“อาคม” เปิดทาง สบน. กู้เงินต่างประเทศ

รมว.คลัง มอบนโยบาย สบน. เปิดทางกู้เงินต่างประเทศ เพื่อกระจายแหล่งเงินกู้ ยันปี’64 หนี้สาธารณะไม่เกิน 60% ตามกรอบวินัยการเงินการคลัง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ว่า ได้ให้สบน. ศึกษาแนวทางการกู้เงินต่างประเทศ จากเดิมที่ใช้นโยบายการกู้เงินในประเทศเป็นหลัก  ซึ่งจะต้องมีการกระจายแหล่งเงินกู้ เนื่องจาก​ในช่วงโควิด-19​ ความต้องการเงินกู้ในประเทศของภาคเอกชนอาจสูงขึ้น โดยสบน. สามารถกู้ได้ทั้งจากสถาบันการเงินในต่างประเทศ และตลาดทุนอื่นๆ ซึ่งในเรื่องดังกล่าวจะมีการเข้าไปหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อีกครั้ง

“การกู้เงินในประเทศ และต่างประเทศ มีต้นทุนใกล้เคียงกัน ซึ่งการกู้เงินจากต่างประเทศจะเป็นอีกช่องทางในการกระจายการกู้เงิน แล้วการกู้เงินในต่างประเทศก็มีเงื่อนไขที่สามารถนำมาพัฒนาประเทศต่อได้ อย่างไรก็ดี ในปีงบประมาณ 2564 ยังไม่มีแผนการกู้เงินต่างประเทศ ตามพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท นอกจากที่กู้เงินกับธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) 1,500 ล้านบาทต่อดอลลาร์ แต่ในปีงบประมาณนี้ สบน. มีกรอบการกู้เงินต่างประเทศ ตามแผนพัฒนาประเทศที่ตั้งไว้ 4 หมื่นล้านบาท”

สำหรับการกู้เงินในต่างประเทศนั้น จะต้องพิจารณาเงื่อนไขสำคัญ  4 เรื่อง ได้แก่ 1.การกู้เงินแลกกับเงื่อนไขการถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศ 2.การใช้ลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิงแวดล้อมและลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ 3.การใช้ลงทุนในเชิงสังคม โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพและสุขอนามัย นำไปสู่โอกาสในการขยายในธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการดูแลผู้สูงอายุ และ 4.การกู้เพื่อปิดหีบงบประมาณตามปกติ ซึ่งต้องดูว่าเมื่อสิ้นสุดปีจะเหลือช่องว่างเท่าไร

ทั้งนี้ ได้รับรายงานจาก สบน. ว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะขณะนี้อยู่ที่ 49.34 % ต่อจีดีพี และในปี 2564 เมื่อพิจารณาจากแผนการเบิกจ่ายและบริหารหนี้แล้ว สัดส่วนหนี้สาธารณะยังคงอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง แม้จะรวมการกู้เงินตามปกติและการกู้เงินตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.)เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท โดยหนี้สาธารณะจะไม่เกิน 60% ต่อจีดีพี ภายใต้สมมติฐาน ปี 2564 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 4%