สภาพัฒน์ จ่อเรียกคืนเงินกู้ หน่วยงานเบิกจ่ายล่าช้า มี.ค.นี้

สภาพัฒน์ เร่งติดตามหน่วยงานใช้จ่ายเงินกู้ ภายในมี.ค.นี้ หน่วยงานเบิกจ่ายช้า จ่อเรียกเงินคืน เพื่อใช้ออกมาตรการเร่งด่วนต่อไป

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า การใช้เงินตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท จากสถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้ ภาพรวมเบิกจ่ายได้แล้ว 55% เป็นการใช้เงินกู้ในส่วนของการเยียวยา ครบวงเงิน 5.5 แสนล้านบาท ส่วนวงเงินเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท เบิกจ่ายได้ประมาณ 30% ส่วนใหญ่นำไปใช้ในโครงการคนละครึ่ง แต่ในส่วนโครงการลงทุนเบิกจ่ายได้เพียง 10% ซึ่งถือว่าน้อยมาก

ทั้งนี้ คณะกรรมการกลั่นกรองใช้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่มีสภาพัฒน์เป็นประธานจะ ติดตามการใช้จ่ายเงินของทุกหน่วยงาน ภายในเดือน มี.ค.นี้ หากพบว่ามีหน่วยงานใด เบิกจ่ายได้ไม่เป็นไปตามแผนที่เสนอ ก็จะต้องดึงวงเงินในส่วนที่เบิกจ่ายไม่ทันกลับมาส่วนกลาง เพื่อใช้กับมาตรการเยียวยาอื่นที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต่อไป โดยโครงการลงทุนตามแผนฟื้นฟู ต้องอนุมัติภายใน เดือน ก.ย. และเบิกจ่ายได้ถึงสิ้นปี 2564

“ส่วนใหญ่มีปัญหาการจัดซื้อจัดจ้าง ทำให้มีการเบิกจ่ายล่าช้าออกไป เช่น โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ อนุมัติ 9,000 ล้านบาท ก็ทำได้ 4,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือก็ดึงกลับมา , โครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่ วงเงิน 1.9 หมื่นล้านบาท เป้าหมาย 2.6 แสนราย ก็จ้างได้แค่ 1 หมื่นคน ก็ต้องตัดกลับมาดูใหม่ หรือ กรณีเบิกจ่ายตาม พ.ร.บ.ถ่ายโอนงบประมาณ ส่งผลให้มีกว่า 200 โครงการทำไม่ทัน เสนอแผนปรับใช้เงินกู้ ซึ่งเรื่องนี้ คณะกรรมการกลั่นกรองเร่งทยอยแก้ไข และเบิกจ่ายได้ไปเกือบหมดแล้ว”นายดนุชา กล่าว

นายดนุชา กล่าวว่า งบประมาณที่ถูกดึงกลับมา คณะกรรมการจะนำไปใช้ในโครงการที่เหมาะสม เช่น กรณีข้อเสนอภาคเอกชน และผู้ประกอบการท่องเที่ยว ที่ต้องการให้ภาครัฐร่วมจ่ายค่าจ้าง ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา ว่าจะดำเนินการอย่างไร ต้องทำให้รอบคอบ ดูกลไกให้รอบคอบ จะได้ไม่เกิดเรื่องไม่ดีไม่งาม มีการทุจริต เช่น กรณี คนละครึ่ง ที่แม้ว่าทุกอย่างจะทำภายในระบบแอพลิเคชั่น แต่ก็ยังสามารถโกงกันได้

ทั้งนี้ วงเงินตาม พ.ร.ก.กู้ 1 ล้านล้านบาท เหลืออีกแค่ 2 แสนล้านบาท ในส่วนวงเงินเพื่อใช้ในโครงการฟื้นฟู ซึ่งในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบ มาตรการ ม33 เรารักกัน ในส่วนนี้จะเป็นการโยกงบจากแผนฟื้นฟู มาใช้ในการเยียวยา 3.5 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือจะใช้งบจากแผนเยียวยาที่ยังเหลืออยู่ ซึ่งหลังจากโยกเงินกู้ดังกล่าวแล้วจะทำให้วงเงินกู้ในส่วนของทางด้านแพทย์และสาธารณสุขคงเหลือ 25,300 ล้าน กรอบวงเงินเยียวยาคงเหลือ 4,146 ล้านบาท กรอบวงเงินฟื้นฟู 221,878 ล้านบาท รวมวงเงินกู้คงเหลือ 251,327 ล้านบาท