สร้างความมั่งคั่งด้วยสินทรัพย์คุณภาพ และความผันผวนที่เหมาะสมกับระยะเวลาลงทุน

ลงทุน เงิน
คอลัมน์ ลงทุนทั่วโลก
คณาวุฒิ ทรงวัฒนา
บล.ไพน์ เวลท์ โซลูชั่น

โลกลงทุนปัจจุบันพัฒนาอย่างรวดเร็ว มีสินทรัพย์ทางการเงินหลากหลายให้นักลงทุนเลือกลงทุน ไม่ว่าจะเป็นหุ้นตราสารหนี้ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวม หรือสินทรัพย์ทางการเงินอื่น ๆ มากมายที่ช่วยตอบโจทย์การลงทุน

เพื่อให้นักลงทุนสามารถเดินทางสู่เป้าหมายทางการเงินของตนตามต้องการ การพิจารณาเลือกสินทรัพย์เข้าพอร์ตการลงทุน จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างพอร์ตการลงทุนที่จะนำนักลงทุนไปสู่จุดหมายทางการเงิน

ปัจจุบันการพิจารณาเลือกสินทรัพย์การลงทุนเข้าสู่พอร์ตการลงทุนมักใช้ “ผลตอบแทนคาดหวังในอนาคต (expected return)” เป็นตัวแทนของผลตอบแทนของสินทรัพย์มักมีพื้นฐานจากผลการดำเนินงานในอดีต

ประกอบกับการใช้ “ความผันผวนของราคาสินทรัพย์ (volatility)” เป็นตัวแทนของความเสี่ยงจากการลงทุน โดยอิงจากทฤษฎีการจัดพอร์ตการลงทุนสมัยใหม่ (modern portfolio theory หรือ MPT) เพื่อหาสินทรัพย์การลงทุนที่มีผลตอบแทนปรับด้วยความเสี่ยง (risk adjusted return) เหมาะสมพิจารณาร่วมกับค่าสหสัมพันธ์ระหว่างสินทรัพย์ เพื่อสร้างพอร์ตการลงทุนที่ช่วยกระจายความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างพอร์ตการลงทุนที่มีผลตอบแทนปรับด้วยความเสี่ยงดีที่สุด (optimum portfolio)

อย่างไรก็ตาม ปัญหาคือ MPT เน้นการใช้ข้อมูลในอดีตเป็นพื้นฐาน ซึ่งอาจไม่สามารถสะท้อนถึงอนาคตได้ทั้งหมด โดยเฉพาะในมุมมองอัตราผลตอบแทนที่คาดหวัง ซึ่งแตกต่างไปตามมุมมองของนักวิเคราะห์แต่ละสำนัก โดยมีความแม่นยำที่ไม่สูงมาก เนื่องจากผลตอบแทนในแต่ละปีเปลี่ยนแปลงได้มาก ยากแก่การคาดการณ์ ในขณะที่ความผันผวนของราคามีการเปลี่ยนแปลงในแต่ละปีค่อนข้างน้อยกว่า

ความผันผวนจึงเป็นค่าที่นิยมใช้ประกอบการเลือกสินทรัพย์ที่มีผลตอบแทนใกล้เคียงกัน หรือสินทรัพย์ที่มีกลยุทธ์ใกล้เคียงกับสิ่งที่นักลงทุนต้องการ อย่างไรก็ตาม “การใช้ค่าความผันผวนของราคาสินทรัพย์แทนความเสี่ยงของสินทรัพย์ทั้งหมด อาจมีความเหมาะสมสำหรับการลงทุนในระยะสั้นมากกว่าการลงทุนในระยะยาว”

สาเหตุที่ความผันผวนของราคาสินทรัพย์มีความสำคัญต่อนักลงทุนระยะสั้นมากกว่า เนื่องจาก “นักลงทุนระยะสั้น อาจมีข้อจำกัดด้านสภาพคล่อง โดยอาจจำเป็นที่ต้องเปลี่ยนสินทรัพย์เป็นเงินสดภายในเวลาที่กำหนด

ส่งผลให้นักลงทุนอาจจำเป็นต้องขายสินทรัพย์ในราคาที่แย่ที่สุด” เป็นสาเหตุให้นักลงทุนในระยะสั้นควรมีสัดส่วนของสินทรัพย์ที่มีความผันผวนต่ำไว้ในพอร์ต เช่น ตราสารหนี้ ตราสารเงิน ในสัดส่วนที่เพียงพอต่อความจำเป็นที่ต้องใช้ในเวลาอันสั้น

ในขณะที่นักลงทุนระยะยาวสามารถเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความผันผวนของราคาสูง มากกว่านักลงทุนระยะสั้นได้ เนื่องจาก “ความผันผวนของราคาเป็นได้ทั้งด้านบวกและด้านลบ (upside risk/downside risk) ด้วยระยะเวลาการลงทุน (investment horizon) ที่ยาวกว่า ทำให้นักลงทุนสามารถเลือกขายทำกำไรในเวลาที่ราคาสินทรัพย์สูงเกินไป และเข้าลงทุนสินทรัพย์ในเวลาที่ราคาถูกเกินไป” หรือแม้กระทั่งใช้กลยุทธ์ dollar cost average (DCA)

เพื่อกระจายต้นทุน ประกอบกับการปรับสมดุลพอร์ตการลงทุน (rebalanceportfolio) เพื่อปรับสัดส่วนการลงทุนเมื่อราคาสินทรัพย์เปลี่ยนแปลงไปโดยเปรียบเทียบกับสินทรัพย์อื่นในพอร์ตการลงทุนให้กลับมาอยู่ในสัดส่วนที่กำหนดไว้ ส่งผลให้ความผันผวนของราคามีโอกาสที่จะช่วยเพิ่มผลตอบแทนให้กับนักลงทุนระยะยาว

ทั้งนี้ ความเสี่ยงสำคัญของนักลงทุนระยะยาวที่ต้องพิจารณามากกว่านักลงทุนระยะสั้นคือ ความเสี่ยงจากการขาดทุนถาวร (risk of permanent loss) หมายถึง ความเสี่ยงที่ราคาและผลตอบแทนของสินทรัพย์จะปรับตัวลดลงและไม่กลับมา ณ จุดราคาที่ลงทุนอีกเลยตลอดระยะเวลาการลงทุน ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้หลายกรณี เช่น การลงทุนในบริษัทสูญเสียความสามารถในการแข่งขันถาวร การลงทุนในบริษัทที่ล้มละลาย เป็นต้น มีแนวโน้มส่งผลให้นักลงทุนเสียทั้งเวลา และเงินต้นจำนวนมาก

ในการลดความเสี่ยงจากการขาดทุนถาวรสามารถทำได้หลายวิธี โดยวิธีที่ง่ายที่สุดคือ การกระจายการลงทุนในหลายสินทรัพย์ (diversify portfolio) แต่วิธีที่ดีที่สุดคือการคัดเลือกสินทรัพย์ที่มีคุณภาพโดยใช้ข้อมูลเชิงลึก เช่น ความสามารถในเติบโตของบริษัท ความสามารถในการแข่งขันระยะยาว รวมถึงการเข้าซื้อในราคาที่สมเหตุสมผล

ซึ่งหากเป็นนักลงทุนโดยทั่วไปอาจทำได้ยากจากข้อจำกัดต่าง ๆ เช่น ข้อมูล ประสบการณ์ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบริษัท การลงทุนผ่านกองทุนรวมที่มีผู้จัดการกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญ โดยมีผู้แนะนำการลงทุนที่มีความสามารถคอยให้คำแนะนำ จึงเป็นทางเลือกในการเข้าลงทุนในสินทรัพย์ที่ดีมีคุณภาพ

โดยสรุปแล้ว การเลือกสินทรัพย์การลงทุนที่มีคุณภาพ มีความผันผวนเหมาะสมกับระยะเวลาการลงทุน เป็นหนึ่งในวิธีช่วยให้นักลงทุนประสบความสำเร็จด้านการลงทุนได้

หากนักลงทุนระยะยาวเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงด้านการขาดทุนถาวรที่ต่ำ แต่มีความผันผวนของราคาที่สูง จะสามารถสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มจากการลงทุนได้ด้วยกลยุทธ์ต่าง ๆ เช่น การใช้กลยุทธ์ DCA การ rebalance portfolio และแบ่งสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสม โดยต้องพิจารณาถึงระดับเสี่ยงที่ตนเองสามารถรับได้ด้วย

เนื่องจากแม้มีสภาพคล่องเพียงพอ แต่พอร์ตการลงทุนที่มีความผันผวนมากจนเกินไป จะส่งผลเสียต่อสภาพจิตใจ อาจเป็นอุปสรรคให้นักลงทุนไม่สามารถอดทนถือพอร์ตการลงทุนได้ดังที่วางแผนไว้ และส่งผลเสียต่อพอร์ตการลงทุนในระยะยาวได้ในที่สุด