โจทย์เร่งด่วน “ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ” คนใหม่ รับมือโควิดลากยาว

ส่งมอบผู้ว่าฯ ธปท. คนใหม่2

โจทย์เร่งด่วนถึงผู้ว่าฯ ธปท. คนใหม่ แก้อุปสรรคซอฟต์โลนหนุนสภาพคล่องเอสเอ็มอี ยื้อธุรกิจ-จ้างงาน รับมือ “โควิด” ลากยาว

ดร.เชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ มีความไม่แน่นอนอยู่มาก เนื่องจากยังมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะในหลายประเทศที่กำลังกลับมาระบาดระลอก 2 อย่างค่อนข้างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน เมียนมา อินเดีย ฯลฯ ดังนั้น การออกแบบมาตรการด้านการเงินการคลังในช่วงนี้ อาจจะต้องคำนึงถึงสถานการณ์โควิดที่ลากยาวไปกว่าเดิม ซึ่งทางการ หรือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ผู้ว่าการ ธปท. คนใหม่เข้ามาทำงานแล้ว อาจจะต้องหารือร่วมกับสถาบันการเงิน ถึงมุมมองเรื่องเหล่านี้ เพื่อเตรียมมาตรการที่เป็นระยะยาวมากขึ้น

“เนื่องจากขณะนี้ มีความไม่แน่นอนอยู่มาก ทำให้เกิดคำถามว่า มาตรการที่ดำเนินการไปแล้ว จะต้องพิจารณาปรับปรุง เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่ลากยาวกว่าที่คาดหรือไม่ ทั้งความช่วยเหลือ หรือเกณฑ์ต่าง ๆ อย่างสินเชื่อจะปรับอย่างไร ซึ่งทางการอาจจะต้องปรึกษากับสถาบันการเงินว่ามีมุมมองเรื่องนี้อย่างไร ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของมาตรการ คงต้องดูว่าทำอย่างไร จะช่วยเอสเอ็มอีให้อยู่รอดได้ ไม่ขาดสภาพคล่อง จนต้องเลิกกิจการ นอกจากนี้ ยังมีมาตรการพักชำระหนี้ที่จะหมดอายุ 22 ต.ค.นี้ หรือ ซอฟต์โลนวงเงิน 5 แสนล้านบาทที่ยังใช้ไปได้กว่า 1 แสนล้านบาท” ดร.เชาว์กล่าว

ดร.เชาว์ กล่าวว่า มาตรการต่าง ๆที่จะออกมาหลังจากนี้ คงต้องช่วยดูแลสถานการณ์ ทั้งการช่วยเหลือภาคธุรกิจ หรือในแง่เม็ดเงินที่จะช่วยดูแลไม่ให้ธุรกิจมีการลดพนักงาน หรือ ปิดกิจการ อย่างไรก็ดี เนื่องจากประเทศมีเงินจำกัด ขณะที่จำนวนธุรกิจมีมาก ดังนั้น จึงอาจต้องเน้นช่วยเหลือธุรกิจที่จะอยู่รอดได้จริง
“มองในแง่ดี ตอนนี้เรายังมีกระสุน เพราะเงินกู้ก้อน 4 แสนล้านบาท ยังใช้ไปไม่เกิน 1 แสนล้านบาท แต่ปัญหาการใช้เงินก็คือ ต้องวางแผนในการนำไปใช้ให้เหมาะสม เพราะถ้าใช้หมดแล้ว ไม่พอ ก็ต้องกู้ใหม่ ซึ่งจะเป็นประเด็น ดังนั้น รัฐก็คงดูตามสถานการณ์ และเข้าใจว่า ภาครัฐก็พยายามรักษาวินัยการเงินการคลัง พร้อมกับคิดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไปด้วย ตามความจำเป็น” ดร.เชาว์กล่าว

สำหรับมาตรการพักหนี้ที่จะหมดลงนั้น ธปท. ให้สถาบันการเงินพิจารณาช่วยเหลือลูกหนี้ต่อ ซึ่งก็คงดูเป็นรายกรณีไป โดยต้องยอมรับว่า ลูกหนี้ที่จะกลับมาชำระหนี้ได้ก็มี แต่ที่จะกลับมายังไม่ได้ก็มี อย่างกลุ่มธุรกิจด้านการท่องเที่ยว เป็นต้น ดังนั้นการออกแบบความช่วยเหลือ ก็คงต้องว่ากันไปตามสถานการณ์ของลูกหนี้แต่ละราย

ส่วนหนี้ครัวเรือนที่สูงสุดในรอบ 18 ปี และ ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นนั้น ดร.เชาว์ กล่าวว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาที่มีมาก่อนแล้ว โดยปัจจุบันอยู่ในระดับที่สูง และแนวโน้มน่าจะลดลงได้ยาก เนื่องจากขณะนี้ครัวเรือนจำนวนประสบปัญหาขาดรายได้ เนื่องจากไม่มีงานทำ ดังนั้น ก็ต้องดูแลรักษาการจ้างงานไว้ให้ได้ เพราะคนจะคืนหนี้ได้ ก็ต้องมีงานทำ ต้องมีรายได้ และมีเงินเหลือเพียงพอ


ทั้งนี้ เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (1 ต.ค.2563) ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้จัดพิธีรับส่งมอบงานตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท. โดยนายวิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการ ธปท. ส่งมอบงานให้กับ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. (ธปท.) คนใหม่ ซึ่งเข้าทำงานเป็นวันแรก ในฐานะผู้ว่าการ ธปท. คนที่ 21 ณ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานใหญ่