คลัง จ่อปฏิรูปโครงสร้างภาษี เตรียมงบฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิดจบ

ภาษี

คลังวาง 3 แนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจ ยันฐานะการคลังยังมั่นคง เพียงพอออกมาตรการบรรเทาวิกฤตโควิด ชี้ระยะปานกลางต้องปฏิรูปโครงสร้างภาษีทั้งระบบ ลดการขาดดุลการคลัง เตรียมงบฟื้นฟูเศรษฐกิจช่วงโควิดจบ หลังการจัดเก็บรายได้ต่ำ รายจ่ายสูงขึ้น

วันที่ 16 กรกฎาคม 2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานสัมมนา Thailand Economic Monitor “เส้นทางสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ” ที่จัดโดยธนาคารโลก ว่า รัฐบาลได้วาง 3 แนวทางในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะต่อไป ได้แก่ 1.การบริหารเศรษฐกิจมหภาค ในอนาคตภาระการคลังจะเพิ่มมากขึ้น ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องพิจารณาปฏิรูปโครงสร้างการจัดเก็บรายได้ของรัฐ ให้มีความยั่งยืน เพื่อรองรับวิกฤตต่าง ๆ รวมทั้งการส่งเสริมการลงทุนที่ทำให้เม็ดเงินลงสู่เศรษฐกิจฐานราก และการดึงส่งเสริมให้คนไทยเข้ามาอยู่ในระบบประกันสังคมหรือประกันสุขภาพมากขึ้น เช่น กองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญ หรือกองทุนต่าง ๆ บัตรสวัสดิการ เป็นต้น

2.การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ใน 4 ด้าน คือ 1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ที่เน้นการลดใช้พลังงานและเน้นไปที่พลังงานสะอาดมากขึ้น เช่น การลงทุนผ่านกรีนบอนด์ 2) การมุ่งสู่ดิจิทัลอีโคโนมี ผ่านความร่วมมือทั้งจากภาครัฐและเอกชน โดยฝั่งรัฐบาลจะมีการส่งเสริมการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาใช้ในการให้บริการประชาชนมากขึ้น 3) การเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ หรือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผ่านนโยบายส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า และ 4) การส่งเสริมเฮลท์แคร์ทัวริสซึม หรือกลุ่มท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

และ 3.มาตรการช่วยเหลือเยียวยา โดยเฉพาะมาตรการระยะสั้น เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งรัฐบาลจะมีการประเมินสถานการณ์อีกครั้งว่าจะต้องยืดอายุมาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยออกไปอีกหรือไม่ เนื่องจากมองว่าระยะ 2 เดือน อาจไม่เพียงพอให้ภาคธุรกิจได้ฟื้นตัว

ด้าน น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า จากการเผชิญสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา บทเรียนที่สำคัญจากฝั่งรัฐบาลและกระทรวงการคลังนั้น ภาคการคลังเป็นส่วนสำคัญมากในการดำเนินมาตรการบรรเทาวิกฤต ที่ผ่านมานโยบายการคลังเข้ามาเป็นหลัก เนื่องจากเครื่องยนต์เศรษฐกิจภาคเอกชนเดินไม่ได้

“ถามว่าการคลังถูกผลกระทบมากน้อยอย่างไรนั้น ภาคการคลังถูกผลกระทบมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว ทั้งด้านการจัดเก็บรายได้ เนื่องจากต้องใช้มาตรการภาษีมาช่วยเสริมสภาพคล่องประชาชน และอีกส่วนหนึ่งคือการที่รัฐบาลต้องใช้ภาระงบประมาณเป็นจำนวนมากในการดำเนินนโยบายเพื่อบรรเทาผลกระทบ ซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันคลังยังมีความมั่นคงและเสถียรภาพอยู่ แต่ก็ไม่สามารถคงสถานะอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ได้โดยที่ไม่ทำอะไร ซึ่งปัจจุบันฐานะการคลังยังมีสภาพคล่องที่พอเพียงในการดำเนินนโยบายต่าง ๆ สามารถใช้เครื่องมือในการบรรเทาผลกระทบได้”

น.ส.กุลยา กล่าวว่า การฟื้นฟูภาคการคลังในระยะสั้น และระยะปานกลาง จะต้องติดตามว่าจะบริหารรายได้และรายจ่าย การกู้เงินเพื่อให้ฐานะการคลังอยู่ในระดับที่เหมาะสมอย่างไร โดยกระทรวงการคลังติดตามในเรื่องการกู้เงินให้ดำเนินการอย่างรัดกุม ภายใต้ต้นทุนความเสี่ยงที่เหมาะสม รวมทั้งกรอบวินัยการคลังต่าง ๆ

“ในระยะนี้ยังต้องใช้นโยบายการคลังแบบขยายตัว ยังต้องเห็นการขาดดุลอยู่ แต่ในระยะยาวหากเศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ รัฐบาลสามารถเพิ่มศักยภาพทางด้านการคลัง ทั้งด้านรายได้ และรายจ่ายด้วยแล้ว เรายังมีเป้าหมายในระยะยาวที่จะให้ทยอยปรับลดขนาดของการขาดดุล และมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในที่สุด ซึ่งค่อนข้างเป็นระยะยาวพอสมควร นอกจากดูเรื่องวิกฤตนี้แล้ว ซึ่งเราก็ทำควบคู่กันไป โดยเป็นเรื่องละเอียดอ่อน คือการปฏิรูปโครงสร้างภาษีทั้งระบบ ทั้งทางด้านโครงสร้างภาษี และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีด้วย เพื่อให้ภาครัฐมีรายได้เพียงพอในการรองรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จะต้องฟื้นฟูหลังจากที่โควิดจบลง”

สำหรับในอนาคตจะต้องเพิ่มศักยภาพฐานะการคลัง เนื่องจากคลังมีความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ทั้งความเสี่ยงในด้านวิกฤตสุขภาพ การเข้าสู่สังคมสูงวัย เป็นต้น โดยวิกฤตในอนาคตยังมีอยู่ ฉะนั้น ความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มศักยภาพทางการคลังยังมีอยู่ ทั้งฝั่งรายได้ รายจ่าย และหนี้สาธารณะด้วย เพื่อให้ภาคการคลังรองรับสถานการณ์และความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต โดยวิธีการดำเนินงานจะต้องมีการกำหนดเป้าหมายในการดำเนินการ

ทั้งนี้ ปัจจุบันเน้นเพิ่มศักยภาพการคลังในระยะปานกลาง โดยเน้นหลัก 3R ได้แก่ 1.Reform หรือการปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากต้องส่งเสริมรายได้ของรัฐบาลเพื่อให้มีความยั่งยืนในระยะปานกลาง และเน้นย้ำความโปร่งใส รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บ ได้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามา ซึ่งเน้นไปถึงระยาวด้วย 2.Reshape หรือการปรับ เพื่อควบคุมการจัดสรรงบประมาณ การลงทุน ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ ในการสนับสนุนโครงการที่ก่อให้เกิดการใช้จ่ายในระดับพื้นที่ ซึ่งอาจจะมีการตัดลดรายจ่ายที่ไม่มีความจำเป็น และ 3.Resilience ซึ่งเป็นส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารหนี้สาธารณะ ซึ่งจะต้องทำให้มีภูมิคุ้มกัน เพื่อรองรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด บริหารให้มีความเสี่ยงต่ำภายใต้ต้นทุนที่เหมาะสม