รพ.เอกชน แจงค่ารักษาโควิด สปสช. เปิดรายการรัฐจ่ายฟรี

ภาพ pixabay

สปสช. เปิดเกณฑ์รักษาโควิดฟรี ด้าน รพ.เอกชน แจงงบฯ ครอบคลุมค่าใช้จ่าย 10-15%

วันที่ 8 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีประชาชนจำนวนหนึ่งร้องเรียนเรื่องการถูกเรียกเก็บเงินค่ารักษาโรคโควิดจากโรงพยาบาลเอกชน ผ่านสายด่วน 1330 ในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ สปสช.ออกมาวอน รพ.เอกชน อย่าคิดเงินผู้ป่วยโควิด พร้อมย้ำว่าภาครัฐพร้อมจ่ายค่ารักษาครอบคลุมทุกกระบวนการ

เปิดเกณฑ์รักษาโควิดฟรี

ทั้งนี้ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการรักษาผู้ป่วยโควิดฟรี จะมีหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ว่า กรณีผู้ป่วยโควิดให้สถานพยาบาลรักษาในภาวะฉุกเฉิน จะไม่มีเงื่อนไขในการเรียกเก็บเงินใด ๆ โดย รพ.ที่รับรักษาจะได้รับค่าใช้จ่ายจาก สปสช. ตามที่กำหนดเกณฑ์ค่าใช้จ่ายไว้

อย่างไรก็ตาม หาก รพ.มีความเห็นส่งผู้ป่วยโควิดไปรักษายังสถานพยาบาลที่เห็นสมควร แต่ผู้ป่วยหรือญาติปฏิเสธไม่ขอให้ส่งต่อ หรือประสงค์รักษาพยาบาลที่อื่น เมื่อนั้นผู้ป่วยจะต้องเป็น “ผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง”

รพ.เอกชน แจงค่าส่วนต่าง

ล่าสุด นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันการรับรักษาผู้ป่วยโควิดของ รพ.เอกชน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน

1.การเข้ารับการรักษาใน รพ.เอกชน ผ่านการตรวจหาเชื้อโควิด และพบผลเป็นบวก ในกรณีนี้ทาง รพ.เอกชน ที่ตรวจต้องรับเคสเพื่อรับรักษา หรือประเมินเพื่อส่งผู้ป่วยโควิดไปยังโรงพยาบาลสนาม หรือสถานพยาบาลอื่น ๆ ตามที่เห็นสมควร

โดยเคสประเภทนี้ ผู้ป่วยโควิดจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาใด ๆ รัฐจะเป็นผู้ออกค่ารักษาทั้งหมด

2.การเข้ารับการรักษาใน รพ.เอกชน โดยผู้ป่วยปฏิเสธการรักษาจากทางภาครัฐ และขอเลือกสถานพยาบาลเอง

ในกรณีนี้รัฐจะออกค่ารักษาพยาบาลให้ โดยกำหนดราคากลางออกมา แต่หากมีค่าใช้จ่ายที่สูงเกินที่รัฐกำหนดราคาไว้ ผู้ป่วยจะต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายส่วนต่างทั้งหมด

“ปกติเคสการรักษาผู้ป่วยโควิด ทางภาครัฐ และ สปสช.ต่างช่วยออกค่ารักษาพยาบาลให้ แต่เนื่องจากค่าใช้จ่ายและต้นทุนของ รพ.เอกชน อาทิ ค่ายาเวชภัณฑ์ ค่าแพทย์เฉพาะทาง สูงกว่า รพ.รัฐ จึงทำให้ผู้ป่วยบางคนที่เข้ารักษา รพ.เอกชน ต้องออกค่าส่วนต่างเอง”

เช่น กรณีค่าใช้จ่ายผู้ป่วยโควิดใน รพ.ธนบุรีเอง หากเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว พักในฮอสพิเทล 14 วัน ราคา 40,000 บาท, กลุ่มสีเหลือง พักห้องเดี่ยว 14 วัน เฉลี่ย 200,000 บาท และกลุ่มสีแดงรักษาในห้องไอซียู ไม่ต่ำกว่า 1 เดือน มีค่ารักษาเฉลี่ย 1-1.5 ล้านบาท

โดยราคากลางที่รัฐบาลกำหนดไว้ ไม่เพียงพอต่อต้นทุนของ รพ.เอกชน หากนำราคากลางมาเฉลี่ยกับค่ารักษาพยาบาลใน รพ.เอกชน อาจครอบคลุมเพียง 10-15% จากค่าใช้จ่ายทั้งหมด

“ที่ผ่านมามีเคสตรวจเจอเชื้อโควิดที่ รพ.ธนบุรี 10% จากที่ตรวจทั้งหมดต่อวัน ใน 7% เราส่งต่อไปที่ รพ.สนาม หรือสถานพยาบาลอื่น ๆ ส่วนอีก 3% ที่ส่งออกไม่ได้เราต้องรับเคสไว้เอง ซี่งเป็นการรักษาฟรีทั้งหมด โดยทาง รพ.ต้องไปเบิกกับภาครัฐ ซึ่งบางครั้งราคาค่ารักษาสูงกว่าที่ราคากลางกำหนดไว้”

เปิดเกณฑ์ราคากลางรักษาโควิด

อย่างไรก็ตาม วานนี้ (7 พ.ค.) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้วอน รพ.เอกชน อย่าเรียกเก็บค่ารักษาผู้ป่วยโควิด พร้อมย้ำว่าภาครัฐพร้อมออกค่ารักษาพยาบาลให้แก่ผู้ป่วยทุกคน

โดยมีรายละเอียดตามประกาศ สปสช. เรื่อง การขอรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2564 (ฉบับแก้ไขและเพิ่มเติม)

กำหนดอัตราจ่ายค่าบริการให้แก่โรงพยาบาลทั้งการตรวจและการรักษา รวมไปถึงค่าที่พักอื่น ๆ เช่น โรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel ดังนี้

1.ค่าตรวจแบบ RT-PCR จ่ายตามจริงไม่เกิน 1,600 บาท/ครั้ง
2.ค่าเก็บตัวอย่างส่งตรวจ 100 บาท/ครั้ง
3.ค่าบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจ 600 บาท/ครั้ง
4.ค่ายารักษาผู้ป่วยใน จ่ายตามจริงไม่เกิน 7,200 บาท/ราย
5.ค่าห้องดูแลการรักษารวมค่าอาการ จ่ายตามจริงไม่เกิน 2,500 บาท/วัน
6.ค่าห้องความดันลบหรือห้อง ICU ซึ่งเป็น UCEP COVID-19 หรือเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติถึงแก่ชีวิตกรณีโควิด วันละ 5,000 บาท
7.ค่าหอผู้ป่วยเฉพาะโควิด-19 และสถานกักกันในโรงพยาบาล (Hospitel) จ่ายตามจริงไม่เกิน 1,500 บาท/วัน
8.ค่ายานพาหนะรับส่งจ่ายตามคู่มือแนวทางปฏิบัติในการขอรับค่าใช้จ่ายของสำนักงานฯ
9.ค่าอุปกรณ์ PPE รวมค่าทำความสะอาดยานพาหนะเพื่อฆ่าเชื้อ 3,700 บาท/ครั้งเป็นต้น

อย่างไรก็ดี ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากการสอบถามไปยังโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่ง พบว่า ผู้ป่วยโควิด จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง เช่น ค่าห้องและอาหาร ในกรณีปค่าใช้จ่ายรักษาผู้ป่วยโควิดสูงเกินมาตรฐานราคากลาง ปฏิเสธการส่งตัวไปยังฮอสพิเทล หรือโรงพยาบาลเครือข่าย และเลือกเข้ารักษาตัวในห้องเดี่ยวหรือห้องพิเศษ ซึ่งอยู่นอกเหนือจากสิทธิ์ของรัฐบาลที่ครอบคลุมเฉพาะห้องร่วม ห้องคู่ และห้องไอซียูสำหรับผู้ป่วยวิกฤตเท่านั้น

อีกทั้งอาจยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อาทิ กรณีต้องใช้ยาบางตัวที่อยู่นอกบัญชีท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุข และค่าเบ็ดเตล็ดอื่นๆ

ทั้งนี้ บางโรงพยาบาลมีแนวทางส่งตัวผู้ป่วยที่ติดเชื้อ แต่ไม่แสดงอาการและผลเอ็กซเรย์ปอดไม่พบความปกติไปกักตัวดูอาการที่ฮอสพิเทลต่อไป