เทคนิคเลือกประกันโควิดอย่างไรให้อุ่นใจ เพิ่มความคุ้มครอง

บุณยนุช ยุทธ์ประทุม นักวางแผนการเงิน CFP®

ในปีนี้ยังเป็นอีกปีที่เราทุกคนยังมีความกังวลอย่างยิ่งกับเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) เนื่องจากจำนวนคนติดเชื้อไวรัสรายใหม่ที่มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และแบบประกันภัยก็ได้มีการพัฒนาถึงเรื่องความคุ้มครองโควิด-19 และการแพ้วัคซีนโควิด-19 นี้ด้วย แล้วเราจะเลือกประกันโควิด-19 อย่างไรให้อุ่นใจและเพิ่มความคุ้มครองจากสวัสดิการที่เรามี

ก่อนที่เราจะเลือกแบบประกัน เรามาทำความรู้จักกับความคุ้มครองของประกันโควิด-19 กันสักนิด โดยในที่นี้จะแบ่งหมวดความคุ้มครองเป็น 3 หมวดหลัก นั่นคือ หมวดความคุ้มครองแบบรับเงินเป็นก้อนเมื่อตรวจพบเชื้อไวรัสโคโรนาหรือแพ้วัคซีน หมวดความคุ้มครองแบบได้รับเงินชดเชยรายวันเมื่อมีการเข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยใน และหมวดความคุ้มครองแบบค่ารักษาพยาบาล ที่จ่ายตามค่าใช้จ่ายจริงจากโรงพยาบาล ไม่เกินวงเงินสูงสุดที่กรมธรรม์ระบุไว้ โดยวงเงินในกรมธรรม์ของสามหมวดนี้อาจแตกต่างกันไปในแต่ละกรณี (1) กรณีพบเชื้อไวรัสโคโรนาแบบไม่รุนแรง (2) กรณีแพ้วัคซีนโควิด-19 แบบไม่รุนแรง (3) ผู้ป่วยอยู่ในภาวะโคม่าจากเชื้อไวรัสโคโรนา และ (4) กรณีผู้ป่วยอยู่ในภาวะโคม่าจากภาวะแทรกซ้อน หรือผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ผู้เอาประกันจึงต้องสำรวจว่าหากผู้เอาประกันเจ็บป่วยจากโรคนี้ จะได้เคลมเงินจากหมวดไหน กรณีใด วงเงินเท่าไหร่บ้าง

นอกจากเรื่องความคุ้มครองแล้ว ผู้เอาประกันควรจะต้องพิจารณาเรื่องอายุที่รับประกัน ระยะเวลารอคอย สัญชาติที่ทำประกันได้ การอยู่พักอาศัยในประเทศไทยเท่านั้น ข้อยกเว้นในเรื่องของอาชีพกลุ่มพิเศษ การเจ็บป่วยที่เป็นมาก่อนและยังไม่ได้รักษาให้หายขาด และวัคซีนโควิด-19 ต้องได้รับการขึ้นทะเบียนของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และได้รับการฉีดวัคซีนโดยโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลเวชกรรมในประเทศไทยเท่านั้น

สำหรับเทคนิคในการเลือกประกันโควิด-19 อย่างไรให้เพิ่มความคุ้มครองจากสวัสดิการที่ท่านมีอยู่แล้วนั้น ท่านสามารถเริ่มต้นจากสำรวจสวัสดิการของตนเองว่าท่านมีสิทธิเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใดได้บ้าง ความใกล้ไกลของโรงพยาบาลจากสถานที่ที่ท่านอยู่ และความอำนวยสะดวกในด้านต่าง ๆ หากท่านจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาการเจ็บป่วยด้วยโรคนี้ แม้ว่าการรักษากรณีเจ็บป่วยแบบไม่รุนแรง ผู้ป่วยจะต้องนอนพักรักษาประมาณ 7-14 วัน (https://med.mahidol.ac.th/th/COVID-19/faq/02apr2020-1018) การเข้าพักรักษาในเวลานานกับสถานพยาบาลที่ท่านพึงพอใจอาจมีผลต่อสุขภาพใจที่ดีของท่านด้วย ซึ่งปัจจุบันผู้ป่วยมีทางเลือกที่จะเข้าพักรับการรักษาที่โรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม หรือโรงพยาบาลโรงแรม Hospitel ซึ่งเดิมทีเป็นโรงแรม แต่มาดัดแปลงเป็นที่พักให้กับผู้ป่วยโดยอยู่ภายใต้การดูแลจากโรงพยาบาล เพื่อรองรับผู้ป่วยที่เจ็บป่วยไม่รุนแรงมากนัก

นอกจากพิจารณาโรงพยาบาลที่ท่านสามารถเข้ารับการรักษาแล้ว ท่านควรพิจารณาวงเงินค่ารักษาหากเชื้อโรคได้ลุกลามจนอยู่ในระยะวิกฤต ท่านยังคงสามารถเบิกจ่ายตรงกับสวัสดิการของรัฐ หรือเคลมบริษัทประกันได้เต็มจำนวนค่ารักษาทั้งหมดหรือไม่ และสำรวจวงเงินสูงสุดที่สามารถเคลมได้ เนื่องจากรักษาพยาบาลผู้ป่วยระยะวิกฤตมีค่าใช้จ่ายที่สูง หากท่านมีวงเงินค่ารักษาที่จำกัด การเลือกประกันโควิด-19 ที่มีค่ารักษาพยาบาลที่มากพอก็สามารถช่วยแบ่งเบาภาระค่ารักษานี้ได้ ไม่ให้มีส่วนต่างที่ท่านต้องจ่ายเพิ่มเติมเองมากจนเกินไป ตัวอย่าง ค่าใช้จ่ายที่ Hospitel 14 วัน 40,000 บาท ค่าใช้จ่ายผู้ป่วยในที่โรงพยาบาล 14 วันเฉลี่ย 200,000 บาท และค่ารักษาผู้ป่วยในระยะวิกฤตที่โรงพยาบาล ไม่ต่ำกว่า 1 เดือน ค่ารักษาเฉลี่ย 1-1.5 ล้านบาท (https://www.prachachat.net/marketing/news-664963)

หากท่านได้พิจารณาว่าสวัสดิการที่มีอยู่ทั้งจากภาครัฐ และ/หรือ จากประกันสุขภาพส่วนตัวของท่าน มีค่ารักษาพยาบาลที่รองรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้ที่เพียงพอแล้ว การเพิ่มประกันโควิด-19 ที่ได้รับเงินเป็นก้อนหรือได้รับเงินชดเชยรายวันก็จะเป็นทางเลือกที่ดี สำหรับไว้ใช้จ่ายอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากค่ารักษาพยาบาล เช่น เงินชดเชยรายได้วันละ 2,000 บาท เข้ารับการรักษา 14 วัน ท่านสามารถเคลมประกัน ได้เงินชดเชย 28,000 บาท ไว้ใช้จ่ายในช่วงพักงานระหว่างรักษาตัวในครั้งนี้

แม้การทำประกันจะช่วยให้เราได้คลายกังวลกับค่ารักษาพยาบาลไปได้ส่วนหนึ่ง แต่สุดท้ายเราทุกคนไม่มีใครอยากเจ็บป่วย โดยเฉพาะโรคที่มีการติดต่อได้ง่ายและแพร่ระบาดได้รวดเร็วอย่างเชื้อไวรัสโคโรนานี้ สิ่งที่ดีที่สุดคือการร่วมมือร่วมใจกันใส่หน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด รักษาระยะห่าง ล้างมือบ่อย ให้สะอาด หากมีไข้ ไอ หายใจเหนื่อยหอบควรไปพบแพทย์เพื่อได้รับการรักษาที่ถูกวิธี และฉีดวัคซีนเพื่อลดความรุนแรงของอาการป่วยและลดการเสียชีวิต โดยหากจำนวนประชากรมีมากกว่า 75% ของประชากรทั้งประเทศได้รับการฉีดวัคซีนที่ครบถ้วนได้เร็ว เราทุกคนก็สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติกันเร็วขึ้นด้วย (https://thestandard.co/coronavirus-vaccine-will-bring-everything-back-in-7-years/, https://www.bloomberg.com/graphics/covid-vaccine-tracker-global-distribution/ )

ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand