แห่ติดปีก “โมบายแบงกิ้ง” ปีฉลู แบงก์งัดสารพัดฟีเจอร์ดึงลูกค้าใช้งาน

โมบายแบงกิ้ง

แบงก์แข่งอัพเกรดโมบายแบงกิ้งชิงลูกค้าปี’64 “ธนาคารกรุงเทพ” เล็งไตรมาส 2 เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ครบเครื่อง ทั้งด้าน “การออม-ลงทุน-โอนต่างประเทศ/ชำระเงิน-บัญชี FCD-ปล่อยกู้ออนไลน์” หวังเพิ่มฐานลูกค้าทะลุ 10 ล้านราย ขณะที่ “ทีเอ็มบี” จ่อรวบโมบายแบงกิ้ง 2 แบงก์เหลือแอปเดียว ขยายฐานลูกค้าพุ่ง 10 ล้านราย ฟาก “กสิกรไทย” ดัน K PLUS สู่ “digital lifestyle ecosystem” ต่อยอดธุรกิจ-ฐานลูกค้าใหม่ ดันฐานลูกค้าทะลุ 15 ล้านราย

นางปรัศนี อุยยามะพันธุ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปี 2564 นี้ แผนดำเนินงานด้านโมบายแบงกิ้งของธนาคารจะเน้นการขยายฐานลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรหลากหลายเซ็กเตอร์

เช่น กลุ่มซื้อขายออนไลน์ (e-Commerce) กลุ่มคมนาคม-โลจิสติกส์ และกลุ่มรีเทล (รายย่อย) ที่จะร่วมมือกันทั้งด้านระบบการชำระเงิน การเปิดบัญชีออนไลน์ และการปล่อยสินเชื่อออนไลน์ ซึ่งตั้งเป้าขยายฐานผู้ใช้งานแอปพลิเคชั่นโมบายแบงกิ้งของธนาคารเพิ่มอีก 3 ล้านราย จากสิ้นปี 2563 อยู่ที่ 9.1 ล้านราย

โดยอยู่ระหว่างพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ ๆ บนโมบายแบงกิ้ง 3-4 ฟีเจอร์ ซึ่งจะเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มและบริษัทในเครือ จะทยอยออกมาในไตรมาสที่ 2 เช่น 1.การออมและการลงทุน กองทุนและประกัน ซึ่งลูกค้าสามารถทำธุรกรรม จัดพอร์ตลงทุนตามความเสี่ยง และซื้อผลิตภัณฑ์ประกันออนไลน์ได้

2.การชำระเงิน-โอนเงินแบบหลากหลายและง่าย (easy pay) เช่น โอนเงินไปต่างประเทศ (cross border) ซึ่งอยู่ระหว่างพัฒนาบริการโอนไปประเทศเวียดนาม หลังจากสามารถโอนไปญี่ปุ่นได้แล้ว รวมถึงการใช้เครือข่ายของ UnionPay-TPN ที่สามารถชำระเงินได้หลายแสนจุดทั่วโลกผ่าน BeWallet

3.สนับสนุนการเปิดบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (FCD) ที่สามารถทำธุรกรรมสกุลเงินตราต่างประเทศ การลงทุนบัญชีทองคำ สอดคล้องกับนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ต้องการกระตุ้นให้ใช้บัญชี FCD ทำธุรกรรม เพื่อลดการแข็งค่าของเงินบาท

และ 4.การปล่อยสินเชื่อออนไลน์ต่อยอดจากการเปิดบัญชีออนไลน์ โดยจะเริ่มปล่อยสินเชื่อในกลุ่มลูกค้าเดินบัญชีเงินเดือนผ่านธนาคาร (payroll) ซึ่งเป็นกลุ่มพนักงานออฟฟิศ (white collar) รวมถึงร้านค้ารับชำระผ่าน QR code ที่สามารถต่อยอดปล่อยสินเชื่อได้ เพราะรู้พฤติกรรมเงินเข้า-ออก

“เราใช้เงินลงทุนหลายร้อยล้านบาท เพราะต้องลงทุนเทคโนโลยีใหม่ ๆ รวมถึงทีมงานที่จะต้องเพิ่มขึ้น เพื่อขยายงาน เช่น ทีม data analytic เป็นต้น เพราะเป็นช่วงของการเติบโตในด้านดิจิทัลแบงกิ้ง ไม่ต้องไปสาขาธนาคาร แต่ทำทุกอย่างบนแอปได้” นางปรัศนีกล่าว

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย (TMB) กล่าวว่า แบงก์อยู่ระหว่างควบรวม 2 ธนาคารเป็นแห่งเดียว ทำให้ฐานลูกค้าจาก 5 ล้านราย เพิ่มเป็น 10 ล้านราย โดยแผนด้านดิจิทัลแบงกิ้งและโมบายแอปพลิเคชั่น ซึ่งเป็นจุดแข็งของทีเอ็มบี จะต้องเหลือเพียง 1 แอป ภายในปี 2565

โดยจะทยอยรวมกัน เฟสแรกจะเริ่มเห็นในกลางปี 2564 ซึ่งจะนำแอป T-Connect ของธนชาต เข้ามารวมอยู่ในแอป “TMB Touch” หลังจากนั้นจะเปิดตัวแอปใหม่ โดยพัฒนาปรับปรุงและเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ ๆ ลงไปด้วย

ทั้งนี้ เนื่องจากฐานลูกค้าหลักของธนชาตจะเป็นสินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อที่อยู่อาศัย เมื่อรวมกันจะทำให้แบงก์มีส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ประมาณ 13-14% ของตลาด ซึ่งแบงก์จะพัฒนาแอปให้รองรับและเกื้อหนุนกับลูกค้ากลุ่มนี้มากขึ้น

ส่วนงบประมาณการลงทุนพัฒนาระบบไอที โดยเฉลี่ยในระบบธนาคารพาณิชย์จะใช้วงเงินในการลงทุนด้านดังกล่าวประมาณ 4-7% ของรายได้รวม ซึ่งทีเอ็มบีก็จะมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับกลาง ๆ คิดเป็นหลักพันล้านบาท

“ปีนี้เราคงโฟกัสกลุ่มลูกค้าเดิมก่อน เพราะรวมกันจะเป็น 10 ล้านราย โดยเราจะเอาคนที่ใช้บริการทั้ง 2 แอป มาอยู่บนแอปใหม่ ซึ่งจะมีฟีเจอร์ใหม่ ๆ เข้ามาคาดว่าในปี’65 เราน่าจะมีแอปชื่อใหม่ออกมา ส่วน ME by TMB จะไม่หายไป แต่จะเข้าไปอยู่ใน TMB Touch เนื่องจากลูกค้าประมาณ 60-70% เป็นฐานลูกค้าทัชอยู่แล้ว” นายปิติกล่าว

นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ยุทธศาสตร์สำคัญของแบงก์ ในปี 2564 คือ การทำให้แอป K PLUS เป็นแพลตฟอร์มที่แข็งแกร่งและครบวงจรมากยิ่งขึ้น สามารถเชื่อมโยงและตอบโจทย์ทุกคนที่อยู่ใน digital lifestyle ecosystem

ทั้งลูกค้า พันธมิตรชั้นนำ และธุรกิจต่าง ๆ เนื่องจากจะนำไปสู่โอกาสในการเพิ่มจำนวนลูกค้าใหม่ และสร้างโอกาสธุรกิจรูปแบบใหม่ ๆ ให้กับธนาคารกสิกรไทย

ขณะที่เมื่อจบปี 2563 คาดว่าลูกค้าผู้ใช้งาน K PLUS จะอยู่ที่ 15 ล้านราย เป็นลูกค้าใหม่ 1.6 ล้านราย และมีปริมาณการทำธุรกรรมทางการเงินรวมทุกประเภทกว่า 2,900 ล้านรายการ โดยปัจจุบันมีลูกค้าที่ล็อกอินเข้าใช้งาน K PLUS มากถึง 4 ล้านคนต่อวัน และมีปริมาณการทำธุรกรรมทางการเงินประมาณ 10 ล้านรายการต่อวัน คิดเป็นมาร์เก็ตแชร์ประมาณ 50% ของปริมาณธุรกรรมการเงินทั้งหมดของประเทศ

“เราต้องการเชื่อมโยงให้ K PLUS ไปอยู่ทุกที่ที่ลูกค้าต้องการใช้จ่ายทุกรูปแบบในโลกออนไลน์และออฟไลน์ ลูกค้าทำได้เอง ง่าย ๆ สะดวก ต่อเนื่องไม่มีสะดุด และปลอดภัย ไม่ต้องสลับหน้าจอ จบได้ภายในแอปเดียวที่ลูกค้าใช้เป็นประจำทุกวัน” นายพัชรกล่าว