KTC เล็งประกาศแผนใหม่ 11 ก.ย.นี้ ขายหนี้เสียเร็วขึ้นกด NPL ต่ำกว่า 10%

KTC เตรียมประกาศแผนดำเนินงานใหม่ 11 ก.ย.63 จากผลกระทบโควิด-19 พร้อมปรับเกณฑ์การตัดขายหนี้เสียให้เร็วขึ้น จากเดิมมาตรฐานบัญชีระบุไว้ที่ 24 เดือน หวังคุม NPL ปีนี้ไม่เกิน 10% คาดการณ์แบงก์ชาติลดเพดานดอกเบี้ยกระทบรายได้ 100 ล้านบาท/เดือน งัดสินเชื่อรถ ‘พี่เบิ้ม’ โปรดักซ์ใหม่ปั้นรายได้ให้บริษัทฯ

นายชุติเดช ชยุติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC เปิดเผยว่า บริษัทฯ ยอมรับว่าการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีผลต่อผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ส่งผลให้ KTC เตรียมปรับแผนงาน รวมถึงเป้าผลดำเนินงานปี 2563 ใหม่ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยจะประกาศแผนใหม่ในวันที่ 11 ก.ย.นี้ ซึ่งจะเป็นวันที่บริษัทจดทะเบียนพบผู้ลงทุน (Opp Day) รวมถึงปรับเกณฑ์การตัดขายหนี้เสีย (Write-off) ให้ระยะเวลาสั้นลง จากเดิมจะตัดขายได้เมื่อครบกำหนด 24 เดือน เพื่อควบคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในปี 2563 ให้ไม่เกินระดับ 10%

“แผนเราคงต้องปรับ เพราะตัวเลขมันไม่ใช่หมดแล้ว จากเดิมเป็นการตั้งเป้าการทำงานแบบไม่มีโควิด-19 ปัจจุบันแผนก็เสร็จสมบูรณ์เกือบเรียบร้อยแล้ว ซึ่งหนึ่งในนั้นจะมีการปรับเกณฑ์การ Write-off หนี้เสียที่จากเดิม KTC ทำได้ช้ามาก หลังใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ ส่งผลให้ NPL ปรับขึ้นค่อนข้างสูง หรือไปอยู่ที่ระดับ 10% กว่าๆ ณ สิ้นปี” นายชุติเดช กล่าว

อย่างไรก็ดี พบว่าภาพรวมลูกหนี้ที่ตกชั้นเป็น NPL ขั้นที่ 3 มีแนวโน้มดีขึ้น และคาดว่าจะสามารถประคอง NPL ให้อยู่ในระดับทรงตัวจากปีก่อน หากไม่เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 2 โดยบริษัทฯ ยังคงเดินหน้ารักษาพอร์ตสินเชื่อให้เป็นพอร์ตที่มีคุณภาพ และสามารถสร้างผลตอบแทนที่เหมาะสมให้แก่ผู้ถือหุ้น

ขณะที่การปรับลดเพดานดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ ได้แก่ การลดเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิตจาก 18% เหลือ 16% การลดเพดานดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีวงเงินหมุนเวียน เช่น บัตรกดเงินสด จาก 28% เหลือ 25% และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ผ่อนชำระเป็นงวด ที่ลดเพดานดอกเบี้ยเหลือ 25% รวมถึงสินเชื่อจำนำทะเบียนรถที่ลดดอกเบี้ยเหลือ 24% ที่เริ่มมีผลเมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมานั้น คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยของบริษัทฯ ประมาณ 100 ล้านบาท/เดือน

นอกจากนี้ การปรับลดเพดานดอกเบี้ยดังกล่าว ส่งผลให้บริษัทฯ ปรับเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อให้มีความรัดกุมมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับดอกเบี้ยที่ลดลง

เมื่อสอบถามถึงการเข้ามาแข่งขันสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของธนาคารออมสิน นายชุติเดช กล่าวว่า บริษัทฯ เชื่อว่ากลยุทธ์การแข่ขันของธนาคารออมสินจะไม่ส่งผลกระทบกับส่วนแบ่งทางการตลาดของ KTC เนื่องจากมองว่าธนาคารออมสินเน้นการปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์เป็นหลัก

อย่างไรก็ดี ในส่วนของธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถยนต์ “พี่เบิ้ม” ของบริษัทฯ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการหาเครือข่ายและทยอยเพิ่มช่องทางตัวแทน (Agent) และคาดว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าว รวมถึงผลิตภัณฑ์สินเชื่อบุคคลใหม่ที่จะเปิดตัววันนี้ (18 ส.ค.) จะสามารถชดเชยรายได้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ได้