สรรพสามิต เร่งสรุปโครงสร้างภาษีบุหรี่ ชี้ต้องเก็บรายได้ไม่ต่ำ 6 หมื่นล้านบาท

สรรพสามิต เร่งสรุปโครงสร้างภาษีบุหรี่ ชี้ต้องเก็บรายได้ไม่ต่ำ 6 หมื่นล้านบาท

วันที่ 5 เมษายน 2564 นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยถึงความคืบหน้าการทบทวนโครงสร้างภาษีบุหรี่ทั้งระบบ ว่า เร็วๆ นี้ จะมีการหารือกับนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกครั้งเพื่อให้ได้ความชัดเจน ส่วนจะปรับเป็นกี่อัตรา (เทียร์) ต้องพิจารณาจากบริบทและข้อจำกัดต่างๆ ด้วย รวมทั้งจะขึ้นอยู่กับระดับนโยบาย ซึ่งเมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะเร่งนำเรื่องเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เร็วที่สุด เพื่อให้ผู้ประกอบการได้มีเวลาในการปรับตัว เนื่องจากโครงสร้างภาษีเดิมจะใช้จนถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2564

อย่างไรก็ดี การปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่จะต้องตอบโจทย์ 4 ด้าน คือ ผลกระทบต่อสุขภาพ ผลกระทบต่อเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิต และการดูแลเรื่องสินค้าหนีภาษีด้วย พร้อมกันนี้ โครงสร้างภาษีต้องตอบโจทย์รายได้ของภาครัฐด้วย โดยจะต้องจัดเก็บได้ไม่ต่ำกว่าปัจจุบัน ที่สามารถจัดเก็บภาษีได้ราว 60,000 ล้านบาท/ปี

“โครงสร้างภาษีบุหรี่ที่ผ่านมาตอบโจทย์บางเรื่อง คือ เรื่องสุขภาพ แต่อาจไม่ตอบโจทย์บางเรื่อง วันนี้สิ่งที่เห็นคือการเปลี่ยนไปสูบยาเส้นแทนเพราะราคาถูกกว่า และบุหรี่เถื่อนก็เห็นสัญญาณว่ามีเพิ่มมากขึ้น ตราบใดที่ของถูกกฎหมายแพงมากๆ ก็จะมีโอกาสที่ของถูกกฎหมายคุ้มที่จะเสี่ยงทำผิดกฎหมาย ต้องหาจุดสมดุลให้ดี” อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าว

ขณะที่การดูแลเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการที่โรงงานยาสูบรับซื้อผลผลิตลดลงนั้น เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องช่วยเหลือ โดยขณะนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ลงนามในหนังสือของบประมาณเพื่อเยียวยาเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบไปแล้วตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา วงเงิน 159 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถเยียวยาเกษตรกรได้จำนวนหมื่นกว่าราย