การกลับมาของเงินเฟ้อ และกลยุทธ์การลงทุน (จบ)

การลงทุน

 

คอลัมน์ลงทุนทั่วโลก
สุรศักดิ์ ธรรมโม 
บลจ.วรรณ

ความเป็นไปได้ของเงินเฟ้อน่าจะมาจากนโยบายการคลังวงเงินมหาศาลเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลายประเทศจากผลกระทบการระบาดโควิด-19 เมื่อเสริมกับนโยบายการเงินที่หลายประเทศใช้นโยบายพิมพ์เงินเข้าระบบจำนวนมากและต่อเนื่อง เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่นและยุโรป ทำให้นักลงทุนส่วนหนึ่งเริ่มมองถึงความเป็นไปได้ว่าเงินเฟ้อจะกลับมาในอีก 1.5 หรือ 2 ปีข้างหน้าต่อจากนี้ ดังจะเห็นจากดัชนี 10 Year Breakeven Inflation Rate ซึ่งแสดงการคาดการณ์เงินเฟ้อระยะกลางของนักลงทุนนับจากปี 2018 ได้กลับมาอยู่เหนือ 2% เป็นครั้งแรกเมื่อต้นปีนี้

ตลาดจะตอบสนองล่วงหน้าต่อเหตุการณ์จริงที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งผมประเมินว่าถ้าเงินเฟ้อจะกลับมาจริง ความเป็นไปได้จะอยู่ที่ 2 ปีจากนี้ไป และนั่นหมายความว่าตลาดจะปรับตัวก่อนเงินเฟ้อจะเกิดขึ้นจริง ในกรณีนี้คือประมาณ 1-1.5 ปีจากนี้ไป

ในเชิงกลยุทธ์ลงทุน ผมคิดว่าเราไม่ควรประมาทต่อแนวโน้มเงินเฟ้อและมองในแง่บริหารความเสี่ยงโดยเฉพาะอย่างยิ่งอีก 1 ปีจากนี้ไป แต่ ณ ขณะนี้ ภายใต้นโยบายการเงินและการคลังที่กระตุ้นเศรษฐกิจเต็มที่ กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นพร้อมกันทั่วโลก

กลยุทธ์ลงทุนที่ผมเสนอมีดังนี้

ประการที่หนึ่ง ใน 1-1.5 ปีจากนี้ ผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงในการลงทุนได้ควรจัดสรรน้ำหนักการลงทุนไปที่สินทรัพย์ประเภทหุ้น โดยผมเสนอว่าควรจะอยู่ที่ 60-80% ของพอร์ตการลงทุน ขณะที่สินทรัพย์ที่เหลือ 20-40% ควรจะเป็นตราสารหนี้คุณภาพสูง

ในส่วนของ 60-80% ที่เน้นให้ลงทุนในหุ้นโดยเน้นหุ้นที่เป็น super growth ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งระดับ P/E อาจจะอยู่ในระดับที่สูง แต่อัตราการขยายตัวของกำไรยังคงสูงเช่นกัน นอกจากนี้ หุ้นขนาดใหญ่ในกลุ่มนี้ เช่น หุ้นกลุ่ม FAANG ยังมีงบการเงินที่แข็งแกร่งและได้ประโยชน์อย่างมากจากการระบาดของโควิด-19 ที่พฤติกรรมการใช้จ่ายและวิถีชีวิตของคนไปใช้สินค้าและบริการของหุ้นกลุ่มนี้

ประการที่สอง เมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว หุ้นกลุ่มที่จะเป็น cyclical growth ที่จะกำไรและรายได้จะขยายตัวตามทิศทางเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวขึ้น ราคาหุ้นกลุ่มนี้ที่เคยลดลงอย่างมากในปีที่แล้วจะค่อยเริ่มฟื้นตัว (mean reversion) อาทิ หุ้นกลุ่มสถาบันการเงินชั้นนำของโลก หุ้นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ และหุ้นพวกสินค้าฟุ่มเฟือย

แต่ระมัดระวังหุ้นกลุ่มเกี่ยวกับการเดินทางท่องเที่ยว การบริการในลักษณะร้านอาหาร โรงแรม ซึ่งยังไม่มีแนวโน้มที่ระดับรายได้และกำไรจะกลับมาสู่ระดับก่อนการระบาดใน 3 ปีจากนี้ไป

ประการที่สาม ในเชิงประเทศ ผมมองว่าจีนและสหรัฐจะเป็นเพียง 2 ชาติที่เศรษฐกิจจะฟื้นเป็นรูปตัว V เพราะฉะนั้น นักลงทุนที่ไม่ชำนาญในลักษณะของหุ้นที่แยกย่อยเป็นรายกลุ่มอุตสาหกรรม หรือรายลักษณะหุ้นกลุ่มต่าง ๆ ที่เป็น factors (size, growth, value, momentum เป็นต้น) อาจจะเลือกลงทุนในกองทุนหุ้นประเทศสหรัฐและจีนได้ตามลำดับ

ในการลงทุนแบบนี้ โดยผู้ลงทุนไม่มีความรู้เชิงลึกรายอุตสาหกรรมและ factors อาจจะพิจารณาลงทุนใน ETF ของดัชนีหุ้น 2 ประเทศนี้ได้

ประการที่สี่ เมื่อเงินเฟ้อมา สินทรัพย์ที่รับมือกับเงินเฟ้อได้ดีคือสินทรัพย์ที่มีอำนาจในการตั้งราคาสินค้าได้สูง ซึ่งการพิจารณาการลงทุนเมื่อเงินเฟ้อใกล้จะมา ในส่วนของสินทรัพย์ประเภทหุ้น ผู้ลงทุนไม่สามารถพิจารณาการลงทุนหุ้นเป็นรายประเทศได้แล้ว (ยกเว้นใช้การการเก็งกำไรค่าเงินหรือลงทุนในค่าเงินประเทศที่จะได้ประโยชน์เมื่อเงินเฟ้อมา) จะต้องมาพิจารณาหุ้นเป็นรายธุรกิจหรืออุตสาหกรรมแทน

ซึ่งหุ้นที่น่าสนใจในช่วงเงินเฟ้อเริ่มมายังคงเป็นหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและหุ้นอุตสาหกรรมสินค้าฟุ่มเฟือย

อย่างไรก็ตาม เมื่อเราเห็นแนวโน้มของเงินเฟ้อกำลังจะมาจากแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่เริ่มยืนระดับในอัตราที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง การแสดงความเห็นของนายธนาคารกลางที่เริ่มกล่าวถึงการคาดการณ์เงินเฟ้อในอนาคตของธนาคารกลางในทิศทางที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในตอนนั้น

เราควรลดสินทรัพย์ประเภทหุ้นและอาจจะพิจารณาสินทรัพย์ทางเลือกที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีเมื่อเงินเฟ้อมาและตามมาด้วยช่วงของการปรับนโยบายการเงินให้เป็นปกติ เช่น Fed อาจจะลดวงเงิน QE และเริ่มต้นวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย สินทรัพย์ทางเลือกที่น่าสนใจอาจจะเป็นโลหะมีค่า ไม้สัก กองทุนอสังหาริมทรัพย์ พวก REITs ที่ลงทุนในสินทรัพย์พวกออฟฟิศให้เช่า การขนส่งสาธารณะ เสารับส่งข้อมูล เป็นต้น

โดยสินทรัพย์เหล่านี้อาจจะเริ่มทยอยเข้าลงทุนเมื่อเห็นสัญญาณการมาถึงของเงินเฟ้อ โดยพวก REITs พยายามเน้นลงทุนในธุรกิจที่มีอำนาจในการตั้งราคาได้สูงตามกำลังซื้อของผู้บริโภค และอาจจะต้องเตรียมใจ ที่เมื่อเงินเฟ้อมาชัดเจนจนธนาคารกลางต้องเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงินจากผ่อนคลายสุดขั้วมาเป็นนโยบายการเงินแบบเข้มงวด ดัชนีตลาดหุ้นจะปรับลงแรง

แต่ถ้าเราลดสัดส่วนน้ำหนักสินทรัพย์ในหุ้นจากเดิมที่อยู่ที่ 60-80% ของพอร์ตการลงทุนมาเป็น 20-30% ของพอร์ตการลงทุนและเพิ่มพวกสินทรัพย์ทางเลือกประมาณ 20% ในส่วนตราสารหนี้จากเดิมที่อยู่ที่ 20-40% ควรจะเพิ่มเป็น 50-60%

โดยในส่วนหนี้พยายามเน้นตราสารหนี้ระยะสั้นที่ไม่เกิน 2 ปี จะทำให้การปรับฐานลงแรงในตอนนั้นจะสร้างผลกระทบเชิงลบที่จำกัดต่อพอร์ตการลงทุน