กรุงศรีฯ พร้อมพักหนี้-ปรับโครงสร้างช่วย SMEs สู้โควิด-19 ระลอกใหม่

เงินบาท-ดอกเบี้ย

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จัดมาตรการปรับโครงสร้างหนี้-ซอฟต์โลน-สินเชื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยว อุ้มลูกค้าเอสเอ็มอีขนาดกลาง-ขนาดเล็ก- ขนาดย่อมจากโควิด-19 ระลอกใหม่ เร่งช่วยให้ผู้จัดการธุรกิจช่วยเหลือเชิงรุกพร้อมเกาะติดตามสถานการณ์ข้ามผ่านวิกฤตครั้งนี้ เผยปล่อยซอฟต์โลนไปแล้วกว่า 7 พันราย วงเงิน 2.15 หมื่นล้านบาท พักหนี้ 1.1 แสนล้านบาท

นางสาวดวงกมล ลิมป์พวงทิพย์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจ SME ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “วิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเกิดขึ้นในไทยตั้งแต่ต้นปี 2563 ได้ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อทุกภาคส่วน รวมทั้งผู้ประกอบการ SME ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลุ่มลูกค้าที่กรุงศรีให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยนับตั้งแต่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดในช่วงเริ่มต้น ธนาคารได้ทำการติดต่อลูกค้า SME เพื่อดูแลอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ทำให้ธนาคารรับรู้ถึงผลกระทบที่แท้จริงและสามารถให้ความช่วยเหลือได้อย่างตรงจุด ผ่านมาตรการช่วยเหลือของธนาคารเองและมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐมาตั้งแต่ต้นปี 2563

โดยล่าสุดกรุงศรีได้ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเสริมสภาพคล่องสำหรับลูกค้าผู้ประกอบการ SME ซึ่งประกอบด้วยลูกค้าธุรกิจขนาดกลาง ลูกค้าธุรกิจขนาดเล็ก และลูกค้าธุรกิจขนาดย่อมไปแล้ว กว่า 7,000 ราย จำนวน 21,500 ล้านบาท และได้พักชำระหนี้ให้กับลูกค้า กว่า 28,000 ราย โดยเป็นยอดสินเชื่อคงค้างประมาณ 110,000 ล้านบาท ผ่านพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) พักชำระหนี้ และเป็นยอดสินเชื่อคงค้างประมาณ 42,000 ล้านบาท ผ่านมาตรการพักชำระหนี้ของธนาคาร

อย่างไรก็ดีด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ธนาคารจึงเร่งให้ความช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการ SME เพิ่มเติมเพื่อบรรเทาผลกระทบและแบ่งเบาภาระของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องนโยบายของภาครัฐในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน


โดยสรุปมาตรการช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการ SME ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 สำหรับลูกค้าธุรกิจขนาดย่อม จะมีทั้งในรูปแบบพักชำระเงินต้น พักชำระค่างวดทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ปรับลดจำนวนเงินผ่อนชำระค่างวด สำหรับลูกค้าธุรกิจขนาดกลาง และลูกค้าธุรกิจขนาดเล็ก จะมีการพิจารณาเป็นรายกรณีไป ได้แก่ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยจะพิจารณาตามผลกระทบที่ได้รับทั้งทางตรงและทางอ้อมตลอดจนความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับลูกค้า