คลังกู้เงินเพิ่ม 5 หมื่นล้าน หนุนรัฐเดินหน้า “คนละครึ่ง เฟส 2”

คนละครึ่ง

หลังจากพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท)บังคับใช้ ปัจจุบันจากการรายงานบนเว็บไซต์ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) พบว่ามีการกู้เงินตาม พ.ร.ก.นี้ไปแล้ว 335,726.05 ล้านบาท (ณ สิ้นเดือน ต.ค. 2563)

ซึ่งเป็นการกู้เงินในปีงบประมาณ 2563 (ต.ค. 2562-ก.ย. 2563) เพื่อจ่ายเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในระยะแรก ทำให้ยังเหลือวงเงินอีกกว่า 600,000 ล้านบาทซึ่งล่าสุด สบน.ได้มีประกาศเตรียมกู้เงินเพิ่มเติมในปีงบประมาณ 2564

หนี้สาธารณะ ต.ค. จ่อทะลุ 50%

ล่าสุดยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ต.ค. 2563 ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 อยู่ที่ 7.8 ล้านล้านบาท หรือ 49.53% ของ GDP ขยับขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ 49.34% ประกอบด้วย หนี้รัฐบาลกว่า 6.7 ล้านล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจกว่า 800,000 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจในภาคการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) กว่า 300,000 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานของรัฐอีกกว่า 7,700 ล้านบาท

กู้เพิ่ม 5 หมื่นล้าน กระตุ้นเศรษฐกิจ

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสบน. เปิดเผยว่า สบน.ได้เตรียมกู้เงิน วงเงินรวม 5 หมื่นล้านบาท ภายใต้กรอบวงเงินตาม พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เพื่อเป็นการเตรียมเม็ดเงินสนับสนุนมาตรการกระตุ้นการบริโภคของรัฐ อย่างเช่น โครงการคนละครึ่ง เฟส 2 เป็นต้น

โดยการกู้เงินในครั้งนี้ สบน.จะใช้เครื่องมือ 2 ส่วน ได้แก่ 1) การออกตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) วงเงิน 20,000 ล้านบาท และ 2) ทำสัญญาการกู้เงินในรูปแบบเทอมโลน (term loan) วงเงิน 30,000 ล้านบาท ทั้งนี้ จะมีการเปิดประมูลพร้อมกันในวันที่ 23 ธ.ค.นี้ และคาดว่าจะมีการเบิกใช้เงินกู้ในปี 2564 ซึ่งจะเป็นการทยอยเบิกเงินตามความจำเป็นในการใช้

“เราได้มีการเตรียมกู้เงินไว้รองรับมาตรการของรัฐ อย่างเช่น โครงการคนละครึ่ง เฟส 2 ซึ่งอาจจะใช้เงินจำนวนมาก เพราะที่ผ่านมาโครงการคนละครึ่ง เฟสแรก ก็มีการทยอยเบิกเงินออกไปใช้เรื่อย ๆ ส่วนมาตรการต่ออายุเติมเงินใส่บัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่ม 500 บาทอีก 3 เดือน ยังไม่ได้สรุปว่าจะใช้เงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้ หรืองบประมาณจากส่วนใด ขึ้นกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)” นางแพตริเซียกล่าว

ยันกู้ตามความจำเป็น

ทั้งนี้ การจะใช้จ่ายเงินกู้แต่ละครั้ง สบน.มีหน้าที่เปิดวงเงินกู้เตรียมไว้ แต่อาจจะยังไม่จำเป็นต้องเบิกมาใช้จ่ายทั้งหมด อย่างเช่น เงินกู้จากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) วงเงิน 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 45,000 ล้านบาท ก็เป็นการกำหนดกรอบการกู้เงินไว้ แต่ยังไม่มีการกู้เงินจริง แต่จะกู้มาใช้เมื่อจำเป็น เมื่อมีความต้องการใช้เงิน เพื่อไม่ให้เป็นการเพิ่มภาระเรื่องดอกเบี้ย

ส่วนในอนาคตจะกู้ถึง 1 ล้านล้านบาทหรือไม่นั้น นางแพตริเซียกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ เพราะต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐ แต่หากในอนาคตมีความจำเป็นในการใช้เงินเพิ่มเติม สบน.ก็มีช่องทางในการดำเนินการกู้เงินมาให้ได้โดยไม่มีปัญหาเรื่องการดำเนินงาน

“ปัจจุบัน สบน.ได้มีการศึกษาและหาเครื่องมือเพื่อจะนำมาใช้กู้เงินได้อย่างเหมาะสม ทั้งพิจารณาแพ็กเกจการกู้เงินจากต่างประเทศ และเครื่องมืออื่น ๆ ด้วย อย่างไรก็ดี ขณะนี้ความต้องการใช้เงินยังไม่ได้มีมาก จึงยังไม่ได้มีการตัดสินใจใช้แพ็กเกจการกู้เงินจากต่างประเทศเพิ่ม” นางแพตริเซียกล่าว

จี้เร่งเบิก 1.2 แสนล้านบาท

นางแพตริเซียกล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการกู้เงินภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทแล้ว ราว 338,000 ล้านบาท คิดเป็น 34% โดยในส่วนการใช้เงินกู้รายการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมวงเงิน 400,000 ล้านบาท ที่ล่าสุด ครม.อนุมัติโครงการที่สามารถใช้จ่ายเงินกู้ไปแล้วกว่า 120,000 ล้านบาท

แต่ยังเบิกจ่ายล่าช้า หรือเบิกจ่ายได้เพียง 2,670 ล้านบาทนั้น เป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงบประมาณ และคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ก็ได้มีการเร่งติดตามให้มีการเบิกจ่ายได้เร็วขึ้น และ ครม.ก็ให้ความสำคัญและกำชับให้เร่งรัดเบิกจ่ายเพื่อให้เม็ดเงินเข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ

“ที่ผ่านมา ค่อนข้างติดในเรื่องกระบวนการ แต่ขณะนี้แก้ไขได้แล้ว จากที่หน่วยงานที่ได้รับการอนุมัติโครงการยังเข้าใจผิดเรื่องการเบิกจ่ายเงินอยู่ โดยขั้นตอนการดำเนินการหลัง ครม.อนุมัติโครงการแล้ว สำนักงบฯจะเป็นผู้อนุมัติงวดจ่ายเงินว่าหน่วยงานจะใช้จ่ายเดือนละเท่าไหร่ และทุกหน่วยงานที่ผ่านการอนุมัติโครงการจะต้องแจ้งความต้องการใช้เงินเป็นรายเดือนให้กับ สบน.แล้วเราก็จะเตรียมเงินใส่ไว้ในถังให้” นางแพตริเซียกล่าว

ออกบอนด์ออมทรัพย์ “ตรุษจีน”

สำหรับแผนการออกพันธบัตรออมทรัพย์ในปีงบประมาณนี้ ผู้อำนวยการ สบน.กล่าวว่า ยังไม่ได้เร่งออกพันธบัตรออมทรัพย์เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน้ เนื่องจากช่วงนี้อยากให้ประชาชนใช้จ่ายผ่านโครงการคนละครึ่งก่อน ไม่ต้องการไปแย่งกำลังซื้อของประชาชน อย่างไรก็ดี คาดว่าจะมีพันธบัตรออมทรัพย์ออกมาเพื่อเป็นของขวัญในช่วงตรุษจีน หรือคาดว่าจะเห็นได้ในไตรมาส 1 ของปี 2564

“ขอดูช่วงเวลาชัด ๆ อีกครั้งว่าช่วงไหนเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม และความต้องการใช้เงินยังมี และคิดว่าตลาดพร้อมที่เราจะออกมา รวมทั้งจะต้องดูประกอบกับภาคเอกชนที่ออกหุ้นกู้ด้วย ซึ่งต้องดูส่วนนั้นด้วย หากเขามีความต้องการระดมทุน เราก็จะเลี่ยงไปก่อน อย่างไรก็ดี สบน.ยังมีเป้าหมายออกพันธบัตรออมทรัพย์ในปีงบประมาณ 2564 วงเงินรวมไม่เกิน 1 แสนล้านบาท” ผู้อำนวยการ สบน.กล่าว

ในท่ามกลางวิกฤตและเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า การกู้เงินมาใช้จ่าย รัฐบาลก็คงพยายามเน้นโครงการที่ให้ประสิทธิผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้มากที่สุดไม่เช่นนั้นจะถูกมองว่า “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” อย่างไรก็ดี สิ่งที่หลายฝ่ายอยากให้ดำเนินการมากกว่า น่าจะเป็นเรื่องการตัดลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ก่อนที่จะเดินหน้ากู้เงินนั่นเอง