและช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID – 19