CIMBT ชี้ โควิดเร่งธุรกิจแกร่งไล่ซื้อกิจการในอาเซียน

ซีไอเอ็มบี ไทย ชี้โควิด-19 เร่งธุรกิจรายใหญ่แข็งแกร่งไล่ซื้อกิจการในประเทศ-ต่างประเทศ คาดปี 64 เห็นดีลควบรวมเพียบ หนุนสินเชื่อโต 7-9%

นายพรชัย ปัทมินทร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บรรษัทธุรกิจและวาณิชธนกิจธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT เปิดเผยว่า ท่ามกลางวิกฤตและการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เข้ามาเป็นตัวเร่งให้เกิดการรวมตัวกันของภูมิภาค และภาคธุรกิจมากขึ้น โดยจะเห็นบริษัทที่มีความแข็งแกร่งใช้โอกาสนี้ในการขยายธุรกิจไปต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะในตลาดอาเซียนที่มีศักยภาพในการเติบโต ซึ่งธนาคารเริ่มเห็นสัญญาณการพูดคุยเรื่องการซื้อขายกิจการ ควบรวมกิจการกันมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ธนาคารคาดว่าการซื้อขายกิจการและทรัพย์สินทั้งในและต่างประเทศ จะเริ่มเห็นดีลหรือรายการ (Transaction) ชัดเจนขึ้นในปี 2564 เนื่องจากลูกค้าที่จะซื้อขายกิจการอยู่ระหว่างรอดูสถานการณ์อีก 3-6 เดือน ส่วนหนึ่งมาจากราคาของผู้ขายและผู้ซื้อยังมีช่องว่างอยู่ แต่เชื่อว่าจะเห็นดีลการซื้อขายกิจการไม่น้อยกว่าปีก่อน ซึ่งโดยเฉลี่ยในแต่ละปีจะมีดีลซื้อขายกิจการ 2-5 ดีล มูลค่าเฉลี่ยแต่ละดีลมีตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทถึง 1-2 หมื่นล้านบาท

สำหรับธุรกิจที่เห็นโอกาสในการลงทุนและการซื้อขายกิจการ จะเป็นกลุ่มโรงแรม สุขภาพ บริการ และค้าปลีก เป็นต้น โดยสัดส่วนจะเป็นการซื้อขายกิจการในประเทศประมาณ 60% และต่างประเทศ 40% ซึ่งตลาดที่น่าสนใจจะเป็นกัมพูชาและเวียดนาม ขณะที่อินโดนีเซียมีศักยภาพ เพราะมีประชากรจำนวนมาก โดยธนาคารคาดว่าจะมีการธุรกรรมการซื้อขายและการลงทุนในประเทศและต่างประเทศเติบโตประมาณ 30%

“โควิดเป็นตัวเร่งที่ทำให้มีการซื้อขายกิจการ การรวมตัวของภาคอุตสาหกรรม เห็นการซื้อขายกิจการที่ล้ม หรือคนที่ทำไม่ไหวก็ขายออก แต่ตอนนี้ราคาซื้อและราคาขายยังห่างกัน คนซื้อก็รอเวลาให้สุกงอมราคาลดลงมา ดังนั้น ดีลจะเห็นขึ้นรายการจริงก็ในปีหน้า เพราะในปีนี้ทุกคนเร่งปรับกลยุทธ์ดูแลภายในองค์กรตัวเองก่อน และครึ่งหลังรอดูผลกระทบและโอกาสของธุรกิจตัวเอง”

นายพรชัย กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวได้ระดับ 7-9% ส่วนหนึ่งมาจากการดีลการซื้อขายกิจการในประเทศและต่างประเทศ และลูกค้าต้องการลงทุนและเงินทุนหมุนเวียนต่อเนื่อง จากปีนี้คาดว่าจะเติบโตได้ 6% จากครึ่งปีแรกที่ขยายตัวได้ 3-4% จากยอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 7 หมื่นล้านบาท ขณะที่หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ปัจจุบันอยู่ที่ 2% คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแต่อยู่ในกรอบ 3%

นอกจากนี้ ธนาคารได้เตรียมวงเงินไว้ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท เพื่อสนับสนุนสินเชื่อให้ลูกค้าที่ออกหุ้นกู้ไม่ได้ ซึ่งที่ผ่านมามีลูกค้ามาขอใช้แล้วประมาณ 40% โดยคาดว่าสินเชื่อที่เตรียมไว้เพียงพอกับความต้องการของลูกค้า โดยไม่ต้องเพิ่มวงเงินแต่อย่างไร เนื่องจาก ตลาดตราสารหนี้ขณะนี้ปรับตัวดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมที่ผ่านมา