ผ่าทางตันฟื้นฟู “การบินไทย” คลังยอมเจ้าหนี้แบงก์รื้อแผน-ใส่เงินเพิ่ม

ผู้ทำแผน “การบินไทย” จับมือเจ้าหนี้แบงก์ ยื่นรื้อแผนฟื้นฟู ก่อนประชุมเจ้าหนี้ 12 พ.ค.นี้ กระทรวงคลังยอมลุยไฟชง ครม. 11 พ.ค. แก้มติให้ “การบินไทย” กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจประเภท 3 เปิดทางให้คลังใส่เงิน “เพิ่มทุน-ค้ำประกันเงินกู้” เปิดโอกาสเจ้าหนี้เสนอรายชื่อ “ผู้บริหารแผนร่วม” แลกเจ้าหนี้แบงก์ยอมยกมือให้แผนผ่าน พร้อมเร่งตัดขายทรัพย์สินรวม “อาคารสำนักงานใหญ่” แจงช่วง 7 ปีที่ภายใต้แผนฟื้นฟู คมนาคมไม่สามารถก้าวก่าย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจาก บมจ.การบินไทยได้ยื่นแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เมื่อ 2 มีนาคม 2564 พร้อมนัดประชุมเจ้าหนี้พิจารณาแผนฟื้นฟู ในวันที่ 12 พ.ค. 2564 โดยมีเจ้าหนี้ยื่นขอรับชำระหนี้รวม 13,133 ราย ภาระหนี้ที่มาปรับโครงสร้าง 410,140.78 ล้านบาท ซึ่งภายใต้ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 กฎหมายเปิดโอกาสให้เจ้าหนี้หรือผู้ทำแผนสามารถยื่นขอแก้ไขแผนฟื้นฟูได้ ก่อนการประชุมเจ้าหนี้ 3 วันทำการ ซึ่งในกรณีของการบินไทยก็คือ ต้องยื่นภายในวันที่ 7 พ.ค. 2564

การบินไทยยื่นแก้แผนฟื้นฟู

แหล่งข่าวจาก บมจ.การบินไทยเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา ทางคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย ได้ยื่นเอกสารขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดีแล้ว เนื่องจากในการเจรจากับกลุ่มเจ้าหนี้สถาบันการเงินยังไม่เห็นชอบกับแผนฟื้นฟูดังกล่าว ซึ่งได้เห็นชอบร่วมกันให้ทางผู้ทำแผนการบินไทย หรือในฐานะลูกหนี้ เป็นผู้ยื่นขอแก้ไขแผน ในประเด็นต่าง ๆ ที่ได้มีการตกลงร่วมกันใหม่ เพื่อให้กระบวนการต่าง ๆ ราบรื่น

โดยประเด็นหลักที่เจ้าหนี้ต้องการคือ ให้กระทรวงการคลังเข้ามาค้ำประกันเงินกู้ หรือเป็นเจ้าภาพในการใส่เงินก้อนใหม่ แต่ปัญหาคือการที่กระทรวงการคลังจะทำเช่นนี้ได้ หมายความว่าการบินไทยต้องกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจก่อน ไม่มีช่องทางอื่น

ชง ครม. 11 พ.ค. กลับเป็นรัฐวิสาหกิจ

แหล่งข่าวกล่าวว่า จากการหารือร่วมระหว่างคณะผู้ทำแผน กระทรวงการคลังยืนยันว่าจะนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) 11 พ.ค.นี้ ขอเปลี่ยนมติที่ประชุม ครม.เมื่อ 19 พ.ค. 2563 ที่เห็นชอบตามข้อเสนอคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ให้กระทรวงการคลังลดสัดส่วนการถือหุ้นในการบินไทย จาก 51% เหลือ 48% เพื่อให้การบินไทยพ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยจะแก้มติให้การบินไทยกับมาเป็นรัฐวิสาหกิจประเภท 3 ไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายกำกับรัฐวิสาหกิจ ที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ดูแล

โดยกระทรวงการคลังจะเพิ่มสัดส่วนทางอ้อม ซึ่งการบินไทยจะเป็นรัฐวิสาหกิจระดับเดียวกับ บมจ.ปตท.สผ. ที่เป็นชั้นของบริษัทลูก ซึ่งมีความคล่องตัวในการบริหารไม่ต่างจากเอกชน และไม่ต้องมีการจัดตั้งสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ รวมถึงคุณสมบัติและการสรรหาซีอีโอ และกรรมการบริษัท ไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งผู้ที่จะมานั่งเป็นซีอีโอไม่จำกัดอายุ 60 ปี และกรรมการไม่จำกัดอายุ 65 ปี เหมือนกับรัฐวิสาหกิจประเภท 1

“ถือเป็นการผ่าทางตันแผนฟื้นฟูการบินไทยเพื่อให้เดินต่อไปได้ เพราะไม่เช่นนั้น ทางเจ้าหนี้สถาบันการเงินก็จะคัดค้านแผนฟื้นฟู สำหรับการเป็นรัฐวิสาหกิจประเภท 3 การบริหารจัดการก็มีความคล่องตัวใกล้เคียงกับบริษัทเอกชน เพียงแต่ทำให้เจ้าหนี้มั่นใจว่า รัฐบาลจะไม่ปล่อยให้การบินไทยล้มละลาย และให้เจ้าหนี้มีความมั่นใจที่จะใส่เงินใหม่เข้าไป อย่างไรก็ตาม ก็ขึ้นอยู่กับกับว่า ที่ประชุม ครม.จะเห็นชอบเรื่องนี้อย่างไร เพราะที่ผ่านมาก็มีความเห็นที่ขัดแย้งชัดเจนระหว่างกระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคม ต่อแนวทางการฟื้นฟูการบินไทย”

เจ้าหนี้เสนอชื่อ “ผู้บริหาร”

แหล่งข่าวกล่าวว่า ในการเสนอขอแก้ไขแผนฟื้นฟูยังมีการเสนอแก้ประเด็นเพิ่มความชัดเจนในการแยกหน่วยธุรกิจต่าง ๆ เพื่อขายและหาผู้ร่วมทุน รวมถึงการแก้ไขประเด็น “ผู้บริหารแผน” จากเดิมที่ผู้ทำแผนการบินไทยเสนอรายชื่อเพียง 2 คน คือ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และนายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล

ซึ่งทางเจ้าหนี้สถาบันการเงินขอร่วมเสนอชื่อบุคคลที่จะเข้าร่วมเป็น “ผู้บริหารแผน” เพิ่มเติมอีกราว 2 คน แต่ทั้งนี้จะต้องเป็นรายชื่อได้รับความเห็นชอบร่วมกันของลูกหนี้ และเจ้าหนี้ เนื่องจากต้องคัดเลือกบุคคลที่จะต้องสามารถทำงานร่วมกันได้

แหล่งข่าวกล่าวว่า เนื่องจากเจ้าหนี้สถาบันการเงินต้องการสร้างความมั่นใจว่า ภายใต้การบริหารแผนฟื้นฟูที่มีระเวลา 5 ปี +2 ปี การบริหารจัดการจะมีประสิทธภาพและเป็นไปตามที่เห็นชอบ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจประเภท 3 แต่ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการระยะเวลา 7 ปี ทางกระทรวงคมนาคมจะไม่สามารถที่จะเข้ามาแทรกแซงได้ การบริหารทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้ผู้บริหารแผนที่ตั้งขึ้น และต้องเป็นไปตามแผนฟื้นฟูที่ผ่านการเห็นชอบของเจ้าหนี้

ขายตึกสำนักงานใหญ่

แหล่งข่าวกล่าวว่า ส่วนปัญหาเรื่องสภาพคล่องของการบินไทย ซึ่งขณะนี้คาดว่าจะเหลือกระแสเงินสดใช้ได้ถึงช่วงเดือน มิ.ย.นี้ โดยที่ผ่านมาการบินไทยก็มุ่งเน้นเรื่องการลดภารค่าใช้จ่ายพนักงานลง ซึ่งโดยสรุปจะลดค่าใช้จ่ายพนักงาน แต่ในแง่ของรายได้มีปัญหาเข้ามาน้อยมาก เนื่องจากในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19

ที่ผ่านมาก็มีการขออนุญาตศาลล้มละลายกลางในการตัดขายทรัพย์สินต่าง ๆ ทั้งในส่วนของหุ้น BAFS และหุ้น NOK รวมถึงเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ก็ได้ขาย “อาคารศูนย์ฝึกอบรมหลักสี่” รวมเนื้อที่ 19 ไร่ 3 งาน 26 ตารางวา ให้กับบริษัท เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด (บริษัทในเครือ ปตท.) ในราคาประมูล 1,810 ล้านบาท

นอกจากนี้ ตามแผนฟื้นฟูการบินไทยก็จะต้องขายทรัพย์สินที่ไม่จำเป็นกับธุรกิจ รวมถึงอาคารสำนักงานใหญ่ริมถนนวิภาวดีรังสิต เพื่อที่จะหาเงินมาเสริมสภาพคล่องในการฟื้นฟูกิจการ โดยเฉพาะในภาวะโรคระบาดที่การบินระหว่างประเทศยังไม่กลับมาก็ทำให้เป็นอุปสรรคอย่างมากในการที่จะหารายได้

แหล่งข่าวกล่าวว่า ขณะที่ในส่วนของการบินในประเทศ ล่าสุด บริษัท การท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) ได้ยกเลิกสิทธิ์เป็นคู่สัญญาให้บริการภาคพื้น-คลังสินค้าสนามบินภูเก็ต โดยอ้างเหตุการบินไทยต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งก็ทำให้ช่องทางการทำธุรกิจสร้างรายได้ของการบินไทยก็ลดน้อยลง

เจ้าหนี้แบงก์ไม่มีทางเลือก

แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินแห่งหนึ่งกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมามีกระแสข่าวว่า กระทรวงการคลังจะให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เข้ามาถือหุ้น บมจ.การบินไทย เพื่อให้การบินไทยกลับมามีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจอีกครั้ง เพื่อที่กระทรวงการคลังจะได้ใส่เงินเพิ่มทุน หรือค้ำประกันเงินกู้ใหม่ได้ แต่จะเป็นรัฐวิสาหกิจประเภท 3 หรือเป็นชั้นบริษัทลูก

ซึ่งคาดว่าจะทำให้กระบวนการฟื้นฟูกิจการน่าจะสะดวกกว่า แต่ทางกระทรวงคมนาคมก็คัดค้านอย่างหนัก ดังนั้น คลังจึงรอดูก่อนว่า เจ้าหนี้ขอแก้ไขแผนฟื้นฟูอะไรบ้าง

“ในส่วนของเจ้าหนี้ หากรัฐบาลไม่ค้ำประกันเงินกู้ก้อนใหม่ ความเชื่อมั่นของเจ้าหนี้ก็ลดน้อยลง กรณีเจ้าหนี้โหวตแผนผ่าน แต่การปล่อยเงินกู้ก้อนใหม่ ก็ต้องเรียกหลักประกันเพิ่มจากทรัพย์สินที่มีอยู่ อาทิ อาคารสำนักงานใหญ่ เป็นต้น แบบนี้ก็น่าจะปล่อยได้ ซึ่งก็จะเป็นเงินเฮือกสุดท้าย เพราะถ้าฟื้นฟูไม่สำเร็จ เจ้าหนี้เดิมก็จะไม่เหลืออะไรเลย แต่หนี้ใหม่ก็ยังพอมีหลักประกัน” แหล่งข่าวกล่าว

เอ็กซิม-ธพส.ยังไม่ได้รับนโยบาย

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า กรณีที่มีกระแสข่าวว่า EXIM BANK จะเข้าไปถือหุ้นการบินไทยนั้น EXIM BANK ยังไม่ได้รับนโยบายในเรื่องดังกล่าวจากกระทรวงการคลัง มองว่าเรื่องการบินไทยในขณะนี้ควันยังตลบอยู่ จะต้องรอติดตามข้อสรุปอีกครั้ง

เช่นเดียวกับ นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) กล่าวว่า ขณะนี้ ธพส.ยังไม่ได้รับนโยบายจากกระทรวงการคลังให้เข้าไปถือหุ้นการบินไทย โดยกรณีที่มีกระแสข่าวออกมานั้น เป็นผลการศึกษาก่อนหน้าที่การบินไทยจะพ้นสถานะจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางการศึกษาในช่วงนั้น

อย่างไรก็ดี ธพส.มีงบประมาณในการเข้าไปถือหุ้นการบินไทย ตามกระแสข่าวที่รายงานจำนวน 2.15% หากได้รับนโยบายจากกระทรวงการคลังก็มีความพร้อมดำเนินการตามนโยบาย

ทั้งนี้ เจ้าหนี้สถาบันการเงินที่ไม่มีหลักประกัน มูลหนี้รวม 31,228.37 ล้านบาท โดยธนาคารกรุงเทพ 9,344.65 ล้านบาท อันดับ 2 คือ ธนาคารกรุงไทย 6,966.98 ล้านบาท ธนาคารออมสิน 3,826.12 ล้านบาท, ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ 2,149.65 ล้านบาท และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย 2,658.93 ล้านบาท รวมถึง EXIM BANK เป็นเจ้าหนี้มูลค่า 1,565.94 ล้านบาท แม้ว่าไม่ใช่เจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุด แต่ก็เป็นกลุ่มที่มีอำนาจการต่อรองมากที่สุด


สำหรับรายชื่อคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ การบินไทย ประกอบด้วย พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน, นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล, นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร, นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค, นายบุญทักษ์ หวังเจริญ, นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และบริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด