บทเรียนกระจายหุ้น PTT หมดในเวลา 1.17 นาที สู่วิธีจัดสรรหุ้น OR

หุ้นไอพีโอที่ร้อนแรงแห่งปี 2564 คงต้องยกให้หุ้น บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ที่นักลงทุนให้ความสนใจกันทุกกลุ่มทั้งนักลงทุนสถาบันและรายย่อย

เพราะความยิ่งใหญ่ของบริษัท ประกอบกับที่ทุกคนมองเห็นโอกาสและการเติบโตของธุรกิจ ที่เป็นการผสมผสานของธุรกิจน้ำมัน และค้าปลีกอื่น ๆ ที่เป็น non-oil โดยเฉพาะร้านกาแฟ “อเมซอน” ที่มีการปูพรมขยายสาขาทั้งในและต่างประเทศมากกว่า 3,000 สาขา ที่ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น

หลังจากที่หุ้น OR ได้เลื่อนกำหนดการเสนอขายหุ้นไอพีโอมานานนับปี ในที่สุดบริษัทก็ประกาศเปิดจองหุ้นสำหรับนักลงทุนทั่วไป ระหว่างวันที่ 24 ม.ค.-2 ก.พ. 2564 ด้วยช่วงราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปอยู่ที่ 16-18 บาทต่อหุ้น

พร้อมกับการกำหนดวิธีการจัดสรรเพื่อที่กระจายหุ้นให้กับรายย่อยมากที่สุด โดยใช้วิธี “Small Lot First” เรียกว่า กลุ่มที่จองซื้อน้อยจะได้รับการจัดสรรก่อน โดยบริษัทจะจัดสรรให้ผู้จองซื้อแต่ละรายในรอบแรก 300 หุ้น และเพิ่มให้ทีละ 100 หุ้น จนครบตามยอดจอง โดยบริษัทจะวนไปเรื่อย ๆ จนครบจำนวนหุ้นที่จัดสรร และเป็นการเปิดจองผ่านธนาคารพาณิชย์ 3 แห่ง คือ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกรุงไทย

เรียกว่าเป็นการจัดสรรหุ้นที่ให้ความสำคัญกับการกระจายหุ้นในรายย่อยมาก ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะบทเรียนที่เจ็บแล้วต้องจำ ของการกระจายหุ้นบริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) เมื่อปี 2544 ที่ถือเป็นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจพลังงานของประเทศ เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่มีประชาชนและนักลงทุน ขาใหญ่สนใจจองซื้อล้นหลาม ทำให้ในวันเปิดจองมีประชาชนไปเข้าคิวหน้าธนาคารเพื่อจองหุ้น ปตท. ตั้งแต่ตี 5 แต่หลังเปิดจองหุ้นเพียง 1 นาที 17 วินาที หุ้น ปตท.ก็ถูกจองเต็มหมดแล้ว ทำให้ประชาชนที่เข้าคิวทำการจองได้เพียงแค่ 1-2 คิวเท่านั้น

จนมีคำถามมากมายถึงกระบวนการจัดสรรหุ้นและการจอง เพราะกลายเป็นว่าผู้ที่ได้รับการจัดหุ้นส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองและนักลงทุนขาใหญ่เป็นหลัก กลายเป็นบาดแผลที่ถูกนำมาถล่มโจมตีในหลายโอกาส ดังนั้นในการนำหุ้น OR เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯในปี 2564 จึงมีกระบวนการจัดสรรหุ้นให้ความสำคัญกับรายย่อยมากเป็นพิเศษ