กนง. ชี้ เศรษฐกิจไทยเผชิญ 4 ปัจจัยเสี่ยง โจทย์ใหญ่ “จัดหา-กระจายวัคซีน”

เศรษฐกิจไทย

กนง. ชี้ระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยเผชิญ 4 ปัจจัยเสี่ยง โจทย์ใหญ่อยู่ที่การจัดหา-กระจายวัคซีนให้เพียงพอและทันการณ์

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2564  ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานการประชุมนโยบายการเงิน (กนง.) ของการประชุมเมื่อ 5 พฤษภาคม 2564 โดยระบุถึงเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงมากจากการระบาดของ COVID-19 ระลอกที่ 3 ที่รุนแรงกว่าระลอกที่ 2 ซึ่งกระทบการใช้จ่ายในประเทศและแนวโน้มการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจากผลของมาตรการควบคุมการระบาดและการกลายพันธุ์ของไวรัสที่ระบาดเป็นวงกว้างง่ายขึ้น ส่งผลให้การควบคุมการแพร่ระบาดทำได้ยากขึ้นและระยะเวลาที่ใช้ในการฉีดวัคซีนให้ถึงระดับสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) นานขึ้น 

ขณะที่ตลาดแรงงานมีแนวโน้มเปราะบางขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกจ้างในภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระที่มีรายได้ลดลง อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดีทุกหมวดและทุกตลาดส่งออกตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า แต่การส่งออกสินค้าที่ปรับดีขึ้นส่งผลดีต่อการจ้างงานจำกัด เนื่องจากธุรกิจส่วนใหญ่เลือกการเพิ่มชั่วโมงทำงานแทนการจ้างงานเพิ่ม อีกทั้งธุรกิจส่งออกมีสัดส่วนการจ้างงานไม่มากเมื่อเทียบกับกำลังแรงงานทั้งหมด 

นอกจากนี้ มาตรการเยียวยาและมาตรการการเงินเพิ่มเติมของภาครัฐจะมีส่วนสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะสั้น แม้แรงกระตุ้นภาครัฐในปีงบประมาณ 2565 อาจลดลงบ้าง จากการเร่งเบิกจ่าย พ.ร.ก. กู้เงินในปีงบประมาณปัจจุบันเพื่อเยียวยาผลกระทบจากการระบาดระลอกที่ 3 

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเร่งขึ้นชั่วคราวในไตรมาสที่ 2 ปี2564 จากฐานราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ด้านการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย

ทั้งนี้ มองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ (1) การจัดหาและกระจายวัคซีน รวมถึงประสิทธิผลของวัคซีนที่จะส่งผลต่อระยะเวลาที่จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) และการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ (2) การฟื้นตัวที่แตกต่างกันและไม่ทั่วถึงมากขึ้นจากการระบาดระลอกใหม่ส่งผลให้ตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้นจากแรงงานบางส่วนที่ว่างงานนานขึ้น ซึ่งจะกระทบศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวหลังการระบาดสิ้นสุดลง (scarring effects) 

(3) ฐานะการเงินที่เปราะบางเพิ่มเติมโดยเฉพาะธุรกิจ SMEs และธุรกิจท่องเที่ยวที่มีความสามารถในการชำระหนี้ลดลงตามรายได้ที่ลดลง อีกทั้งบางธุรกิจที่ฐานะการเงินเปราะบางอยู่ก่อนแล้วและถูกซ้ำเติมจากการระบาดระลอกใหม่อาจมีสภาพคล่องไม่เพียงพอ และ (4) ความต่อเนื่องของแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ เสถียรภาพระบบการเงินที่เปราะบางอยู่ก่อนแล้วได้รับผลกระทบเพิ่มเติม ภาคครัวเรือนไทยเปราะบางมากขึ้นจากที่มีสัดส่วนหนี้ต่อรายได้สูงอยู่ก่อนแล้วและสูงกว่าประเทศอื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้อุปโภคบริโภคที่อัตราดอกเบี้ยสูง ทำให้ภาระผ่อนชำระต่อเดือนสูง 

นอกจากนี้ ภาคครัวเรือนมีสัดส่วนเงินออมต่อรายได้ลดลงโดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระและลูกจ้างในภาคบริการ ทำให้สามารถรองรับค่าใช้จ่ายได้ลดลง

มองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยยังเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่จะซ้ำเติมรายได้และฐานะทางการเงินของลูกหนี้ที่เปราะบางอยู่แล้ว ทำให้ลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงในการชำระคืนหนี้ (debt at risk) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ หากไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างเหมาะสมอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังมูลหนี้อื่น (cross default) ได้ 

อย่างไรก็ดี การประเมินพบว่าผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวต่อเสถียรภาพระบบการเงินในภาพรวมยังมีจำกัด แต่ยังต้องติดตามคุณภาพหนี้ครัวเรือนที่อาจด้อยลง รวมถึงความเสี่ยงที่สถาบันการเงินอาจชะลอการปล่อยสินเชื่อให้กับภาคครัวเรือนและธุรกิจที่มีความเสี่ยงด้านเครดิตสูงขึ้นในระยะข้างหน้า

โดยคณะกรรมการฯ เห็นว่าโจทย์สำคัญที่สุดต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ณ ปัจจุบัน คือ การจัดหาและกระจายวัคซีนให้เพียงพอและทันการณ์