ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ-วัคซีน หนุนกรอบเงินบาท 31.40 บาทต่อดอลลาร์

เงินบาท

แบงก์ประเมินกรอบเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 31.00-31.40 บาทต่อดอลลาร์ เกาะติดตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ-แนวทางการจัดหาวัคซีนของไทย หนุนความเชื่อมั่นเปิดประเทศ 

วันที่ 9 พฤษภาคม 2564 นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทิศทางเงินบาทสัปดาห์หน้า (วันที่ 10-14 พ.ค. 64) เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.05-31.40 บาทค่อดอลลาร์ สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ อย่างตัวเลขเงินเฟ้อ และยอดค้าปลีก

อย่างไรก็ตาม จับตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือน เม.ย. โดยที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเกือบ 1 ล้านตำแหน่ง หากต่ำกว่าคาดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ (บอนด์ยิลด์) อาจย่อตัวและเงินดอลลาร์จะมีแนวโน้มอ่อนค่า หากกรณีดีกว่าคาดดอลลาร์จะได้รับแรงหนุน

สำหรับปัจจัยในประเทศยังคงติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แนวทางการจัดหาและการกระจายวัคซีน ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นเกี่ยวกับระยะเวลาเปิดรับนักท่องเที่ยว ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของวัคซีนที่มีประสิทธิผลและความเร็วของการฉีดซึ่งจะเป็นตัวแปรสำหรับการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ แม้ว่าภาพรวมการค้าโลกและราคาสินค้าโภคภัณฑ์กำลังเป็นขาขึ้น ซึ่งไทยได้อานิสงส์ผ่านการส่งออก แต่กิจกรรมในประเทศซบเซาจากพิษโควิด

“กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายในระยะนี้สลับกันไป นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นแต่ยังคงซื้อบอนด์ไทย”

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า (วันที่ 10-14 พ.ค. 64) เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.00-31.35 บาทต่อดอลลาร์ เป็นการเคลื่อนไหวในกรอบแคบ เนื่องจากยังไม่มีปัจจัยใหม่เข้ามาหนุนค่าเงิน ประกอบกับการจ่ายเงินปันผลไปก่อนหน้านี้ รวมถึงมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อพันธบัตรระยะสั้น ส่งผลให้ทิศทางกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ไม่ได้เป็นการไหลออกสุทธิ หรือ Net out flows ซึ่งช่วยหนุนค่าเงินบาทไม่ให้อ่อนค่า ดังนั้น ความเป็นไปได้ที่จะเห็นค่าเงินบาทแตะกรอบบนที่ระดับ 31.35 บาทต่อดอลลาร์ อาจจะค่อนข้างยาก

สำหรับทิศทางเงินทุนเคลื่อนย้าย หรือ ฟันด์โฟลว์ในสัปดาห์ที่ผ่านมาระหว่างวันที่ 3-7 พ.ค.64 พบว่า นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นสุทธิ 6,000 ล้านบาท และเข้ามาซื้อบอนด์สุทธิ 9,600 ล้านบาท ทำให้ทิศทางฟันด์โฟลว์ยังเป็นเงินทุนไหลเข้าสุทธิ 3,600 ล้านบาท 

“สัปดาห์หน้ายังไม่มีปัจจัยใหม่ที่จะหนุนค่าเงิน เพราะปัจจัยเรื่องปันผลหมดแล้ว และโทนตลสดเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ทำให้คนทิ้งดอลลาร์ ทำให้ค่าเงินดอลลาร์ย่อตัวลง ซึ่งหากสัปดาห์หน้าเฟดไม่มีแฟคเตอร์ใหม่เราคงไม่เห็นดอลลาร์กลับมาแข็งค่า และหนุนเงินบาทอ่อนค่า”