Risk-Reward ในหุ้นที่ไม่สอดคล้องพื้นฐานและแนวโน้มต่อไป (1)

ภาพประกอบข่าว ตลาดหุ้นสหรัฐ
FILE PHOTO: Workers celebrate the during closing bell, as they prepare for the return to trading, on the floor at the New York Stock Exchange (NYSE) in New York, U.S., May 22, 2020. REUTERS/Brendan McDermid/File Photo
คอลัมน์ ลงทุนทั่วโลก
โดย สุรศักดิ์ ธรรมโม บลจ.วรรณ

นับจากระดับต่ำสุดของตลาดหุ้นปีนี้เดือน มี.ค.จนถึงสัปดาห์ที่ 3 ของ มิ.ย. 63 ดัชนีหุ้นโลกเพิ่มกว่า 30% ดัชนีหุ้น S&P สหรัฐเพิ่มประมาณ 40% ขณะที่ดัชนีแนสแดคเพิ่มมากกว่านั้น หลายบริษัทจำนวนมากไม่นานมานี้ทำสถิติราคาหุ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ การทะยานของดัชนีหุ้นทั่วโลกโดยเฉพาะสหรัฐทำให้เกิดความกังวลและถกกันในเรื่อง risk-reward ในหุ้นนั้นอยู่ในสถานะที่ฟองสบู่มากเมื่อเทียบกับปัจจัยพื้นฐานหุ้น ได้แก่ ศักยภาพการทำกำไร ความสามารถสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน สถานะหนี้สินในงบดุลของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) เป็นต้น ซึ่งปัจจัยพื้นฐานเหล่านี้ได้รับผลกระทบมากจากการระบาดของโควิด-19 และมาตรการ lockdown ทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา

ในเชิงพื้นฐานด้านเศรษฐกิจล่าสุด IMF คาดเศรษฐกิจโลกปีนี้หดตัว -4.9% และใช้เวลามากกว่า 2 ปีที่กิจกรรมเศรษฐกิจจะกลับสู่ปกติ ในเชิงปัจจัยพื้นฐานรายบริษัทนั้น หลังประกาศผลประกอบการไตรมาสแรกปีนี้ ฝ่ายบริหารของ บจ.ทั่วโลกส่วนใหญ่ได้เตือนถึงแนวโน้มกำไรและผลดำเนินงานที่จะไม่ดีเมื่อเทียบอดีตและมีความไม่แน่นอนมากในอนาคต แต่การเพิ่มขึ้นของราคาหุ้นอย่างมากในช่วงเกือบ 3 เดือนเสมือนว่าเศรษฐกิจโลกและผลประกอบการบริษัทจะฟื้นเป็นรูปตัว V และผลประกอบการ บจ.จะขยายตัวอย่างมาก (เสมือนว่ากำไรขยายตัว 2 หลักขึ้นไปต่อเนื่องหลายปี) ซึ่งนี่ไม่น่าจะใช่ภาพปัจจัยพื้นฐานที่ถูกต้อง นักลงทุนระดับโลกหลายท่านกังวลประเด็น risk-reward ในหุ้น คนที่แสดงความวิตกอย่างชัดเจน คือ Stanley Druckenmiller กล่าวในการประชุมของ Economic Club New York เมื่อ 13 พ.ค.ที่ผ่านมาถึง risk-reward ในหุ้นที่อันตรายมากที่สุดเท่าที่เขาเห็นในประสบการณ์ลงทุนของเขา กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ มองไปข้างหน้าผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นต่ำมากเมื่อเทียบกับความเสี่ยงในอนาคตของตัวบริษัทเอง

ในความเป็นจริงบทวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ชั้นนำจำนวนมาก แนะนำนักลงทุนให้เข้าไปลงทุนในหุ้นและมองแนวโน้มดัชนีตลาดหุ้นจะขยายตัวต่อเนื่องได้อีกหลายปี จากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายทั่วโลกและนโยบายการคลังที่กระตุ้นเศรษฐกิจ เช่นเดียวกันบทวิเคราะห์และเอกสารมุมมองแนวโน้มการลงทุนของบริษัทจัดการลงทุนทั่วโลกขนาดใหญ่ล้วนแต่ระบุถึงจุดยืนกลยุทธ์การลงทุนของบริษัทจัดการลงทุนที่เน้นเพิ่มน้ำหนักลงทุนในหุ้น ผลสำรวจของนักลงทุนสถาบันทั่วโลกในเดือน มิ.ย. (รวบรวมโดย BofA Merrill) ให้ภาพไม่ต่างกัน คือเร่งลงทุนในหุ้น ที่น่าแปลกคือในผลสำรวจมีการนำมุมมองของนักลงทุนรายย่อยเข้ามาด้วยที่สะท้อนมุมมองเชิงบวกและการเร่งนำเงินสดในมือเข้าลงทุนในหุ้นให้เร็วที่สุด รายงานของ Goldman Sachs ไม่นานมานี้ระบุถึงการเข้ามาของรายย่อยและสถานะความร้อนแรงของการเปิดบัญชีหุ้นของบริษัทนายหน้าหลักทรัพย์ออนไลน์ที่จับลูกค้ารายย่อยด้วยค่าธรรมเนียมต่ำ เช่น TD Ameritrade และ Robin hood ให้ภาพเดียวกันคือ ภาวะกระทิง (bullish) ในตลาดหุ้นสหรัฐที่บังเกิดขึ้นแล้ว เพราะนักลงทุนสถาบันและรายย่อยตบเท้าเข้าสู่ตลาดหุ้นอย่างพร้อมเพรียงกัน

ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะเช่นนี้มาจาก 1) นโยบายการเงินของ Fed และธนาคารกลางใหญ่ของโลกที่เป็นไปในทางเดียวกันคือ พิมพ์เงินจำนวนมหาศาลเข้าสู่ระบบเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจที่ได้รับผลลบอย่างมากจากโควิด-19 2) ประสบการณ์จากปี 2551 ถึงปัจจุบัน พบว่าเมื่อธนาคารกลางลงมือด้วยนโยบายการเงินผ่อนคลายสุดขั้วเช่นนี้ ราคาสินทรัพย์ทางการเงินโดยเฉพาะหุ้นจะให้ผลตอบแทนที่ดีมาก ในกรณีตลาดหุ้นสหรัฐ 10 ปีที่ผ่านมาให้ผลตอบแทนปีละ 13% ดีที่สุดในโลก ขณะที่ในด้านความผันผวนของหุ้นสหรัฐ 10 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ราวปีละ 13% ต่ำที่สุดในโลก เมื่อตลาดหุ้นสหรัฐในอดีตอันใกล้ให้ผลตอบแทนสูงที่สุดในโลก และความผันผวนต่ำที่สุดในโลกเป็นเช่นนี้จากมาตรการผ่อนคลายสุดขั้วของ Fed และธนาคารกลางใหญ่ของโลก ทางเลือกการเข้าลงทุนในหุ้นจึงเป็นทางเลือกหลักในปัจจุบันของนักลงทุนสถาบันและรายย่อย คำถามคือภาวะเช่นนี้จะดำเนินต่อไปได้นานเพียงใด และภาพกระทิงตลาดหุ้นในปัจจุบันและ 3 ปีจากนี้ไปจะเป็นภาพเดียวกับเมื่อหลังวิกฤตการเงินโลกในปี 2551 จนถึงปัจจุบันหรือไม่ที่หุ้นเป็นสินทรัพย์ให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุด ?


ความเห็นของผมคือ เราควรไล่พิจารณาทีละองค์ประกอบทั้งด้านนโยบายการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรกลับไปอ่านประวัติศาสตร์ 300 ปีก่อนของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของจอห์น ลอว์ ที่สร้างฟองสบู่ในตลาดหุ้นลูกใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ (วิธีการของลอว์มีส่วนคล้ายกับที่ Fed ทำปัจจุบัน) ความร้อนแรงระยะสั้นจนทำให้ภาพการเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์ทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นหุ้นและตราสารหนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน (correlation) ในระดับที่สูงมากที่สุดในรอบ 20 ปี ซึ่ง correlation ควรจะแตกต่างกันเพื่อทำให้การกระจายสินทรัพย์การลงทุนและการบริหารความเสี่ยงเป็นไปได้อย่างดี และการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของสังคมเศรษฐกิจโลกมีส่วนให้บริษัทบางบริษัท (โดยมากเป็นบริษัทเทคโนโลยี) อย่างน้อยใน 5 ปีนี้จะเป็นผู้ชนะ