CPTPP กับเรื่องที่ SMEs ต้องรู้

คอลัมน์ Smart SMEs
วีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร ธนาคารกสิกรไทย

ช่วงนี้นอกจากเรื่องโควิด-19 แล้ว เห็นจะมีอีกหนึ่งประเด็นที่ร้อนแรงของไทยนั่นคือ การพิจารณาเข้าร่วมเจรจาการค้ากับกลุ่ม CPTPP หรือความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership) ซึ่งเป็นความตกลงที่ปรับมาจากความตกลง TPP ที่ก่อนหน้านี้สหรัฐอเมริกาได้เป็นผู้ผลักดันหลัก แต่ปัจจุบันไม่มีสหรัฐแล้วจึงได้เปลี่ยนชื่อไป จากนั้นการเจรจาก็บรรลุผลจนสามารถบังคับใช้ไปตั้งแต่ 30 ธันวาคม 2561 และเริ่มมีผลผูกพันลดภาษีทันทีในวันที่ 1 มกราคม 2562 โดยเริ่มมีผลบังคับกับประเทศที่ให้สัตยาบันแล้ว 7 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น เม็กซิโก นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ และเวียดนาม ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างรอความพร้อมอีก 4 ประเทศ ได้แก่ บรูไน มาเลเซีย ชิลี และเปรู

ผมคิดว่าหลายคนคงสงสัยว่าทำไม CPTPP ถึงมีข้อกังขามากมาย นั่นเพราะเป็นความตกลงที่มีการเจรจามากกว่าการค้าเสรี มีมาตรฐานการเจรจาสูงกว่ากรอบการค้าเสรีใด ๆ ที่ไทยเคยทำมา ไม่ว่าจะเป็น RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) หรือความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคที่เป็นกรอบการค้าขนาดใหญ่ใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ แม้ว่า CPTPP จะมีข้อกำหนดอิงกับหลักปฏิบัติสากล แต่สิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นมาตรฐานสำหรับการเจรจาการค้าเสรีระหว่างไทยกับประเทศพัฒนาแล้วขนาดใหญ่อย่างสหภาพยุโรป (EU) สหรัฐ และสหราชอาณาจักร ซึ่งถือเป็นตลาดส่งออกที่มีความสำคัญมาก

เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ธุรกิจไทยไม่ควรมองข้าม และที่สำคัญควรทำความเข้าใจและเตรียมความพร้อมในทุกกรณีไม่ว่าไทยจะตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP หรือไม่ เพราะเชื่อว่าในอนาคตไทยก็คงไม่สามารถเลี่ยงการปรับตัวเพื่อให้เข้ากับมาตรฐานเหล่านี้ได้ วันนี้ผมขอนำข้อดีของการเป็นสมาชิก CPTPP มาให้ทราบ ดังนี้ครับ

– เพิ่มโอกาสทางการส่งออกให้แก่ธุรกิจ SMEs โดยเฉพาะการเข้าถึงตลาดแคนาดาและเม็กซิโก ซึ่งมีสัดส่วนตลาดส่งออกของไทยร้อยละ 1.8 ในกลุ่มสินค้ายานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยาง ผลไม้ และอาหารทะเล รวมทั้งการขยายตลาดในบางสินค้าไปยังประเทศที่เหลือที่จะมีการลดภาษีมากขึ้นจากกรอบการค้าเสรีเดิมที่ไทยเคยมี เช่น ญี่ปุ่น เปรู เวียดนาม และมาเลเซีย

– ช่วยยกระดับความสามารถในด้านการแข่งขันของไทยให้เร็วขึ้น ผ่านการปรับกระบวนการทางกฎหมายและธุรกิจให้สอดคล้องกับแนวทางของ CPTPP ที่อิงกับเกณฑ์สากลเป็นหลัก และไทยก็ถือได้ว่าสามารถยืนอยู่ในเวทีการแข่งขันเดียวกับประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม และมาเลเซียที่เป็นสมาชิก CPTPP อยู่แล้ว นอกจากนี้ การที่ไทยยังคงเป็นส่วนหนึ่งของตลาดการค้าและการลงทุนขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของโลก ยิ่งทำให้ไทยยังอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของนักลงทุนต่างชาติได้ในระยะยาว

โดยล่าสุดคณะกรรมาธิการวิสามัญ กำลังพิจารณาเดินหน้าหารือเรื่อง CPTPP เพื่อให้คณะรัฐมนตรีลงมติเข้าร่วมเจรจาเป็นสมาชิก CPTPP ในเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งกระบวนการหลังจากนี้คงต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 3-4 ปี โดยต้องผ่านทั้งกฎหมายไทยและการเจรจากับประเทศสมาชิก CPTPP อีกทั้งถ้าหากถึงเวลาที่ต้องเข้าร่วมเป็นสมาชิกก็ยังมีเวลาให้ทยอยปรับกฎระเบียบด้านต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับข้อกำหนด โดยมีหลายประเด็นที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ SMEs ที่ผู้ประกอบการต้องเตรียมรับมือ ได้แก่

1) การบังคับใช้มาตรการทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเคร่งครัด เป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจต้องตระหนักโดยดำเนินการทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมาย

2) ประเด็นเรื่องยาที่มีผลต่อต้นทุนด้านสุขภาพของแรงงานในธุรกิจ SMEs

3) SMEs ในธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับสินค้าเกษตร ต้องทำความเข้าใจกับแนวทาง CPTPP ที่เกี่ยวข้องกับหลายส่วน

4) SMEs ไทยต้องเตรียมแข่งขันกับต่างชาติในการประมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยความตกลง CPTPP กำหนดให้ภาครัฐต้องอนุญาตให้บริษัทต่างชาติเข้าร่วมประมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างได้ตั้งแต่โครงการขนาดใหญ่ไปจนถึงขนาดเล็กในท้องถิ่น

5) การปรับมาตรฐานในประเทศให้เข้ากับเกณฑ์สากล อาทิ มาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่ครอบคลุมทั้งการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมบนบก ทางน้ำ ทางอากาศ เป็นต้น

ผมมองว่าในอนาคตไม่ว่าไทยจะเข้าร่วมสมาชิก CPTPP หรือไม่ ถือเป็นโอกาสสำคัญของธุรกิจ SMEs ที่จะต้องยกระดับการทำธุรกิจให้อิงกับกฎระเบียบสากลทั้งการให้ความสำคัญกับสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน มาตรฐานสิ่งแวดล้อม เพราะจะเป็นเรื่องสำคัญที่เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจของไทยในระยะยาว ทั้งยังช่วยลดประเด็นปัญหาการกีดกันทางการค้าที่ประเทศพัฒนาแล้วมักหยิบยกขึ้นมาใช้อยู่บ่อยครั้งได้ครับ