แบงก์ใหญ่ปรับกลยุทธ์แก้หนี้ บริหารเองแทนตัดขายแก้ปมถูกกดราคา

(ซ้าย) เดชา ตุลานันท์ - ขัตติยา อินทรวิชัย (ขวา)
(ซ้าย) เดชา ตุลานันท์ - ขัตติยา อินทรวิชัย (ขวา)

แบงก์รีดรายได้ทุกเม็ด งัดกลยุทธ์บริหารหนี้เอง ซีอีโอ “กสิกรฯ” มองทำกำไรได้ดีกว่า-ลุยตกแต่งทรัพย์ขายเอง แถมได้ช่วยประคองลูกค้า “แบงก์กรุงเทพ” ระบุบริหารเองมาตลอด-มองผลดีระยะยาว “ราคาทรัพย์” เพิ่มขึ้นฟาก “ไทยพาณิชย์-ทีเอ็มบี” เปิดทางเลือก2 ออปชั่น ทั้ง “บริหารเอง-ตัดขาย” ขึ้นกับสถานการณ์-ลูกหนี้แต่ละราย

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันธนาคารมีนโยบายการบริหารจัดการหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เอง แทนการตัดขายพอร์ตลูกหนี้ออกไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) บริหาร เนื่องจากสามารถสร้างรายได้ได้ดีกว่าการตัดขายออกไป ซึ่งสินทรัพย์บางอย่าง โดยเฉพาะที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นหลักประกันที่มีคุณภาพ พบว่าราคายังดีอยู่ ดังนั้น หากธนาคารนำมาตกแต่งก่อนขายออกไป ก็สามารถทำรายได้ได้เพิ่มขึ้นอีก

นอกจากนี้ ยังมองว่าหากธนาคารสามารถยืดระยะเวลาให้ลูกหนี้ โดยไม่รีบตัดขายออกไป เมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ลูกหนี้เหล่านี้อาจจะกลับมารอดได้ และยังอาจจะขยายธุรกิจเพิ่มเติมได้อีกหลังจากนั้น

“เราคิดแบบนี้ คือ คนที่ซื้อหนี้ไปและไปขายต่อ ทำไมเขามีกำไร แปลว่าเราเองก็สามารถทำได้ โดยหากย้อนกลับไปในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ก็เห็นว่า ถ้าเราดูแลลูกค้ายื้อเวลาช่วยเขาไปได้ ไม่รีบตัดขาย เขาก็รอด เพราะฉะนั้นวันนี้เมื่อเรามีทุนหนา เราก็ยืดไป จนกว่าเขาจะกลับมา ซึ่งเมื่อเขากลับมาได้แล้ว วันหนึ่งเขาก็อาจจะมีธุรกิจเพิ่มเติมได้ แต่ถ้าเราตัดขายเลย ลูกหนี้จะไปอยู่กับใครที่ไม่คุ้น แล้วถ้าสุดท้ายเขาฟื้นกลับมาได้ เขาก็จะไม่กลับมาหาเราแล้ว ดังนั้นก็ต้องดูแลกันด้วย” นางสาวขัตติยากล่าว

นายอารักษ์ สุธีวงศ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การบริหารจัดการเอ็นพีแอล ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 เป็นยุทธศาสตร์หลักเรื่องหนึ่งที่ธนาคารให้ความสำคัญ โดยธนาคารมีการพิจารณาดำเนินการในทุกช่องทาง ทั้งการบริหารจัดการหนี้เอง และการตัดขายหนี้ให้กับพันธมิตรทางธุรกิจที่ดำเนินธุรกิจบริหารหนี้อยู่แล้ว ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารจัดการเอ็นพีแอลมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับสถานการณ์มากที่สุด

“เราเปิดออปชั่นไว้ ทั้งการบริหารหนี้เอง และนโยบายการตัดขายหนี้ให้กับคนที่ชำนาญ ไม่มีสูตรตายตัว แต่ยอมรับว่าเป็นยุทธศาสตร์หลักเรื่องหนึ่งเลยที่เราต้องดู เพราะเป็นช็อกที่เข้ามาในระบบและมีผลต่อธนาคาร” นายอารักษ์กล่าว

นายเดชา ตุลานันท์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ธนาคารใช้วิธีการบริหารจัดการหนี้เอง โดยจะติดตามลูกหนี้ เพื่อดูตัวเลขต่าง ๆ ทั้งกระแสเงินสด (cash flow) ทั้งรายได้ ฯลฯ หลังจากได้มีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าไป ส่วนการตัดขายหนี้ ธนาคารกรุงเทพไม่มีนโยบายดำเนินการแต่อย่างใด

นายศิริเดช เอื้องอุดมสิน รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ธนาคารใช้วิธีการบริหารจัดการหนี้เองมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้มีการตัดขายออกจากพอร์ตธนาคารแต่อย่างใด เนื่องจากมองว่าหากสถานการณ์หรือภาวะเศรษฐกิจมีทิศทางที่ดีขึ้น หรือเศรษฐกิจกลับมาขยายตัว จะส่งผลให้ราคาสินทรัพย์เหล่านี้เพิ่มขึ้น

“แม้ว่าวิธีการบริหารจัดการเองจะทำให้ตัวเลขงบดุล (balance sheet) ของธนาคารออกมาไม่ค่อยสวยก็ตาม แต่จะเป็นผลดีในระยะยาว” นายศิริเดชกล่าว

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย (TMB) กล่าวว่า ธนาคารเลือกใช้วิธีการบริหารจัดการเอ็นพีแอลทั้ง 2 แนวทาง คือ การตัดขายหนี้ให้กับผู้ที่เชี่ยวชาญ และการบริหารจัดการหนี้เอง โดยธนาคารจะประเมินตามศักยภาพของลูกค้าเป็นหลัก ไม่ได้มองถึงกลุ่มสินเชื่อ อาทิ กลุ่มสินเชื่อรายย่อย อย่างเช่นสินเชื่อบ้านหรือสินเชื่อรถยนต์, กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ เป็นต้น

โดยธนาคารจะพิจารณาดูความตั้งใจของลูกค้า หากลูกค้าให้ความร่วมมือดีในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ธนาคารก็พร้อมจะดูแลลูกค้าต่อไป แต่หากไม่สามารถติดต่อลูกค้าได้ หรือติดต่อลำบาก ธนาคารก็จะพิจารณาตัดขายออกไปให้ผู้เชี่ยวชาญที่มีความพร้อมในการติดตามหนี้ดำเนินการต่อ

“เราทำทั้ง 2 แนวทาง ทั้งตัดขายและบริหารจัดการเอง โดยเราจะคำนวณดูว่าพอร์ตไหน ถ้าเราบริหารไม่เก่งเท่าผู้เชี่ยวชาญ เราก็ตัดขาย หรือลูกค้ารายไหนให้ความร่วมมือเราก็ดูแลเอง แต่หากลูกค้าขาดหายไป ไม่ให้ความร่วมมือเราก็คงต้องตัดขายทิ้งให้ผู้เชี่ยวชาญทำ อย่างไรก็ดี แนวโน้มในไตรมาส 4 นี้ คาดว่าจะมีสัดส่วนในการบริหารจัดการเองมากกว่าการตัดขาย” นายปิติกล่าว

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) กล่าวว่า เนื่องจากราคารับซื้อหนี้จากบรรดาบริษัทบริหารสินทรัพย์ ไม่จูงใจให้แบงก์ตัดหนี้ขาย เพราะมีการรับซื้อในราคาส่วนลด (discount) ที่ค่อนข้างมาก แบงก์จึงเลือกเก็บหนี้ไว้บริหารเอง ซึ่งจะคุ้มค่ากว่า