อีไอซี เกาะติดยอดปิดกิจการ-คนตกงานพุ่งฉุดจีดีพีปี 64 โต 3.8%

อีไอซี ประเมินเศรษฐกิจปี 64 ขยายตัว 3.8% จับตา 3 บาดแผลฉุดรั้งการเติบโต การปิดกิจการ-ตลาดแรงงานเปราะบาง-หนี้ครัวเรือนพุ่งคาดจุดพีค 88% เผยนโยบายการคลังยังสำคัญ มองมาตรการกระตุ้นเศรษกิจ 0.53% ของจีดีพี

นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ EIC เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ประเมินว่าจะขยายตัวระดับ 3.8% จากปีนี้คาดว่าจะติดลบน้อยลงอยู่ที่ -6.5% จากประมาณการเดิมอยู่ที่ -7.8% อย่างไรก็ดี แม้ว่าปีหน้าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้แต่ยังไม่กลับไปสู่ระดับก่อนช่วงโควิด-19 ซึ่งคาดว่าจะกลับมาขยายตัวปกติในปี 2565

โดยปัจจัยหนุนเศรษฐกิจปี 2564 มาจาก 2 ส่วน คือ ความคืบหน้าของวัคซีนที่จะมีผลต่อการส่งออกให้ขยายตัวดีขึ้น คาดว่าจะเติบโตอยู่ที่ 4.7% จากปีนี้หดตัว -8% อย่างไรก็ดี ยังมีความท้าทายในระยะสั้นในเรื่องของการล็อกดาวน์ในต่างประเทศที่จะมีผลในไตรมาสที่ 4 ไปถึงไตรมาสที่ 1 ของปี 2564

และ 2.นักท่องเที่ยวต่างชาติมีสัญญาณดีขึ้น หลังจากไทยได้รับวัคซีนในช่วงกลางปีหรือเดือนมิถุนายน ส่งผลต่อการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว โดยคาดว่าจะเริ่มเห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในไตรมาสที่ 3-4 จากคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปีอยู่ที่ 8.5 ล้านคน จากปีนี้อยู่ที่ 6.7 ล้านคน

“เราผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ แต่การฟื้นตัวกลับไปสู่ระดับเดิมคงต้องใช้เวลาน่าจะประมาณปี 65 โดยปัจจัยหลักอยู่ที่เรื่องของวัคซีนที่จะเป็นตัวกำหนด ทั้งการผลิต การแจกจ่ายอย่างทั่วถึง ซึ่งเราได้สั่งซื้อไปประมาณ 26 ล้านโดส หรือรองรับ 13 ล้านคน ต้องดูการกระจาย”

นายยรรยงกล่าวอีกว่า สำหรับปัจจัยที่กดดันการเติบโตเศรษฐกิจในปี 2564 มีอยู่ 3 บาดแผลหลัก คือ 1.แนวโน้มการปิดกิจการที่เร่งตัวสูงขึ้นจากระดับ 7.7% และเฉพาะในเดือนกันยายน-ตุลาคมเพิ่มขึ้นถึง 35% สะท้อนภาพการลงทุนและการจ้างงาน 2.ตลาดแรงงาน จะเห็นว่าตัวเลขการว่างงานอยู่ที่ระดับ 2.1% หรือคิดเป็นคนตกงานราว 7-8 แสนคน สะท้อนตลาดแรงงานยังคงมีความเปราะบาง เพราะเชื่อว่าอัตราการว่างงานยังไม่ถึงจุดพีค โดยตัวเลขจากประกันสังคมอยู่ที่ 4.4% จากตัวเลขในระบบ 11-12 ล้านคน รวมถึงชั่วโมงการทำงานที่ลดลงมีผลต่อรายได้ของครัวเรือน

และ 3.สัดส่วนหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงที่ 83.8% และจะยังสูงต่อเนื่องถึงไตรมาสที่ 1 ปี 2564 และจะพีคในไตรมาสที่ 2 อยู่ที่ระดับ 88% โดยตัวเลขหนี้ครัวเรือนระดับดังกล่าวถือว่าสูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนา แม้ว่าภาคสถาบันการเงินจะมีมาตรการช่วยเหลือการปรับโครงสร้างหนี้ แต่จะพบว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นปัจจัยฉุดรั้งการใช้จ่ายและการบริโภค โดยในปีหน้ามองการบริโภคจะขยายตัวเล็กน้อยที่ระดับ 2.5% จากปีนี้หดตัว -1.1% ซึ่งน้อยกว่าช่วงปกติที่ขยายตัวปีละ 3% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัว 4.9% จากปีนี้หดตัว -11%

ส่วนนโยบายการคลัง จะพบว่ามาตรการกระตุ้นเศษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา 4-5 โครงการ ทั้งชิมช้อปใช้ เราเที่ยวด้วยกัน คนละครึ่ง ช้อปดีมีคืน และอิ่น ๆ ส่งผลบวกต่อจีดีพีประมาณ 0.53% อย่างไรก็ดี มองว่าในระยะข้างหน้าภาครัฐควรให้น้ำหนักกับมาตรการเพื่อการฟื้นฟูให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งในเรื่องของการ Re-Skill และ Up Skill และยกระดับภาคเอสเอ็มอีสู่ดิจิทัล และการเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยภายใต้งบประมาณราว 5 แสนล้านบาท

ขณะที่นโยบายการเงินมองว่า ธปท.จะยังคงอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับ 0.50% ต่อปีตลอดทั้งปี รวมถึงการออกมาตรการเฉพาะจุดมากขึ้น เพื่อให้กระจายไปสู่เซ็กเมนต์ต่าง ๆ ได้ดีขึ้น เช่น มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) และ Warehousing ผ่านบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ต่าง ๆ