กรุงศรีคาด เงินบาทซื้อขายในกรอบ 30.95-31.40 บาทต่อดอลลาร์

กรุงศรีคาดเงินบาทซื้อขายในกรอบ 30.95-31.40 บาทต่อดอลลาร์ คาด กนง. ประชุม 5 ส.ค.นี้ คงดอกเบี้ยนโยบาย

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 30.95-31.40 บาทต่อดอลลาร์เทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 31.22 บาทต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 3 สัปดาห์ท่ามกลางแรงขายดอลลาร์อย่างต่อเนื่องในตลาดโลก และราคาทองคำที่พุ่งสูงขึ้น ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 76 ล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตรสุทธิ 4.6 พันล้านบาท ขณะที่ในเดือนกรกฎาคมเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนและอ่อนค่าลงราว 1% สวนทางสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาค

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่าตลาดจะติดตามข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญจากสหรัฐฯ หลายรายการ อาทิ ดัชนีภาคการผลิตและบริการ รวมถึงการจ้างงานนอกภาคเกษตร หลังประกาศจีดีพีในไตรมาส 2 หดตัวลง 32.9% ซึ่งถือเป็นการลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการจัดเก็บตัวเลขนี้ในปี 2490 และความคืบหน้าเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นทางการคลังชุดใหม่หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงกรอบเป้าหมายดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ 0-0.25% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยดอลลาร์ถูกกดดันจากข่าวที่ว่าประธานาธิบดีทรัมป์เสนอแนวคิดเรื่องการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปจากกำหนดเดิมในวันที่ 3 พ.ย. ถึงแม้สมาชิกสภาคองเกรสคัดค้านแนวคิดดังกล่าว

อนึ่ง แม้ว่ามีแรงซื้อคืนดอลลาร์ทางเทคนิคเมื่อท้ายสัปดาห์ก่อน แต่ในภาพรวมแนวนโยบายของเฟดและประเด็นทางการเมืองในสหรัฐฯ อาจจำกัดการฟื้นตัวของค่าเงินดอลลาร์ ทั้งนี้ ประธานเฟดแสดงความกังวลต่อยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาในสหรัฐฯ ที่ยังคงเพิ่มขึ้น โดยเฟดให้คำมั่นว่าจะใช้ทุกมาตรการที่สามารถทำได้และจะคงดอกเบี้ยไว้เป็นเวลานานตราบเท่าที่จำเป็นเพื่อประคองเศรษฐกิจ นอกจากนี้ นักลงทุนจะให้ความสนใจกับการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) ในวันที่ 6 ก.ค. ด้วย

สำหรับปัจจัยในประเทศ คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีมติคงดอกเบี้ยไว้ที่ 0.50% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในการประชุมวันที่ 5 ส.ค. โดยเรามองว่ากนง.จะเน้นย้ำความไม่แน่นอนต่อทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไปและพร้อมจะใช้เครื่องมือที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น แม้ว่าเศรษฐกิจได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 2/2563 แต่สถานการณ์ยังคงเปราะบางและผลกระทบเชิงลบจาก COVID-19 มีแนวโน้มลากยาว ขณะที่ความเสี่ยงด้านขาลงของเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับสูง