รู้ว่าไม่รู้ คือ ปัญญา

คอลัมน์ Smart SMEs
ดวงกมล ลิมป์พวงทิพย์
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

“The only true wisdom isknowing you know nothing” แปลได้ว่า “ปัญญาที่จริงแท้เพียงหนึ่งเดียวคือการที่รู้ว่าจริงแล้ว คุณไม่รู้อะไรเลยสักอย่างเลย” โดยคำกล่าวนี้ เป็นข้อคิดคำคมที่ได้ถูกกล่าวถึงมาอย่างยาวนาน ที่เขียนโดย โซเครติส ผู้เป็นนักปราชญ์ชาวเมืองเอเธนส์ในยุคกรีกโบราณ ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้วางรากฐานของปรัชญาตะวันตก

โดยแม้ในยุคปัจจุบัน คำกล่าวที่ว่านี้ก็ยังคงเป็นความจริงและเป็นที่ประจักษ์ โดยเฉพาะในยุคของการแพร่ระบาดของโควิดนี้ ซึ่งเป็นโรคที่ไม่มีใครรู้จักมาก่อน ซึ่งในช่วงเริ่มต้นก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า เราทุกคนล้วนกลายเป็นผู้ไม่รู้ ไม่รู้ว่ามันมาอย่างไร ไม่รู้ว่าจะป้องกันอย่างไร ไม่รู้มากมายไปหมด แม้กระทั่งผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ มากประสบการณ์ในแขนงสาขาต่าง ๆ ล้วนกลายเป็นผู้ไม่รู้

เช่นเดียวกับผู้ประกอบการธุรกิจที่ไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็ก หรือมีประสบการณ์ธุรกิจมากมายขนาดไหน ก็ล้วนกลับกลายเป็นผู้ไม่รู้ ว่าจะต้องดำเนินธุรกิจอย่างไรในสภาวการณ์ภายใต้วิกฤตเช่นนี้ด้วยเช่นกัน

ความไม่รู้เช่นนี้ โดยทั่วไปอาจดูเหมือนไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดีนัก โดยเฉพาะเมื่อเราอยู่ในสังคมที่ยกย่องนับถือผู้มีความรู้ ซึ่งในทางกลับกัน การไม่รู้ก็จะไม่เป็นที่ยอมรับ ถือเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์ การยอมรับว่าไม่รู้ ดูจะเป็นสิ่งด้อย เป็นคนไม่เก่งไม่สมเป็นผู้นำ เราจึงไม่ค่อยเจอใครบอกว่า ไม่รู้ และไม่ยอมรับด้วยว่าไม่รู้ จนทำให้หลายคนแม้ว่าไม่รู้ แต่ต้องบอกว่ารู้

ซึ่งถ้ามองในอีกด้านหนึ่งตามคำกล่าวของโซเครติส แท้จริงแล้วความไม่รู้กลับนำมาซึ่งปัญญา หากเราพร้อมยอมรับลดอีโก้จากความเชื่อ ความรู้ จากประสบการณ์ในอดีตของเรา เปิดใจสู่การเรียนรู้ จากไม่รู้กลายเป็นรู้

ซึ่งจากสถานการณ์ในปัจจุบันดังเช่นวิกฤตโควิดนี้ ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไร ประสบการณ์มากมายแค่ไหน ล้วนต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ไปพร้อม ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นสิ่งใหม่ที่อาจเรียกกันว่า new normal ที่ธุรกิจทุกระดับต้องเรียนรู้และปรับธุรกิจให้สอดคล้องกับบริบทที่เกี่ยวข้อง ธุรกิจที่ทำได้ดีก็จะเหมือนข้ามเปิดไปสู่โลกใหม่ ตลาดใหม่ โอกาสใหม่ ๆ ได้องค์ความรู้ใหม่ ซึ่งเปลี่ยนเสมือนปัญญาในโลกธุรกิจ

ดังนั้น ธุรกิจควรมองในเรื่อง ความไม่รู้ในด้านบวก โดยในองค์กรจะต้องปลูกฝังทัศนคติที่ว่า ความ “ไม่รู้” ไม่ใช่เรื่องผิด ต้องไม่ตำหนิผู้ที่รู้น้อยกว่า หรือไม่รู้ เพื่อให้คนในองค์กรมีความกล้าแสดงออกในการยอมรับว่า “ไม่รู้” ซึ่งจะนำไปสู่การเรียนรู้และพัฒนาจากไม่รู้กลายเป็นรู้ เกิดเป็นปัญญา

แต่หลายครั้ง ๆ ผู้คนส่วนใหญ่มักจะกลัวที่คนอื่นจะว่าเขาว่าไม่รู้ โดยการแสดงออกว่ารู้ ซึ่งก็เป็นการปิดกั้นการเรียนรู้ หรือการซักถาม หรือการสื่อสารที่ดีในองค์กร ซึ่งผู้นำจะต้องเป็นผู้ริเริ่ม

เริ่มที่จะกล้าแสดงออกว่าไม่รู้ และพร้อมที่จะเรียนรู้ รับฟัง ก็จะช่วยให้พนักงานกล้าที่จะแสดงออกด้วยเช่นกัน นำไปสู่องค์กรที่มีบรรยากาศในการเรียนรู้ เพิ่มพูนปัญญาอยู่เสมอ

ทั้งนี้ ใน Harvard Business Review ได้เปิดเผยการทดลองระหว่างคน 4 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มที่เชื่อว่าตนเองรู้ กลุ่มที่เชื่อว่าตนเองรู้ดีอยู่แล้ว กลุ่มที่ไม่แน่ใจ กลุุ่มที่ยอมรับว่าตนเองไม่รู้ พบว่ากลุ่มที่สามารถตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ strategic decision making ได้ดีที่สุด ก็คือ กลุ่มที่ยอมรับว่าตนเองนั้นไม่รู้

อย่างไรก็ตาม มีความไม่รู้ ในรูปแบบหนึ่งที่ไม่ควรยอมรับได้ นั่นก็คือ ความ “ไม่รู้ว่าไม่รู้และคิดว่ารู้” หรือเป็นกลุ่มคนประเภทที่ “คิดว่าตัวเองรู้ดี แต่ที่จริงไม่รู้”ซึ่งคนกลุ่มนี้มักมีความเชื่อมั่นในตนเองสูงจนเกิดเป็นอีโก้ จนเป็นภัยกับองค์กรและสังคมคนรอบข้างได้

ไม่รู้ เรียนรู้ ไม่รู้ เรียนรู้ ไม่รู้ เรียนรู้…” เรียนรู้ ราวกับว่าคุณจะมีชีวิตอยู่ตลอดไป”มหาตมา คานธี… “จงกระหายและทำตัวให้โง่ตลอดเวลา” สตีฟ จ็อบส์