ธปท. เผยสัญญาณผลกระทบโควิดต่อภาคธุรกิจเดือน ก.ค. ผ่อนคลายลง

ธปท. เปิดผลสำรวจผลกระทบโควิด-19 ต่อธุรกิจรายใหญ่-เอสเอ็มอี พบสัญญาณเดือนกรกฎาคมปรับดีขึ้นตามการคลายล็อกดาวน์เฟส 5 ชี้ ภาคขนส่งสินค้า-การส่งออก-มาตรการเว้นระยะห่าง-การจ้างงานปรับดีขึ้นตามลำดับ 

ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลสำรวจผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ และ SMEs จำนวน 297 ราย กรณีผลกระทบจากโควิด 19 ต่อภาคธุรกิจไทยในเดือนกรกฎาคม 2563 ในภาพรวมพบว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีต่อภาคธุรกิจได้ผ่อนคลายลง สะท้อนจากสัดส่วนผู้ประกอบการได้รับผลกระทบที่ลดลงต่อเนื่อง จากมาตรการผ่อนคลายการปิดเมืองที่เข้าสู่ระยะที่ 5 ซึ่งแบ่งผลการสำรวจเป็น 3 หัวข้อหลัก ได้แก่

1. การขนส่งสินค้าและการส่งออกสินค้า พบว่า มีผู้ประกอบการที่ไม่ได้รับผลกระทบในเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ 21% ดีขึ้นกว่าเดือนมิถุนายนที่อยู่ในระดับ 17.2%

2. การนำเข้าสินค้า พบว่า มีผู้ประกอบการที่ไม่ได้รับผลกระทบในเดือนกรกฎาคม 33.4% ดีขึ้นกว่าเดือนมิถุนายน ที่อยู่ในระดับ 25.9%

3. มาตรการ Social Distancing พบว่า มีผู้ประกอบการที่ไม่ได้รับผลกระทบในเดือนกรกฎาคม 30.7% ดีขึ้นกว่าเดือนมิถุนายน ที่อยู่ในระดับ 22.6%

โดยสัดส่วนผู้ได้รับผลกระทบที่ลดลงนี้ส่งผลดีไปยังการจ้างงาน สะท้อนจากการที่ภาคธุรกิจลดการใช้นโยบายปรับเปลี่ยนการจ้างงานลงในเกือบทุกรูปแบบ ยกเว้นบางธุรกิจในภาคที่มิใช่การผลิตที่ยังคงใช้นโยบายลดชั่วโมงการทำงานมากขึ้น ได้แก่ ภาคการค้าและกลุ่มที่พักแรมและร้านอาหาร ตามกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวที่ยังกลับมาไม่มาก

ทั้งนี้ พบว่าผลกระทบด้านพฤติกรรมของผู้บริโภคและปัญหาด้านขนส่งกลับมากขึ้นในบางกลุ่ม เช่น กลุ่มผลิตเครื่องจักรและกลุ่มบริการทางการเงิน ที่ได้รับผลกระทบทางลบจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีการจับจ่ายลดลง ซึ่งส่งผลถึงความต้องการเครื่องจักร การขยายสินเชื่อ รวมถึงคุณภาพสินเชื่อ เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19