5 เดือนแบงก์ยุบ 137 สาขา แห่ลดต้นทุน “ไทยพาณิชย์” แชมป์

ธนาคาร ATM ตู้เอทีเอ็ม
ภาพ: AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

แบงก์แห่ลดต้นทุน 5 เดือนแรกแบงก์พาณิชย์ปิดสาขา 137 แห่ง พุ่ง 3 เท่าจากปีก่อน “ไทยพาณิชย์” นำโด่งปิด 80 แห่ง ตามด้วยกรุงไทย มุ่งตอบโจทย์ธุรกรรมโมบายแบงกิ้ง ธปท.เผยยอดผู้ใช้ 64.32 ล้านบัญชี ยอดธุรกรรมเดือน มี.ค. ทะลุ 2.5 ล้านล้านบาท “กรุงไทย” ปูพรม “digital branch” 30 แห่งเสิร์ฟลูกค้า

5 เดือนแบงก์ปิด 137 สาขา

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ในช่วงการระบาดของโควิด-19 พบว่า ทำให้เป็นปัจจัยเร่งในการลดจำนวนสาขาของธนาคารพาณิชย์เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่แบงก์ต้องรับมือกับภาระหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น ขณะที่โอกาสในการสร้างรายได้ลดลง ทำให้แบงก์พาณิชย์ต้องเน้นบริหารจัดการในการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายมากขึ้น และการปิดสาขาที่ไม่ทำกำไรหรือธุรกรรมน้อยก็เป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญ

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยข้อมูลจำนวนสาขาและจุดให้บริการของธนาคารพาณิชย์ ล่าสุด ณ เดือน พ.ค. 2563 มีจำนวนอยู่ที่ 6,672 แห่ง ลดลง 137 แห่งจากสิ้นเดือน ธ.ค. 2562 ที่อยู่ 6,809 แห่ง ซึ่งเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีการปรับลดลงประมาณ 50 สาขา

ทั้งนี้ หากดูตามรายแบงก์พบว่า ธนาคารไทยพาณิชย์มีการปรับลดสาขาและจุดให้บริการมากที่สุดถึง 80 แห่ง จากสิ้นปี 2562 มีจำนวน 1,034 แห่ง ในเดือน พ.ค.ลดลงเหลือ 954 แห่ง รองลงมาคือ ธนาคารกรุงไทยลดลง 26 แห่ง จาก 1,105 แห่ง ลงมาอยู่ที่ 1,079 แห่ง และธนาคารกรุงเทพปรับลดลง 11 แห่ง จาก 1,148 แห่ง เหลืออยู่ที่ 1,137 แห่ง

สถิติ ธนาคาร ลดจำนวนสาขา 2563

โมบายแบงกิ้งพุ่ง

ขณะที่พบว่าการทำธุรกรรมออนไลน์ผ่านอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งและโมบายแบงกิ้งในช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ มีการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทั้งในแง่จำนวนบัญชีผู้ใช้และปริมาณธุรกรรม โดยตัวเลขอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง เดือนเมษายน 2563 มีจำนวนบัญชี 30.36 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้นจากเดือน ธ.ค. 2562 อยู่ที่ 29.40 ล้านบัญชี

ขณะที่ปริมาณธุรกรรมเดือน เม.ย.อยู่ที่ 77.85 ล้านรายการ เพิ่มจากเดือน ธ.ค. 2562 อยู่ที่ 71.50 ล้านรายการ ส่วนมูลค่าธุรกรรมจากเดือน ธ.ค. 2562 ที่อยู่ 2.45 ล้านล้านบาท ในช่วงเดือน มี.ค. 2563 ธุรกรรมสูงถึง 2.82 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตาม ชะลอตัวในช่วงเดือน เม.ย. 2563

ส่วนธุรกรรมโมบายแบงกิ้ง เดือนเมษายน 2563 มีจำนวนบัญชีผู้ใช้อยู่ที่ 64.32 ล้านบัญชี เพิ่มจากธันวาคมที่อยู่ 60.08 ล้านบัญชี ขณะที่ปริมาณรายการเพิ่มจาก 550 ล้านรายการ มาอยู่ที่ 597 ล้านรายการ โดยมูลค่าธุรกรรมในเดือน มี.ค. 2563 พุ่งสูงถึง 2.52 ล้านล้านบาท และชะลอตัวลงอยู่ที่ 2.14 ล้านล้านบาท ในเดือน เม.ย.

กรุงไทยรุก Digital Branch

นายพิชิต จงสฤษดิ์หวัง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสายงานกลยุทธ์และผลิตภัณฑ์รายย่อย ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้ธนาคารจะมีการปิดและควบรวมสาขาประมาณ 80 แห่ง โดยตั้งแต่ต้นปีดำเนินการไปแล้ว 30-40 แห่ง ซึ่งการปิดและควบรวมจะกระจายทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยพิจารณาตามพื้นที่ที่มีสาขาทับซ้อน พฤติกรรมผู้บริโภค และความหนาแน่นของปริมาณธุรกรรมเป็นหลัก

“ตั้งแต่ดิจิทัลเข้ามา ภาพรวมสาขาจะลดลงทุกปีเป็นปกติ แต่เราจะปรับเปลี่ยนสาขาอย่างไรให้ทันกับพฤติกรรมลูกค้า ซึ่งบางครั้งไม่จำเป็นต้องอยู่บนห้างเท่านั้น เพราะห้างบางแห่งใหญ่ แต่ธุรกรรมน้อย ขณะที่ห้างอีกแห่งที่เล็ก แต่ธุรกรรมเยอะ เราก็จะเลือกเปิดตามปริมาณธุรกรรมเป็นหลัก”

พร้อมกันนี้ ธนาคารอยู่ระหว่างทดลองรูปแบบสาขาใหม่ที่เป็น digital branch คอนเซ็ปต์จะเน้นเครื่องมือและอุปกรณ์เทคโนโลยีเป็นหลัก ซึ่งจะไม่มีเคาน์เตอร์ไว้บริการลูกค้า เนื่องจากธุรกรรมพื้นฐานจะทำผ่านเครื่องต่าง ๆ ส่วนพนักงานจะมีโต๊ะที่ให้บริการลูกค้าที่มาขอคำปรึกษาซึ่งสามารถทำนัดหมายล่วงหน้าได้ โดยตั้งเป้าปรับเปลี่ยนสาขารูปแบบดิจิทัลราว 20-30 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการรีโนเวตพื้นที่สาขาเดิม

แบงก์กรุงเทพ สาขายังเป็นตัวตั้งต้น

นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ภาพรวมสาขาธนาคารกรุงเทพมีการควบรวมบ้าง แต่การทบทวนจำนวนสาขาเป็นเรื่องที่ต้องคิดรอบคอบ เพราะสาขายังคงมีความสำคัญ และคนในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังคงพึ่งพาสาขา แม้ว่าดิจิทัลจะมีการเติบโตค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 เนื่องจากสาขาเดินทางไม่สะดวกจากการล็อกดาวน์ประเทศ แต่มองว่าการลดลงของสาขาอย่างมีนัยสำคัญจะต้องใช้เวลา เพราะในช่วงนี้ถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน และธนาคารยังคงใช้สาขาเป็นตัวตั้งต้นในการทำธุรกิจจาก offline ไปสู่ online

“ดิจิทัลเข้ามาก็เป็นเรื่องดีที่มีช่องทางให้บริหารมากขึ้น รวมถึงการมีตัวแทนธนาคาร หรือแบงกิ้งเอเย่นต์ ก็มาช่วยเสริมเรื่องฝากถอนโอนได้ ตอนนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน การปิดสาขาดูรายพื้นที่ทั้งกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ดูการเปลี่ยนแปลงของสังคมเมือง หรือในห้างก็มีความสำคัญ แต่ตอนนี้คนเดินห้างก็น้อยลง ทำให้การพิจารณาสาขาต้องดูว่าจะวางหรือตั้งสาขาตรงไหนที่เหมาะสม”

นายอนุวัติร์ เหลืองทวีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้ารายย่อย ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) กล่าวว่า ตอนนี้ควบรวมสาขาระหว่างธนชาตและทีเอ็มบีในรูปแบบcolocation ได้แล้ว 40 แห่ง จากเป้าหมาย100 แห่ง ส่วนที่เหลือจากการทำ colocationจะเลือกปิดสาขาที่มีการทับซ้อนกัน โดยดูจากลูกค้า พื้นที่ทำเล และปริมาณธุรกรรม และในส่วนของธุรกรรมที่มีความซับซ้อนจะต้องยังมีพนักงานคอยแนะนำที่สาขาอยู่ เช่น การซื้อขายกองทุน หรืองานด้านสินเชื่อ เป็นต้น

“จำนวนสาขาเพิ่มขึ้นหรือลดลง จะขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของปริมาณธุรกรรมเป็นหลัก”

ลดสาขา-ลดต้นทุน

ด้านนายพงษ์อนันต์ ธณัติไตร ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจลูกค้ารายย่อยและเครือข่ายการขาย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมจำนวนสาขาของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบคงปรับลดลง ซึ่งมาจากทั้งพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไปใช้ธุรกรรมพื้นฐานบนโมบายแบงกิ้งมากขึ้น รวมถึงการทับซ้อนของสาขา และเพื่อบริหารจัดการค่าใช้จ่าย โดยตัวเลข ณ สิ้นเดือน พ.ค. 63 ธนาคารมีจำนวนผู้ใช้งาน Krungsri Mobile Application (KMA) เติบโตสูงขึ้นถึง 12% และปริมาณธุรกรรมเติบโต 21% จากสิ้นปีที่ผ่านมา


“สำหรับกรุงศรีฯไม่เคยปักธงว่าต้องการจะปิดกี่สาขา โดยติดตามและทบทวนสาขาจากผลประกอบการ ปริมาณธุรกรรม ศักยภาพของทำเลและพฤติกรรมของผู้บริโภค เรามีการเปิดและปิดสาขาตลอดเวลา และให้ความสำคัญในการพัฒนาทักษะของพนักงานสาขาทั้งด้านสินเชื่อและการลงทุน เพราะในอนาคตธุรกรรมพื้นฐานที่มีมูลค่าธุรกรรมต่ำจะถูกทำบนโมบายแบงกิ้งแต่สำหรับธุรกรรมที่มีมูลค่าสูงจะใช้บริการที่สาขาอยู่”