เฟดทุบบาทอ่อนสุดใน 9 เดือน ‘กสิกร-ttb’ รื้อคาดการณ์ใหม่

“เงินบาท” อ่อนค่าสุดรอบ 9 เดือน เอฟเฟ็กต์เฟดส่งซิกขึ้นดอกเบี้ย “กสิกรไทย” ปรับคาดการณ์ค่าเงินบาทสิ้นปี’64 ใหม่ คาดอ่อนค่ากว่าเดิมแม้ครึ่งปีหลังเป็นเทรนด์แข็งค่ากว่าครึ่งปีแรก ขณะที่ “ttb” เตรียมปรับใหม่เช่นกัน ฟาก “บลจ.ยูโอบี” คาดปีนี้เงินทุนไหลออกตลาดหุ้นไทย 5,000 ล้านดอลลาร์-ไหลเข้าบอนด์ลดลง

นางสาวพีรพรรณ สุวรรณรัตน์ ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุนอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า กสิกรไทยได้ปรับประมาณการค่าเงินบาท ณ สิ้นปี 2564 ใหม่ โดยคาดการณ์จะอยู่ที่ 30.50 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่ากว่าเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 29.75 บาท ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา เงินบาทอ่อนค่าขึ้นสอดคล้องกับมุมมองของกสิกรไทย เนื่องจากเศรษฐกิจไทยที่อ่อนแอจากการระบาดของโควิด-19 รอบที่ 3 ประกอบกับอัตราการฉีดวัคซีนในไทยและภูมิภาคยังช้ากว่าประเทศเศรษฐกิจหลัก

“ห้องค้ากสิกรไทย ยังคงประเมินว่า เงินบาทในช่วงครึ่งหลังของปี จะกลับมาแข็งค่า เนื่องจากแนวโน้มการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทย การเร่งฉีดวัคซีนทั่วโลก และแนวโน้มการค้าโลกที่ปรับตัวดีขึ้น แต่ด้วยสัญญาณนโยบายการเงินของสหรัฐที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้น ทำให้เราปรับขึ้นประมาณการเงินบาท ณ สิ้นปี 2564 มาอยู่ที่ 30.50 บาท จากเดิมที่คาด 29.75 บาท” นางสาวพีรพรรณกล่าว

ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีหลัง กสิกรไทยประเมินว่า แนวโน้มเงินทุนจะไหลเข้าภูมิภาคเอเชีย โดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มดึงดูดเงินลงทุนไหลเข้าเอเชีย ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย มีแนวโน้มกลับมาเกินดุล จากการเปิดประเทศที่จะทำให้มีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น และการส่งออกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ ยังมีแรงกดดันจากการถอนเงินออกจากบัญชีเงินตราต่างประเทศ (FCD) ที่ผู้ส่งออกมีแนวโน้มจะถอนเงินมากขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนกลับมาเป็นเงินบาทในช่วงที่เงินบาทอ่อนค่า รวมถึงคาดการณ์ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยยาวนาน

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) กล่าวว่า นับตั้งแต่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่ามีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้น ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงไปแล้ว 1.25% (ณ 22 มิ.ย. 2564 ค่าเงินบาทช่วงเปิดตลาดอยู่ที่ 31.64 บาท) และเป็นการอ่อนค่ามากสุดในรอบ 9 เดือน

“เดิมเราประเมินเงินบาทสิ้นปีนี้ที่ 32 บาท แต่ตอนนี้กำลังปรับคาดการณ์ใหม่ คาดจะอ่อนกว่าเดิม” นายนริศกล่าว

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์การลงทุน บลจ.ยูโอบี กล่าวว่า ภาพรวมค่าเงินบาทจากการที่เฟดส่งสัญญาณเข้มงวด ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังต้องใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายพยุงเศรษฐกิจ จะกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าต่อ ในระยะสั้นไม่ได้เป็นบวกกับเศรษฐกิจ เนื่องจากช่วงนี้การส่งออกสินค้าติดขัดในเชิงโครงสร้าง ส่วนการท่องเที่ยวที่ยังไม่พร้อม ในระยะกลางเมื่อเงินบาทอ่อน ก็จะเห็นนักลงทุนต่างชาติทยอยขายสินทรัพย์ในประเทศต่อไป

“คาดว่าทั้งปีจะเห็นเงินทุนไหลออกจากหุ้นไทยรวมราว 5,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่จะมีเงินทุนไหลเข้าในพันธบัตร (บอนด์) ลดลงเหลือเพียง 500-1,000 ล้านดอลลาร์” ดร.จิติพลกล่าว