“กรุงไทย”พ้นสถานะรัฐวิสาหกิจ ปลดล็อกข้อจำกัดแต่งตั้ง”บอร์ด-เอ็มดี”

ธนาคารกรุงไทยเปิดเสาร์-อาทิตย์
แฟ้มภาพ

“แบงก์กรุงไทย” ส่อหลุดสถานะรัฐวิสาหกิจ สะพัดกฤษฎีกาวินิจฉัย “FIDF” ผู้ถือหุ้นใหญ่แบงก์เป็น “องค์การมหาชน” ส่งผลให้แบงก์พ้นสถานะรัฐวิสาหกิจไปด้วย สคร.แจงสถานะเปลี่ยนแค่กฎหมาย 3 ฉบับ มองแง่ดีหนุนบริหารคล่องตัวขึ้น ปลดล็อกข้อจำกัดแบงก์ “ตั้งบอร์ด-ผู้บริหาร”ชี้กรรมการอายุเกิน 65 ปีได้ ส่วน “เอ็มดี”อายุเกิน 60 ปีได้

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธนาคารกรุงไทยอาจจะพ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ที่มีนายพนัส สิมะเสถียร เป็นประธาน ได้วินิจฉัยประเด็นที่ทางกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน(FIDF) ได้ขอให้ตีความว่า FIDF และธนาคารกรุงไทย มีสถานภาพเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่ ซึ่งมีกระแสออกมาว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาชุดดังกล่าว วินิจฉัยว่า FIDF ไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจ แต่เป็นองค์การมหาชน อันจะส่งผลให้ธนาคารกรุงไทยที่ FIDF ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 55% ไม่มีสถานภาพเป็นรัฐวิสาหกิจตามไปด้วย

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังต้องรอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาชุดดังกล่าว มีมติตีความออกมาอย่างเป็นทางการก่อน

สคร.ชี้ขึ้นกับกฎหมายแต่ละฉบับ

ผู้สื่อข่าวได้สอบถาม นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ถึงกรณีดังกล่าว ได้รับคำตอบว่า ตามที่ปรากฏข่าวออกมานั้น คณะกรรมการกฤษฎีกา เพียงตอบคำถามในขอบเขตของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจเพียงอย่างเดียว แต่ไม่ได้หารือภายใต้ขอบเขตกฎหมายฉบับอื่น ดังนั้น จะสรุปไม่ได้ว่าธนาคารกรุงไทยไม่มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งหากจะให้ถูกต้อง ต้องชี้ว่า ธนาคารกรุงไทยไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ, พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ และ พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์

“อย่างไรก็ตาม ธนาคารกรุงไทยยังเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้นิยามใน พ.ร.บ.อื่น ๆ เช่น พ.ร.บ.บริหารหนี้สาธารณะ เป็นต้น ดังนั้น ธนาคารกรุงไทยจึงไม่ได้พ้นสถานะจากการเป็นรัฐวิสาหกิจโดยสิ้นเชิง” นายประภาศกล่าว

ทั้งนี้ พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ เริ่มบังคับใช้เมื่อปี 2562 ซึ่งให้นิยามของรัฐวิสาหกิจ บริษัท และบริษัทมหาชน ที่กระทรวงการคลังถือหุ้นมากกว่า 50% โดยธนาคารกรุงไทยไม่เข้าเกณฑ์ส่วนนี้ เนื่องจากกระทรวงการคลังไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นกรุงไทย แต่กองทุน FIDF เป็นผู้ถือหุ้นมากกว่า 50%

“หากมองในมุมภาครัฐ ที่ดูแลกองทุน FIDF ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น ธนาคารกรุงไทยก็ยังเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่ถ้ามองในแง่กฎหมายจะไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ แต่แม้ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ แต่ก็เป็นภายใต้กฎหมายอื่น เช่น พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน (PPP) รวมทั้ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง เป็นต้นดังนั้น หากจะบอกว่าสถานะของกรุงไทยไม่เป็นรัฐวิสาหกิจเลย ก็คงจะไม่ตรงกับความเป็นจริง”

“FIDF” มอบอำนาจคลังกำกับได้

ขณะที่ในแง่การกำกับดูแลนั้น นายประภาศกล่าวว่า แม้ สคร.อาจจะไม่มีอำนาจในการกำกับดูแลกรุงไทยโดยตรง แต่กองทุน FIDF ก็สามารถมอบอำนาจให้กระทรวงการคลังเข้าไปกำกับดูแลได้เหมือนเดิม ซึ่งสุดท้ายแล้วก็เป็นภาครัฐเหมือนเดิม เพราะ FIDF เป็นกองทุนที่ตั้งขึ้นภายใต้ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

“ธปท.หรือ FIDF สามารถมอบอำนาจมาให้กระทรวงการคลังดูแลได้ ดังนั้น ผมมองว่าไม่มีผลเสียอะไรเลย”

ปลดล็อก “ตั้งบอร์ด-ผู้บริหาร”

นายประภาศกล่าวอีกว่า ก่อนที่จะมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ คณะกรรมาธิการหรือผู้ที่ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ก็ทราบรายละเอียดการกำกับดูแลกรุงไทยตั้งแต่แรก แต่มองว่าไม่ได้มีความเสียหายเนื่องจากกรุงไทยเป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงอยู่ภายใต้กฎหมายของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รวมถึง พ.ร.บ.บริษัทมหาชนอยู่แล้ว ซึ่งการกำกับดูแลภายใต้กฎหมายเหล่านี้ มีมาตรฐานสูงอยู่แล้ว

“ถ้าให้สถานภาพรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ เข้าไปกำกับกรุงไทยจะทำให้เกิดความซ้ำซ้อนและยุ่งยาก แต่การที่กรุงไทยไม่ได้อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ดังกล่าว จะทำให้แบงก์สามารถบริหารจัดการได้คล่องตัว และมีศักยภาพมากกว่าเดิม เพราะถ้าเป็นรัฐวิสาหกิจ จะติด พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และ พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ที่มีข้อจำกัดให้บอร์ดทำงานได้แค่อายุ 65 ปี หรือแม้แต่กรรมการผู้จัดการใหญ่ ก็สามารถนั่งเก้าอี้ได้มากกว่าอายุ 60 ปีก็ได้ ก็จะทำให้มีตัวเลือกมากขึ้น

นายประภาศกล่าวด้วยว่า ธนาคารกรุงไทยยังสามารถมีสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ในฐานะสถาบันการเงินของรัฐได้ โดยสามารถได้รับสิทธิต่าง ๆ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เหมือนเดิม ดังนั้น สิทธิประโยชน์ที่ผ่านมา ภายใต้มติ ครม.ก็จะยังคงอยู่เช่นเดิม

“ผยง” รอกฤษฎีกาสรุปคำวินิจจัย

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดที่ชัดเจนเรื่องนี้ โดยต้องรอคณะกรรมการกฤษฎีกา สรุปคำวินิจฉัยออกมาเป็นทางการก่อน

“ประเด็นเรื่องการตีความกฎหมาย ตอนนี้ผมยังไม่รู้รายละเอียด จะต้องรอการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเราไม่ได้เป็นคนถามไป” นายผยงกล่าว