โชว์ 15 ผลงานกระทรวงคลัง ยุค “อุตตม” เดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังจบโควิด

วันที่ 9 กรกฎาคม 2563 นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นับตั้งแต่นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้ารับตำแหน่งจนถึงปัจจุบัน ได้จัดทำนโยบายต่างๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนมาแล้วอย่างน้อย 15 โครงการ ประกอบด้วย

1.โครงการเราไม่ทิ้งกัน เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบา ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงการคลัง (มาตรการเยียวยา 5,000 บาท)

2. โครงการบ้านดีมีดาวน์ เพื่อลดภาระให้แก่ประชาชนเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย และเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนมีบ้านเป็นของตนเอง และเป็นการช่วยกระตุ้นการลงทุนใหม่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อเนื่องไป ยังห่วงโซ่อุปทานของภาคอสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจไทยในภาพรวม ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19

3.โครงการชิมช้อปใช้ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศและการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศให้กับประชาชน โดยการใช้จ่ายผ่านระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐ (g-Wallet)

4.มาตรการต่อเติม เสริมทุน SMEs สร้างไทย เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถแข่งขันและอยู่รอดได้ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอน

5.โครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทยของ ธ.ก.ส. เพื่อเป็นค่าลงทุนในการดำเนินกิจการและเป็นค่าใช้จ่าย หมุนเวียนในการดำเนินกิจการให้กับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง สถาบันการเงินประชาชน สถาบันการเงินชุมชน สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม

6. พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับ ผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563

7.มาตรการ Soft Loan ธนาคารออมสิน เพื่อเป็นเงินทุนสำหรับเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้เข้าถึงสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำ

8. โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 8 ของ บสย. เพื่อช่วยเหลือ SMEs ที่ต้องการสินเชื่อจากสถาบันการเงิน แต่มีหลักประกันไม่เพียงพอให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้

9.พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติด เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 หรือ พ.ร.ก. Soft Loan ของ ธปท. เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่มีสินเชื่อคงค้างกับสถาบันการเงิน ให้มีสภาพคล่องเพียงพอในการประคับประคองธุรกิจ และรักษาการจ้างงานต่อไปได้ในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19

10.พ.ร.ก. การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 หรือ พ.ร.ก. BSF ของ ธปท. เพื่อสนับสนุนให้การระดมทุนโดยการออกตราสารหนี้ ในตลาดแรกให้ทำงาน ได้เป็นปกติ โดยกองทุนจะเข้าไปซื้อตราสารหนี้ เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องแก่บริษัทผู้ออกหุ้นกู้ที่ได้รับผลกระทบ จากการระบาดของ COVID-19 ให้สามารถ rollover หุ้นกู้ต่อไปได้

11.พระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท พ.ศ. 2563 (มติ ครม. เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563)

12.มาตรการการเงินการคลังเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ปี 2563 (มติ ครม. เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563)

13.มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ระยะที่ 1 (มติ ครม. เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563)

14.มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ระยะที่ 2 (มติ ครม. 24 มีนาคม 2563)

และ15.มาตรการอื่นๆ อาทิ 1. การยกเว้นอากรขาเข้ายาในกลุ่มยากำพร้า และ 2.การยกเว้นอากรขาเข้ายาสูตรผสมที่ใช้ผลิตยาต้านไวรัสเอดส์


อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังจะเดินหน้าออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ด้วย ซึ่งขณะนี้นายอุตตมได้สั่งการไปแล้ว และจะติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป