โควิดทุบกำไร Q2 “เคทีซี” หดตัว 13% เหลือ 1,149 ล้านบาท

โควิดทุบกำไร”เคทีซี” แผ่ว! ไตรมาส 2 ลดลง 13% อยู่ที่ 1,149 ล้านบาท ครึ่งปีแรกหดตัว 4% ปิดที่ 2,790 ล้านบาท ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรลดลง 9.6% เอ็นพีแอลบัตรเครดิตอยู่ที่ 5.6% เอ็นพีแอลสินเชื่อบุคคลอยู่ที่ 8.5% “ระเฑียร” คาดไตรมาส 2 จุดต่ำสุดแล้ว เล็งส่ง “พี่เบิ้ม” กลุ่มสินเชื่อที่มีหลักประกัน รุกตลาดควบคู่สินเชื่อพิโก้และนาโนไฟแนนซ์ ชิงสร้างโอกาสทางธุรกิจในระยะยาว ชี้ครึ่งปีหลังธุรกิจยังเผชิญเสี่ยงกดดันความสามารถชำระหนี้

นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทงวดไตรมาส 2/2563 และงวดครึ่งปีแรกมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,149 ล้านบาท ลดลง 13% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ทำได้ 1,232 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 2,790 ล้านบาท หดตัว 4% (ตามลำดับ) ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยรวมเพิ่มขึ้น 9.3% และ 10.0% หรือมีมูลค่าเท่ากับ 3,632 ล้านบาท และ 7,247 ล้านบาท ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมลดลง  20.4% และ 12.3% หรือคิดเป็นมูลค่า 969 ล้านบาท และ 2,152 ล้านบาท 

สำหรับค่าใช้จ่ายรวมอยู่ที่ 7,595 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายบริหารงาน 3,430 ล้านบาท ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (หนี้สูญ 376 ล้านบาท และหนี้สงสัยจะสูญ 3,016 ล้านบาท เท่ากับ 3,392 ล้านบาท และต้นทุนทางการเงิน 773 ล้านบาท

โดยสัดส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวม (Cost to Income Ratio) ลดเหลือ 31.0% เนื่องจากการลดกิจกรรมการตลาดในช่วงเวลาดังกล่าว หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้รวม (NPL) ภายใต้มาตรฐานใหม่ TFRS 9 อยู่ที่ 6.6% เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้และดอกเบี้ยค้างรับรวม (ยอดลูกหนี้การค้ารวม) เท่ากับ 83,486 ล้านบาท ฐานสมาชิกรวม 3.5 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้น 3.8% แบ่งเป็นพอร์ตสมาชิกบัตรเครดิต 2,605,461 บัตร เพิ่มขึ้น 8.3% เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้บัตรเครดิตและดอกเบี้ยค้างรับรวม (ยอดลูกหนี้บัตรเครดิต) 53,242 ล้านบาท 

ด้านปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตร 90,613 ล้านบาท ลดลง 9.6% เอ็นพีแอลบัตรเครดิตตามมาตรฐานใหม่ TFRS 9 อยู่ที่ 5.6% พอร์ตสมาชิกสินเชื่อส่วนบุคคลเคทีซี (รวมสินเชื่อธนวัฏและสินเชื่อเจ้าของกิจการ) เท่ากับ 932,112 บัญชี ลดลง 7.1% จากการปิดบัญชีที่ไม่เคลื่อนไหว และเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้สินเชื่อบุคคลและดอกเบี้ยค้างรับรวม (ยอดลูกหนี้สินเชื่อบุคคล) อยู่ที่ 30,244 ล้านบาท ส่วนเอ็นพีแอลสินเชื่อบุคคลตามมาตรฐานใหม่ TFRS 9 อยู่ที่ 8.5%

ทั้งนี้เป็นผลจากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่เริ่มส่งผลกระทบที่ชัดเจนขึ้นเมื่อรัฐบาลประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก. ฉุกเฉิน) ตั้งแต่ 26 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา ซึ่งมีผลกระทบต่อปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรของบริษัทที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงของการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่เมื่อเริ่มผ่อนคลายปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรก็เริ่มปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ ขณะที่พอร์ตลูกหนี้ของบริษัทยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น 8.3% และยังคงความสามารถในการหารายได้และการสร้างผลกำไร พร้อมกันที่บริษัทยังควบคุมค่าใช้จ่ายทางการเงินได้ดีมีรายได้หนี้สูญได้รับคืนอยู่ในระดับที่น่าพอใจ

“ที่ผ่านมาเราได้ดำเนินการช่วยเหลือด้านสินเชื่อให้กับลูกหนี้ เพื่อสนับสนุนมาตรการของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อย่างเต็มที่และต่อเนื่อง ได้แก่ 1.ปรับลดอัตราผ่อนชำระของบัตรเครดิตจากเดิม 10% เหลือ 5% ตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 – 2564 ร้อยละ 8 ในปี 2565 และร้อยละ 10 ในปี 2566 เป็นต้นไป 

ส่วนลูกหนี้สินเชื่อบุคคล “เคทีซี พราว” (KTC PROUD) ปัจจุบันได้รับอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำ 3% ซึ่งอยู่ในแนวทางการให้ความช่วยเหลืออยู่แล้ว 2) ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 เช่น การเปลี่ยนสินเชื่อเป็นระยะยาว การเลื่อนชำระค่างวดหรือเงินต้น การลดค่างวด เป็นต้น 

โดยขยายเวลาการให้ความช่วยเหลือไปสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 โดยมีกลุ่มลูกหนี้เข้าร่วมปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้มาตรการช่วยเหลือของบริษัทฯ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 เท่ากับ 4,000 ราย คิดเป็นมูลค่าหนี้ประมาณ 300 ล้านบาท และมียอดลูกหนี้ที่ขอพักชำระหนี้ 99 ราย และ 3) ปรับลดเพดานดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินใหม่ ตามอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563 เป็นต้นไป” 

นายระเฑียรกล่าวว่า ประเมินว่าหากเหตุการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่ส่งผลถึงระดับที่รัฐบาลจำเป็นต้องพิจารณามาตรการที่เข้มข้นมากอีก เชื่อว่าไตรมาส 2 จะเป็นช่วงเวลาที่ได้รับผลกระทบด้านคุณภาพสินทรัพย์มากที่สุดแล้ว อย่างไรก็ตามในช่วงครึ่งปีหลังจากนี้การดำเนินธุรกิจของบริษัทยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัว และอาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหากมีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของเชื้อโควิด-19 อีกครั้ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน ความสามารถในการชำระหนี้ หรือการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ 

อีกทั้งการประกาศใช้มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของธปท. ในระยะที่ 2 ที่ปรับลดเพดานดอกเบี้ยทั้งธุรกิจบัตรเครดิต 2% และธุรกิจสินเชื่อบุคคล 3% ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลการดำเนินงานของบริษัท 

ดังนั้นนักลงทุนไม่ควรนำผลการดำเนินงานในครึ่งปีแรกมาเป็นฐานในการประมาณการผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงครึ่งปีหลัง อย่างไรก็ตามฝ่ายจัดการจะปรับเปลี่ยนโมเดลทางธุรกิจให้ตอบสนองต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงทั้งของเศรษฐกิจและของอัตราดอกเบี้ยรับที่ลดลง โดยจะให้ความสำคัญกับการขยายตัวของสินเชื่อ “พี่เบิ้ม” ในส่วนที่เป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน อาทิ สินเชื่อจำนำทะเบียนทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ควบคู่กับการขยายสินเชื่อ “พิโก้ ไฟแนนซ์” และ “นาโน ไฟแนนซ์” ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีโอกาสสร้างการเติบโตได้ในระยะยาว”