สัปดาห์หน้าติดตามเงินเฟ้อไทย เดือน เม.ย.-ประชุม กนง. คาดคงดอกเบี้ย

แบงก์ชาติ

ภาพของเศรษฐกิจโลกปี 2564 ที่เห็นการฟื้นตัวชัดเจนจากฐาน โดยเฉพาะสหรัฐ ที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) คาดจีดีพีปี 2564 โต 6.4% เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน จาก -3.5% ในปี 2563 ขณะที่ฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์(บล.) เอเซียพลัส คาดจะเห็นการฟื้นตัวเศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วกว่าประเทศอื่นๆ ทั่วโลก อาทิ ยุโรป, เอเชีย ฯลฯ และมีแนวโน้มที่คาดการณ์เงินเฟ้อจะปรับเพิ่มขึ้นเร็วกว่าเดิมที่คาด หลักๆ มาจาก

1.การฉีดวัคซีนโควิด-19 ในสหรัฐเร็วกว่าที่คาด ล่าสุด 30 เม.ย.64 ฉีดไปแล้วรวม 42.7% ของประชากรสหรัฐ ทำให้เชื่อว่าการเปิดเมือง(Reopen) ในสหรัฐจะเร็วกว่าประเทศอื่นๆ ล่าสุดเมื่อนายกเทศมนตรี New York เผยต่อสื่อในวันที่ 1 ก.ค.64 จะกลับมาเปิดเมืองสมบูรณ์ 100% เชื่อว่ารัฐอื่นๆ จะทยอยเปิดตาม สนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ดังที่จะเห็นได้จากรายงานการเติบโตของตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐไตรมาส 1/64 เพิ่มขึ้น 6.4% เทียบจากไตรมาสก่อนหน้า (ตลาดคาด 6.1%) และพลิกกลับมา +0.4% ครั้งแรกจากปี 2563 ติดลบทุกไตรมาส ทำให้เชื่อว่าหลังจากนี้มีแนวโน้มที่จะเห็นวงเงินการอัพเกรดจีดีพีสหรัฐเพิ่มอีก

2.นโยบายการคลังสหรัฐที่รัฐบาลของไบเดน ที่ทยอยออกมามากและมากกว่าที่ตลาดคาด รวมๆ ราว 6 ล้านล้านเหรียญ (ราว 28% ต่อจีดีพีสหรัฐ) เริ่มตั้งแต่ต้นปี 1.แพกเกจเยียวยา Covid-19 วงเงิน 1.9 ล้านล้านเหรียญ 2.แผนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Plan) ระยะเวลา 8 ปีวงเงินรวม 2.2-2.3 ล้านล้านเหรียญ 3.American Family Plan อัดฉีดเงินให้ประชาชน วงเงิน 1.8 ล้านล้านเหรียญ

และที่คาดจะถูกผลักดันออกมา 4..การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำใหม่ทั่วประเทศ ล่าสุดทำเนียบขาวลงรายละเอียดเกี่ยวกับคำสั่งประธานาธิบดี การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจากเดิมราว 10.95 เหรียญต่อชั่วโมง (หรือ 343 บาทต่อชั่วโมง) เพิ่มเป็น 15 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อชั่วโมง (471 บาทต่อชั่วโมง) จะเริ่มมีผล 30 ม.ค.65

โดยรวมฝ่ายวิจัยเอเซียพลัส เชื่อว่าทั้งหมดเป็นเหตุผลทำให้เชื่อว่าจะเป็นปัจจัยหนุนต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ให้ยังอยู่ในทิศทางขาขึ้น และในระยะยาวน่าจะเร่งแนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐมีโอกาสจะปรับเป็นทิศทางขาขึ้นชัดเจนในปี 2564-2566 และน่าจะมีผลต่อการพิจารณาแนวโน้มนโยบานการเงินในอนาคตคือ ให้น้ำหนักปลายปี 2564-2565 เป็นประเด็นที่ต้องติดตาม

แต่อย่างไรก็ตามในระยะสั้น ฝ่ายวิจัยเชื่อว่าธนาคารกลางสหรัฐ(Fed) ไม่น่าจะปรับเปลี่ยนอะไร คือดอกเบี้ยนโยบายคาดคงเดิม สะท้อนจาก

1.ผลประชุมเฟด กลางสัปดาห์ล่าสุด เฟดยังส่งสัญญาณคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำไปจนถึงปี 2566 เป็นอย่างน้อย และคงวงเงินเข้าซื้อพันธบัตร (QE) รวมไว้ที่ 1.2 แสนล้านเหรียญต่อเดือน

2.ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญที่เฟดให้น้ำหนักยังห่างไกลเป้าที่ตั้งไว้ ทั้งอัตราการว่างงานสหรัฐ ล่าสุดอยู่ที่ 6% ยังสูงกว่าก่อนเกิดโควิด-19 ทรงต่ำถึง 3-3.5%

ในส่วนของไทย ฝ่ายวิจัยคาดเงินเฟ้อไทยน่าจะยังไม่ได้ปรับขึ้นแรงเหมือนสหรัฐ โดยสัปดาห์หน้าวันที่ 5 พ.ค.64 จะมีการรายงานเงินเฟ้อ ตลาดคาด CPI จะพุ่งขึ้น 2.91% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือน มี.ค.64 ที่ติดลบ 0.08% เนื่องจากฐานที่ต่ำของปีที่แล้ว โดยฝ่ายวิจัยยังคงมุมมองเดิมปีนี้

ทั้งนี้คาด กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยต่ำที่ 0.5% ไปตลอดทั้งปี โดยเชื่อว่าการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งกดดันให้เศรษฐกิจมีโอกาสชะลอตัวลงอีกครั้งหนึ่ง โดยรวมเชื่อว่าสภาพคล่องในระบบการเงินในระบบยังมีอยู่จากภาวะที่ดอกเบี้ยยังต่ำ น่าจะยังเป็นปัจจัยหนุนให้ SET Index ปรับขึ้นได้ต่อในช่วงครั้งปีแรกปี 64

ดาวน์ไซต์จีดีพียังต่ำ แม้มาตรการเข้มงวด ส่วนวัคซีน รัฐพร้อมรับภาระ แต่อาจกดดันหุ้นโรงพยาบาล โดยที่ประชุม ศบค. มีมติให้ดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดขึ้น โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.64 เป็นต้นไป ดังนี้

• เพิ่มระยะเวลากักตัวผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเป็น 14 วัน จากเดิม 7-10 วัน

• ปรับพื้นที่ควบคุม โดยยกเลิกพื้นที่สีเหลือง และสีเขียว ส่งผลให้พื้นที่ควบคุมใหม่ประกอบด้วย 3 สี คือพื้นที่สีแดงเข้ม, แดง และส้ม จากเดิม 5 สี โดยพื้นที่สีแดงเข้ม ประกอบด้วย 6 จังหวัด ได้แก่ กทม., ชลบุรี, นนทบุรี, เชียงใหม่, สมุทรปราการ และปทุมธานี (คิดเป็นประมาณ 50% ของ GDP ทั้งประเทศ)

• เพิ่มความเข้มงวดมาตรการควบคุมการระบาดตามพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่สีแดงเข้ม เช่น ให้ร้านอาหาร-เครื่องดื่ม จำหน่ายเฉพาะนำกลับบ้านเท่านั้น และสามารถเปิดได้จนถึง 21.00, ปิดสถานที่เล่นกีฬากลางแจ้ง ส่วนห้างสรรพสินค้า-ศูนย์การค้า ยังสามารถเปิดได้ตามปกติ แต่ไม่เกิน 21.00 น.

ฝ่ายวิจัยประเมินว่า การเพิ่มความเข้มงวดล่าสุดของภาครัฐมีโอกาสสร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้น สอดคล้องกับที่เคยนำเสนอผ่านการวิเคราะห์ Sensitivity Analysis ผลกระทบ โดยกำหนดให้สมมติฐานการบริโภคครัวเรือน, การลงทุนรัฐ-เอกชน และการใช้จ่ายรัฐ ชะลอตัวลง แต่การส่งออกและนำเข้ายังคงที่ โดยผล Sensitivity Analysis พบว่าทุกๆ 0.25% ขององค์ประกอบข้างต้นชะลอตัวลง จะส่งผลให้จีดีพีปี 2564 ขยายตัวลดลงจากคาดการณ์เดิมราว 0.14% และถ้าให้องค์ประกอบข้างต้นชะลอตัวลง 1% จะทำให้จีดีพีไทยขยายตัวเหลือราว 2.04%

ทั้งนี้ ผลการวิเคราะห์ของเอเซียพลัส สอดคล้องกับมุมมองของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ภายหลังที่สศค.ปรับลดประมาณการจีดีพีไทยลงจาก 2.8% เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน เหลือ 2.3% ซึ่งใกล้เคียงกับกรอบล่างของผล Sensitivity Analysis ของเอเซียพลัสสะท้อนว่ามุมมองต่อดาวน์ไซต์ของจีดีพีมีแนวโน้มจำกัดอยู่ที่ราวๆ 2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน