แบงกิ้งเอเย่นต์โตต่อเนื่อง ธนาคารพาณิชย์ชี้ปิดห้างชั่วคราวช่วงล็อกดาวน์ยิ่งหนุนธุรกรรมพุ่ง “ไทยพาณิชย์” เผยลูกค้าแห่ยืนยันตัวตนเปิดบัญชีเงินฝากออนไลน์ “ซีไอเอ็มบี ไทย” เผยเดือน ก.ค.ธุรกรรมพุ่งสูงสุด ฟาก “ธนาคารกรุงเทพ” จ่อขยายบริการ e-KYC ปลายเดือน ส.ค.นี้ ลุยขยายพันธมิตรต่อเนื่อง
นางสาวอรรัตน์ ชุติมิต รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Retail and Business Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ลูกค้าแบงก์มีการทำธุรกรรมผ่านช่องทางตัวแทน (แบงกิ้งเอเย่นต์) เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะช่วงที่มีการปิดสาขาในห้างสรรพสินค้า ซึ่งลูกค้ามีการใช้บริการยืนยันตัวตนเพื่อเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์แบบไม่มีสมุด (ออนไลน์) กันมากขึ้น
อย่างไรก็ดี การทำธุรกรรมกับแบงกิ้งเอเย่นต์ของไทยพาณิชย์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาต่อเนื่อง โดยช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ก.ค. 2564) มีจำนวนเกือบ 15 ล้านรายการ มูลค่าธุรกรรมทั้งสิ้นกว่า 6.5 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่จะเป็นการฝากเงิน รองลงมาคือ บริการจ่ายบิล และถอนเงินตามลำดับ
“ปัจจุบันธนาคารมีพันธมิตรทั้งสิ้น 8 ราย โดยภาพรวมธุรกรรมแบงกิ้งเอเย่นต์มีการเติบโตประมาณ 45% เมื่อเทียบกับปี 2563 และธุรกรรมเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดหลังจากสาขาบางแห่งในห้างปิด” นางสาวอรรัตน์กล่าว
นายเอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร ผู้บริหารผลิตภัณฑ์ธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า การเปิดบัญชีเงินฝากกับซีไอเอ็มบี ไทย ช่องทางออนไลน์ผ่านทางเคาน์เตอร์เซอร์วิส หนึ่งในแบงกิ้งเอเย่นต์มีมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกรรมผ่านแบงกิ้งเอเย่นต์เพิ่มขึ้นถึง 50% ในไตรมาสแรกปีนี้ หรือเฉลี่ย 2,600 บัญชีต่อเดือน อย่างไรก็ดี ในไตรมาส 2 มีการชะลอตัวลงไป เนื่องจากคนชะลอทำธุรกรรมจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3
“แต่เดือน ก.ค.ที่ผ่านมา มีสัญญาณทำธุรกรรมผ่านแบงกิ้งเอเย่นต์เพิ่มขึ้นเป็น 54% หรือเฉลี่ย 2,700 บัญชีต่อเดือน เนื่องจากสาขาในห้างสรรพสินค้าปิดชั่วคราว และคนต้องการกระจายเงินฝากหลังมีการลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากเหลือ 1 ล้านบาทด้วย” นายเอกสิทธิ์กล่าว
ทั้งนี้ ซีไอเอ็มบี ไทยตั้งเป้าภายในสิ้นปีนี้จะมีเงินฝากอยู่ที่ 2,000 ล้านบาทหรือเติบโต 117% โดยธนาคารอยู่ระหว่างเจรจาพันธมิตรเพิ่มอีก 2 ราย เพื่อรองรับธุรกรรมที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งน่าจะเปิดตัวได้ไตรมาส 1 ปี 2565 “เทรนด์เปิดบัญชีผ่านแบงกิ้งเอเย่นต์ช่วงที่เหลือสูงขึ้นต่อเนื่อง เพราะคนต้องการกระจายเงินฝากและบัญชีออนไลน์ให้ดอกเบี้ยสูง ซึ่งการที่สาขาในห้างปิดแต่เคาน์เตอร์เซอร์วิสเข้าถึงง่าย คนก็เลยหันมาทำธุรกรรมช่องทางนี้แทน” นายเอกสิทธิ์กล่าว
นางปรัศนี อุยยามะพันธุ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า แนวโน้มธุรกรรมผ่านแบงกิ้งเอเย่นต์มีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยไตรมาส 2 ปีนี้ธุรกรรมเติบโตสูงถึง 55-60% เมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งส่วนใหญ่กว่า 90% จะเป็นธุรกรรมฝากเงิน
ทั้งนี้ ปัจจุบันสัดส่วนเงินฝากผ่านแบงกิ้งเอเย่นต์ของธนาคารอยู่ที่ 11% ซึ่งภายในสิ้นปีน่าจะเพิ่มเป็น 20% ของเงินฝากทั้งหมด “สะท้อนจากพฤติกรรมลูกค้าที่เข้าสาขาน้อยลง ตลอดจนการที่สาขาในห้างสรรพสินค้าปิดทำการ รวมถึงจุดให้บริการของแบงกิ้งเอเย่นต์ค่อนข้างกระจาย” นางปรัศนีกล่าว
นางปรัศนีกล่าวว่า เงินฝากที่ทำผ่านแบงกิ้งเอเย่นต์ของธนาคารมีวงเงินเฉลี่ยอยู่ที่ 8,000 บาทต่อรายการ โดยธุรกรรมมากกว่า 90% จะมาจากร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น เพราะมีจุดให้บริการถึง 1.26 หมื่นจุด และที่เหลือราว 10% จะเป็นเทสโก้ โลตัส และไปรษณีย์ไทย
ทั้งนี้ จากแนวโน้มธุรกรรมแบงกิ้งเอเย่นต์ที่เติบโตต่อเนื่อง ภายในสิ้นเดือน ส.ค.นี้ธนาคารจะขยายบริการยืนยันตัวตน (e-KYC) เพื่อเปิดบัญชีออนไลน์ผ่านเซเว่นอีเลฟเว่น จากปัจจุบันทำได้ที่เคอรี่ เอ็กซ์เพรส รวมถึงมีแผนขยายความร่วมมือกับพันธมิตรอีก 3-4 ราย ซึ่งอยู่ระหว่างเจรจาภายในปีนี้น่าจะเห็นความร่วมมือ 1-2 ราย เป็นกลุ่มร้านสะดวกซื้อ และเครื่อง Kiosk โดยลูกค้าทำธุรกรรมได้ 24 ชั่วโมง
“ธุรกรรมฝากเงินผ่านแบงกิ้งเอเย่นต์โตขึ้นเรื่อย ๆ สอดคล้องกับธุรกรรมสาขาและเครื่อง CDM ที่ลดลง โดยลูกค้าสัดส่วนมากกว่า 55% จะนิยมทำรายการในช่วงสาขาปกติปิดทำการ” นางปรัศนีกล่าว