บี้ลดดอกเบี้ยรายย่อยยกแผง “พิโกไฟแนนซ์” ต่อคิวลด 2-4%

ภาพประกอบข่าว ธนบัตร เศรษฐกิจ

“แบงก์ชาติ-คลัง” แท็กทีมกดเพดานดอกเบี้ยสินเชื่อรายย่อยยกแผง คลังรับลูก ธปท. เตรียมชง “ปรีดี” รมว.คลังไฟเขียวหั่นดอกเบี้ย “พิโกไฟแนนซ์” ทั่วประเทศลง 2-4% หลัง ธปท.ออกประกาศลดเพดานดอกเบี้ย “บัตรเครดิต-พีโลน-นาโนไฟแนนซ์” มีผลตั้งแต่ 1 ส.ค. 2563 พร้อมใช้ “ออมสิน” เครื่องมือแข่งกดดอกเบี้ยตลาด

บีบลดดอกเบี้ยช่วยรายย่อย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยจากสถานการณ์โควิด-19 ระยะที่ 2 โดยให้สถาบันการเงิน ทั้งแบงก์และน็อนแบงก์ ลดเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล (พีโลน) ลง 2-4% ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2563 เป็นต้นไปนั้น ธปท.ได้ยืนยันว่า การลดเพดานดอกเบี้ยถือว่าเป็น “มาตรการถาวร” ส่วนมาตรการขั้นต่ำอื่น ๆ อาทิ การลดวงเงินชำระหนี้ขั้นต่ำ การแปลงหนี้บัตรเครดิตเป็นเทอมโลน เป็นต้น จะเป็น “มาตรการชั่วคราว” ที่มีผลบังคับใช้ถึงสิ้นปี 2564

นอกจากนี้ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. ได้ลงนามออกประกาศเมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2563 ให้สถาบันการเงินทุกแห่งที่ดำเนินธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ (นาโนไฟแนนซ์) ปล่อยกู้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย ดำเนินการปรับลดอัตราดอกเบี้ย เบี้ยปรับ ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมใด ๆ ที่เรียกเก็บจากลูกหนี้เหลือไม่เกิน 33% ต่อปี จากเดิมที่เรียกเก็บได้ถึง 36% ต่อปี หรือปรับลดเพดานลงไป 3% ซึ่งประกาศดังกล่าวกำหนดให้เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2563 เป็นต้นไป เช่นเดียวกับการลดเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล

แหล่งข่าวจากแวดวงการเงิน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การที่ ธปท.มีการประกาศเพิ่มเติมเพื่อให้ครอบคลุมสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ด้วยนั้น เนื่องจากทางการเกรงว่า สถาบันการเงินที่มีการปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์อยู่ด้วย อาจจะย้ายลูกค้าจากพอร์ตสินเชื่อพีโลนไปพอร์ตนาโนไฟแนนซ์แทน เนื่องจากยังคิดดอกเบี้ยได้สูงอยู่

รายได้หายเดือนละ 100 ล้าน

นางพิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจบัตรเครดิต บมจ.บัตรกรุงไทย (เคทีซี) กล่าวว่า ผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเป็นการถาวร ตามมาตรการของ ธปท. พบว่า มีผลกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยของบริษัท ทั้งบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล รวมประมาณ 100 ล้านบาทต่อเดือน

นายนันทวัฒน์ โชติวิจิตร กรรมการบริหาร บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) กล่าวว่า การลดเพดานดอกเบี้ยตามมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระยะที่ 2 นั้น ประเมินว่าจะกระทบกับรายได้ดอกเบี้ยของบริษัทจะลดลงราว 10% จากพอร์ตสินเชื่อคงค้างที่มีอยู่ทั้งสิ้น 8 หมื่นล้านบาท และฐานบัตรรวมอยู่ที่ 8-9 ล้านใบ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทมีลูกค้าที่ชำระขั้นต่ำอยู่ประมาณ 70% และอีก 30% ชำระเต็มจำนวน

คลังจ่อลด ดบ.พิโกไฟแนนซ์

ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เพื่อให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับนโยบายของ ธปท. ในการดูแลผู้กู้รายย่อย ทางกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณาปรับลดเพดานดอกเบี้ยธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด ภายใต้การกำกับ (พิโกไฟแนนซ์) ลงด้วยเช่นเดียวกัน โดยอาจจะปรับลดในระดับใกล้เคียงกัน อยู่ในช่วง 2-4% อย่างไรก็ดี เรื่องนี้จะต้องรอให้นายปรีดี ดาวฉาย รมว.คลังคนใหม่เข้ามาพิจารณาให้ความเห็นชอบอีกที

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ที่ปัจจุบันคิดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 36% ต่อปี เนื่องจากต้องการให้มีความสอดคล้องกับ ธปท. ที่ได้มีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย ระยะที่ 2 ในส่วนที่เป็นการลดเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิต, สินเชื่อส่วนบุคคล รวมถึงสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ซึ่งเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา

“ส่วนจะลดลงเท่าไหร่นั้น จะต้องมีการประเมินความเสี่ยงของตลาด และต้องทำให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับความเสี่ยง เนื่องจากการปล่อยสินเชื่อประเภทนี้ไม่มีหลักประกัน จึงมีความเสี่ยงมากกว่าการปล่อยสินเชื่อประเภทอื่น ๆ พร้อมกันนี้ ก็ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นในฝั่งของผู้ประกอบการด้วย โดยที่ผ่านมาก็ได้มีการหารือร่วมกับสมาคมพิโกไฟแนนซ์ไปแล้ว” นายลวรณกล่าว

โดยข้อมูล ณ เดือน พ.ค. 2563 พบว่า สินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์ มีผู้เปิดดำเนินการธุรกิจทั้งสิ้น 699 ราย ใน 71 จังหวัด และสินเชื่อประเภทพิโกพลัส มีผู้เปิดดำเนินการ 50 ราย ใน 25 จังหวัด ขณะที่ยอดสินเชื่ออนุมัติสะสมและยอดสินเชื่อคงค้างสะสม จนถึง ณ สิ้นเดือน เม.ย. 2563 อยู่ที่ 254,890 บัญชี เป็นเงิน 6,745.02 ล้านบาท และมียอดสินเชื่อคงค้างสะสมทั้งสิ้น 105,689 บัญชี เป็นเงิน 2,591.32 ล้านบาท

MTC ไม่สะเทือนคิด ดบ. 28%

นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด หรือ MTC เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แม้ว่า ธปท.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ลงมาเหลือ 33% จากเพดานเดิมไม่เกิน 36% บริษัทไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทคิดอัตราดอกเบี้ยลูกค้าเพียง 28% เท่านั้น จึงไม่มีผลต่อรายได้ โดยปัจจุบันบริษัทมีสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์อยู่ที่ 4,000 ล้านบาท คิดเป็น 8% ของยอดสินเชื่อคงค้างทั้งหมด 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งบริษัทมีรายได้ดอกเบี้ยจากธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ประมาณ 900 ล้านบาทต่อปี

อย่างไรก็ดี สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ เป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ทำให้ผู้ประกอบการต่าง ๆ รวมถึง MTC ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งโดยเฉลี่ยตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์เติบโต 10-20% คิดเป็นยอดสินเชื่อปล่อยใหม่อยู่ที่ 1,000 ล้านบาทต่อเดือน เฉลี่ยวงเงินกู้อยู่ที่ 2-4 หมื่นบาทต่อราย

“ปีนี้เราคงไม่เน้นปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์มาก เพราะเป็นสินเชื่อที่มีความเสี่ยง ทุกคนเข้มงวดมาก เราเองก็จะเน้นสินเชื่อที่มีหลักประกันมากขึ้น”

ดึง “ออมสิน” เครื่องมือ

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังมีนโยบายให้ “ธนาคารออมสิน” ขยายบทบาทธุรกิจน็อนแบงก์ และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ โดยมีเป้าหมายเป็นผู้นำตลาด เพื่อให้สามารถชี้นำกำหนดอัตราดอกเบี้ยในตลาดให้ต่ำลง 8-10% ปัจจุบันที่คิดดอกเบี้ยกันสูงตั้งแต่ 28-36% ต่อปี


โดยนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ให้สัมภาษณ์หลังเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมาว่า ธนาคารออมสินจะขยายบทบาทเข้าสู่ธุรกิจน็อนแบงก์ เพราะสินเชื่อที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ คิดอัตราดอกเบี้ยสูงเกินไป 24-28% ต่อปี จนกลายเป็นภาระหนักสำหรับผู้บริโภค โดยธนาคารตั้งเป้าว่าจะเข้าสู่ธุรกิจน็อนแบงก์ในอีก 6 เดือนข้างหน้า พร้อมเปิดโอกาสให้ลูกค้าจากทุกที่เข้ามารีไฟแนนซ์ เพื่อช่วยลดภาระประชาชนโดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อย โดยมีเป้าหมายลดดอกเบี้ยลงมาอยู่ที่ระดับ 8-10% จากปัจจุบันน็อนแบงก์คิดดอกเบี้ย 24-28% ซึ่งการที่ออมสินนำร่องลดดอกเบี้ยก็จะกดดันให้ผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ต้องหั่นดอกเบี้ยเช่นกันเพื่อรักษาฐานลูกค้า ซึ่งจะดึงให้อัตราดอกเบี้ยทั้งตลาดปรับตัวลดลง