กรุงศรีฯ เผยช่วยลูกค้าพักหนี้กว่า 2 แสนล้าน

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เผยเร่งพักชำระหนี้ให้ลูกค้ากว่า 8.8 พันราย ยอดสินเชื่อคงค้าง 2 แสนล้านบาท หนุนสินเชื่อซอฟต์โลนกว่า 6.3 พันราย วงเงิน 1.9 หมื่นล้านบาท ชี้จัดลูกค้า 3 กลุ่มเสริฟ์ความช่วยเหลือตรงจุด

นายพรสนอง ตู้จินดา ประธานกลุ่มธุรกิจลูกค้าธุรกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 กรุงศรีได้ติดต่อและดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิดทั้งในส่วนลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เพื่อรับรู้ถึงผลกระทบที่แท้จริงของลูกค้าและสามารถให้ความช่วยเหลือลูกค้าได้อย่างตรงจุด โดยมีทั้งมาตรการช่วยเหลือของธนาคารเองและมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ธนาคารได้กระจายความช่วยเหลือแก่ลูกค้าหลายกลุ่มในหลากหลายรูปแบบ เช่น การปรับโครงสร้างหนี้เพื่อยืดระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ การพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย หรือการปรับลดดอกเบี้ย รวมทั้งการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการ SME ภายใต้โครงการซอฟต์โลนตามมาตรการช่วยเหลือของธนาคารแห่งประเทศไทยและโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของธนาคารออมสิน 


โดยล่าสุด ธนาคารได้พักชำระหนี้ให้กับลูกค้า กว่า 8,800 ราย ยอดสินเชื่อคงค้าง 200,000 ล้านบาท และให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเสริมสภาพคล่องสำหรับลูกค้า กว่า 6,300 ราย จำนวน 19,000 ล้านบาท

สำหรับแนวโน้มในภาพรวม ลูกค้ากลุ่ม Healthcare จะมีโอกาสฟื้นตัวได้เร็วกว่ากลุ่มอื่นจากกระแสการตื่นตัวด้านสุขภาพ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์เพื่อความสะอาดและป้องกันเชื้อโรค ขณะที่ลูกค้าในกลุ่มธุรกิจอาหารเริ่มปรับตัวดีขึ้นหลังการปรับช่องทางการจัดจำหน่ายในการจัดส่งอาหารให้ลูกค้า ขณะที่ธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้องเช่น สายการบินและโรงแรม จะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากมาตรการล็อคดาวน์และจะต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว ซึ่งธนาคารจะติดตามและดูแลให้การสนับสนุนที่เหมาะสมต่อไป

ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจลูกค้าธุรกิจได้จัดกลุ่มลูกค้าออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) ลูกค้าที่ไม่ได้รับผลกระทบ ซึ่งธนาคารพร้อมให้สินเชื่อเพิ่มเติม 2) กลุ่มที่ได้รับผลกระทบน้อยถึงปานกลาง โดยธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือด้วยการผ่อนผันระยะเวลาชำระหนี้ การลดภาระดอกเบี้ย และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และ 3) กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมาก ซึ่งธนาคารได้เข้าไปช่วยเหลือด้วยการปรับโครงสร้างหนี้และการจัดหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปและผ่านพ้นช่วงเวลายากลำบากไปได้

สำหรับกลยุทธ์ของกลุ่มธุรกิจลูกค้าธุรกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 นอกจากการให้ความช่วยเหลือลูกค้าแล้ว ธนาคารยังมุ่งเน้นการนำเสนอโซลูชั่นทางการเงินแบบครบวงจรเพื่อช่วยในการบริหารสภาพคล่องและลดความเสี่ยงให้กับลูกค้า แม้ปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น กรุงศรีมีเป้าหมายสนับสนุนลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจ เช่น อาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจบริการสุขภาพ (Healthcare) และธุรกิจเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและบริการ (Hospitality) รวมทั้งอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC

“กรุงศรีในฐานะหนึ่งในสถาบันทางการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบ เล็งเห็นถึงความสำคัญในการร่วมพัฒนาระบบเศรษฐกิจให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการนำดิจิทัลแพลตฟอร์มมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทางการเงิน และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าธุรกิจในวิถีชีวิตปกติรูปแบบใหม่ หรือ New Normal นอกจากนี้แม้ในสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ที่ข้อมูลทางเศรษฐกิจและธุรกิจยิ่งเป็นสิ่งที่ลูกค้าธุรกิจมีความต้องการ กรุงศรีเข้าใจความต้องการนี้ของลูกค้าธุรกิจเป็นอย่างดี และสนับสนุนลูกค้าอย่างต่อเนื่องด้วยการให้บริการ Krungsri Business Empowerment ซึ่งเป็นกิจกรรมให้ความรู้ และกิจกรรมเครือข่ายธุรกิจมาเป็นรูปแบบออนไลน์ซึ่งลูกค้าสามารถเข้าร่วมได้จากทุกที่” นายพรสนองกล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ธนาคารประสบความสำเร็จในการจัดซีรีส์สัมมนาออนไลน์แบบ Exclusive สำหรับลูกค้าธุรกิจทุกกลุ่มในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมาและได้จัดกิจกรรม Krungsri Virtual Business Matching งานเจรจาจับคู่ธุรกิจแบบออนไลน์ เพื่อเป็นสื่อกลางเชื่อมโยงลูกค้า SME และลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ในการสร้างโอกาสทางธุรกิจและสนับสนุนให้มีการเติบโตของกลุ่มลูกค้าทั้งสองกลุ่ม ระหว่างวันที่ 8 – 22 กรกฎาคม รวมทั้งยังมีแผนที่จะจัดงาน Krungsri-MUFG Virtual Business Matching ในช่วงปลายปี 2563 เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตให้ลูกค้าธุรกิจของกรุงศรี ภายใต้พันธกิจเชื่อมโยงนักธุรกิจไทยกับนักธุรกิจญี่ปุ่นและอาเซียน และตอกย้ำศักยภาพความแข็งแกร่งของกรุงศรีและเครือข่ายระดับโลกของ MUFG อีกด้วย นอกจากนั้นยังมีงานสัมมนาธุรกิจครั้งใหญ่แห่งปี Krungsri Business Forum 2020 – Business Under Uncertainties ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงปลายปี 2563 เพื่อแบ่งปันแนวคิดและมุมมองในการทำธุรกิจภายใต้ความไม่แน่นอน