ธ.ก.ส. คาด พ.ค. ข้าวหอมมะลิตันละ 12,100 บาท ส่วนยางราคาต่ำ 53.55 บาท/กก.

ธ.ก.ส. ชี้ความต้องการของตลาดโลก-ความสามารถในการส่งออกมีมากขึ้น ทำให้ราคาสินค้าเกษตรเดือน พ.ค.64 “ข้าวเปลือกหอมมะลิ-ข้าวเปลือกเหนียว-ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์-น้ำตาลทรายดิบ-กุ้งขาวแวนนาไม-สุกร-โคเนื้อ” มีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้น ด้านข้าวเปลือกเจ้า-ยางพาราแผ่นดิบ-มันสำปะหลัง-ปาล์มน้ำมัน มีแนวโน้มราคาลดลง

วันที่ 30 เมษายน 2564 นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือนพฤษภาคม 2564 โดยสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาอยู่ที่ 12,037 – 12,100 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.53 – 2.06 เนื่องจากราคาส่งออกข้าวหอมมะลิของไทยใกล้เคียงกับประเทศคู่แข่งขัน อาทิ ราคาข้าวหอมผกามะลิจากกัมพูชา ส่งผลให้ประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มการนำเข้าข้าวหอมมะลิเพิ่มขึ้น

สมเกียรติ กิมาวหา

ขณะที่ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาอยู่ที่ 11,006 – 11,142 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.73 – 2.99 เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวเหนียวนาปรังออกสู่ตลาดไปแล้ว และสต๊อก ข้าวเหนียวของผู้ประกอบการเริ่มลดลง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5% ราคาอยู่ที่ 8.12 – 8.36 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 2.50 – 5.50 เนื่องจากเป็นช่วงเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่นที่ 1 ช่วงต้นฤดูฝน (เดือนเมษายน – มิถุนายน) ปริมาณผลผลิตจึงออกสู่ตลาดน้อย ขณะที่ความต้องการใช้เพื่อผลิตอาหารสัตว์ยังเพิ่มขึ้นจากแนวโน้มการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ที่ยังขยายตัวได้ดี

ด้านน้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก ราคาอยู่ที่ 16.92 – 17.14 เซนต์/ปอนด์ (11.71 – 11.86 บาท/กก.)เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.20 – 2.50 เนื่องจากความกังวลต่อปริมาณผลผลิตน้ำตาลทั่วโลกที่คาดว่าจะลดลงจากปัญหาสภาพอากาศ โดยสภาพอากาศที่หนาวเย็นทำให้พื้นที่ปลูกชูการ์บีท (Sugar Beet) ของประเทศฝรั่งเศสซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดในสหภาพยุโรปได้รับความเสียหาย และสภาพอากาศที่ แห้งแล้งในประเทศบราซิลทำให้ปริมาณอ้อยลดลง

ส่วนกุ้งขาวแวนนาไม ราคาอยู่ที่ 156.06 – 157.90 บาท/กก.เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 2.00 – 3.20 เนื่องจากผลผลิตกุ้งออกสู่ตลาดน้อยจากการที่เกษตรกรชะลอการลงลูกกุ้งในช่วงก่อนหน้านี้ แม้ว่าประเทศไทยจะมีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ แต่ยังไม่กระทบต่อคำสั่งซื้อและการส่งออกไปประเทศคู่ค้าสำคัญ ประกอบกับแนวโน้มเงินบาทที่อ่อนค่า ส่งผลดีต่อการส่งออกกุ้งมีชีวิตและกุ้งสดแช่เย็นของไทย

ทั้งนี้ สุกร ราคาอยู่ที่ 77.69 – 78.84 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.88 – 2.24 เนื่องจากประเทศกัมพูชาซึ่งเป็นตลาดส่งออกสุกรมีชีวิตอันดับ 1 ของไทย ผ่อนคลายมาตรการจำกัดการนำเข้าสุกรจากไทย และผู้ส่งออกสุกรมีแผนการส่งออกไปประเทศเวียดนามมากขึ้น

ส่งผลให้ไทยสามารถส่งออกสุกรมีชีวิตได้มากขึ้น และโคเนื้อ ราคาอยู่ที่ 98.33 – 98.40 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.01 – 0.08 เนื่องจากความต้องการบริโภคเนื้อโคทั้งภายในประเทศและเพื่อการส่งออกยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับผลผลิตเนื้อโคอาจลดลง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคลัมปีสกินในโคและกระบือ

ด้านสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาอยู่ที่ 8,997 – 9,061 บาท/ตัน ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.76 – 1.47 เนื่องจากประเทศอินเดียซึ่งเป็น ผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก มีผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นและปริมาณข้าวในสต็อกอยู่ในระดับสูง ทำให้มีปริมาณข้าวส่วนเกินที่ระบายออกสู่ตลาดโลกเป็นจำนวนมาก

ส่วนยางพาราแผ่นดิบ ชั้น 3 ราคาอยู่ที่ 52.85 – 53.55 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.56 – 2.85 เนื่องจากปริมาณยางพาราจากการประมูลสต็อกยางพาราเก่าออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โรงงานกดราคารับซื้อยางพาราจากเกษตรกร

ขณะที่มันสำปะหลัง ราคาอยู่ที่ 2.05 – 2.10 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.47 – 2.88 เนื่องจากลานมันเส้น เริ่มทยอยปิดลานรับซื้อผลผลิตมันสำปะหลังที่ออกสู่ตลาด ส่วนใหญ่จะถูกจำหน่ายไปยังโรงงาน แป้งมันสำปะหลัง จึงเป็นปัจจัยกดดันให้ราคาปรับตัวลดลง ปาล์มน้ำมัน ราคาอยู่ที่ 4.34 – 4.77 บาท/กก.ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.24 – 10.15 เนื่องจากเป็นช่วงที่ปริมาณผลผลิตทยอยออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น และคาดว่าในเดือนพฤษภาคมจะมีผลผลิตปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาดประมาณ 1.99 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 12 ของปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันทั้งปี 2564