ธปท. ชี้ รายได้ดอกเบี้ยแบงก์ไตรมาสแรกวูบ -17.1% ฉุดกำไรธนาคารดิ่ง

กนง.

ธปท. แถลงผลดำเนินงานธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 1/64 พบกำไรสุทธิอยู่ที่ 4.4 หมื่นล้านบาท หดตัว -12% จากช่วงเดียวปีก่อน เหตุรายได้ดอกเบี้ยสินเชื่อปรับลดลง -17.1% หรืออยู่ที่ 1.58 แสนล้านบาท กดส่วนต่างดอกเบี้ยเหลือ 2.43% 

วันที่ 17 พฤษภาคม 2564 นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 1 ปี 2564 พบว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิในไตรมาสที่ 1/64 อยู่ที่ราว 4.4 หมื่นล้านบาท ลดลง -12% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากรายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อที่ปรับลดลง โดยเป็นการปรับลดลงต่อเนื่องตลอดทั้งปี 63 และในไตรมาสที่ 1/64 รายได้ดอกเบี้ยปรับลดลงถึง 17.1% หรืออยู่ที่ 1.58 แสนล้านบาท ส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ปรับลดลงจาก 2.52% มาอยู่ที่ 2.43% อย่างไรก็ดี เทียบกับประเทศอื่นจะพบว่า NIM ปรับลดลงทุกประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ฟิลลิปปินส์ และฮ่องกง เป็นต้น

ทั้งนี้ หากเทียบกำไรสุทธิไตรมาสที่ 1/64 กับไตรมาสก่อนหน้าจะปรับเพิ่มขึ้นจาก 1.7 หมื่นล้านบาท มาอยู่ที่ 4.4 หมื่นล้านบาท เป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและค่าใช้จ่ายเงินสำรองที่ลดลงจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญในระดับสูงในปี 63 โดยอยู่ที่ 2.32 แสนล้านบาท จากไตรมาสที่ 1/64 ตั้งสำรองอยู่ที่ 4.2 หมื่นล้านบาท หรือลดลง -14.2%

“ในช่วงที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ตั้งสำรองค่อนข้างเยอะ ทำให้ไม่มีผลกระทบจากโควิด-19 มากนัก โดยสูงถึง 2.32 แสนล้านบาท แม้ว่าไตรมาสที่ 1/64 จะลดลงจากไตรมาส 4/63 จาก 5.2 หมื่นล้านบาท มาอยู่ที่ 4.2 หมื่นล้านบาท แต่ถือว่าอยู่ในระดับสูง”

ส่วนภาพรวมสินเชื่อธนาคารพาณิชย์มีอัตราการขยายตัวชะลอตัวลง โดยมาจากสินเชื่อธุรกิจที่ขยายตัวลดลงจาก 5.6% มาอยู่ที่ 3% โดยกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีปรับตัวดีขึ้นจากหดตัว 2.8% เหลือหดตัว 1% ส่วนอุปโภคบริโภคขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 4.4% มาเป็น 5.3% โดยมาจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ขยายตัวจาก 5.9% มาอยู่ที่ 6.8% สินเชื่อบัตรเครดิตขยายตัว 6.6% จากที่ติดลบ 2.1% และสินเชื่อส่วนบุคคลจาก 4.8% มาอยู่ที่ 5.9% สอดคล้องกับความต้องการสินเชื่อและการขยายสินเชื่อผ่านแพลฟอร์มต่างๆ ขณะที่สินเชื่อรถยนต์ปรับลดลงจาก 2.4% มาอยู่ที่ 1.2% ตามยอดขายรถยนต์ที่ลดลง

ขณะที่แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) หรือ Stage3 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยภายใต้มาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้และการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นลูกหนี้ช่วยชะลอการเสื่อมคุณภาพลง แต่จากสินเชื่อที่ขยายตัว ส่งผลให้ NPL Ratio ค่อนข้างทรงตัวจากระดับ 3.12% ในไตรมาสที่ 4/63 มาอยู่ที่ 3.10% ในไตรมาสที่ 1/64 โดยสินเชื่ออุปโภคบริโภคปรับจาก 2.85% มาอยู่ที่ 2.92% สินเชื่อธุรกิจจาก 3.23% ลดลงอยู่ที่ 3.17% โดยแบ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่มียอดสินเชื่อน้อยกว่า 500 ล้านบาท ปรับเพิ่มจาก 6.86% มาอยู่ที่ 7.11% ส่วนกลุ่มที่มียอดสินเชื่อมากกว่า 500 ล้านบาท ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 2.55%

โดยคุณภาพสินเชื่ออุปโภคบริโภคเปราะบางมากขึ้นเกือบทุกพอร์ตสินเชื่อ ยกเว้นสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ปรับลดลงจาก 3.78% มาอยู่ที่ 3.74% ส่วนบุคคลจาก 2.38% มาอยู่ที่ 2.46% ขณะที่สินเชื่อรถยนต์เพิ่มขึ้นจาก 1.44% มาอยู่ที่ 1.56% สินเชื่อบัตรเครดิตจาก 2.38% มาอยู่ที่ 2.46%

“แนวโน้มหนี้เสีย เป็นสิ่งที่ธปท.และธนาคารพาณิชย์กังวล โดยเฉพาะในเซกเตอร์ท่องเที่ยวที่น่าห่วง รวมถึงขนส่ง การบิน หรือที่เกี่ยวเนื่องกับร้านอาหาร แต่ก็เชื่อว่าหลักจากภาครัฐคลายเกณฑ์คุมโควิด-19 กิจการเหล่านี้ก็อาจกลับมาดีขึ้นได้ และหากดูฐานะการเงินของระบบธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบัน เชื่อว่าโดยรวม ในการรองรับความไม่แน่นอน และวิกฤติจากโควิด-19 ได้สะท้อนจาก 4 ด้านสำคัญ ที่สะท้อนความเข้มแข็งของธนาคารพาณิชย์ได้เป็นอย่างดี

ทั้งอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ที่ปัจจุบันธนาคารทั้งระบบมีเงินกองทุนทรงตัวในระดับสูงที่ระดับ 20% และในช่วงที่ผ่านมายังมีธนาคารอีก 2 แห่งที่มีการออกตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนขั้นที่ 1 เพิ่มขึ้น เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้เงินกองทุน และหากดูในด้านเงินสำรองต่อหนี้เอ็นพีแอลถือว่าเพิ่มขึ้นสูงต่อเนื่องจาก 149.2% ในไตรมาสหน้าหน้า มาเป็นจาก 149.7% สะท้อนการเตรียมความพร้อมในการรองรับผลกระทบจากโควิด-19 ที่อาจกระทบต่อคุณภาพหนี้ในระยะข้างหน้าได้”