ธปท.ยันรัฐกู้เพิ่ม 1 ล้านล้านช่วยหนุนเศรษฐกิจโตได้ 3.2% ใน 5 ปีข้างหน้า

แบงก์ชาติ-BOT-เงินบาท

ธปท.เคาะแบบจำลองรัฐกู้เงินเพิ่ม 1 ล้านล้านบาท ชี้เร่งอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ-ลดการปิดกิจการ-จ้างงาน หนุนจีดีพีไทยใน 5 ปีข้างหน้าโตได้ 3.2% หากไม่ทำโตต่ำ 3% ลั่นแม้หนี้สาธารณะพุ่ง 70% แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจดีย่อมเก็บภาษีง่ายกว่าแตกต่างกัน 5%

วันที่ 21 สิงหาคม 2564 นายสักกะภพ พันธ์ยานุกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ได้จัดทำแบบจำลองสมมติฐานสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีภายใต้การกู้เงินเพิ่มเติม 1 ล้านล้านบาท จะพบว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาเติบโตต่ำกว่าศักยภาพ เพราะรายได้ครัวเรือนลดลง และเผชิญปัญหาการปิดกิจการ จนเกิดหลุมรายได้ที่หายไปกว่า 2.6 ล้านล้านบาท

สักกะภพ พันธ์ยานุกุล

ดังนั้น มองว่าภาครัฐจะต้องเร่งส่งผ่านความช่วยเหลือไปยังกิจการและลูกจ้าง เพื่อไม่ให้เกิดเป็นแผลเป็นทางเศรษฐกิจ โดยภายใต้สมมติฐานการกู้เงินเพิ่มเติม 1 ล้านล้านบาท และเร่งอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจในช่วง 2-3 ปีนี้ จะส่งผลต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในช่วง 5 ปีข้างหน้าขยายตัวได้ที่ระดับ 3.2% แต่กรณีไม่ได้ทำอะไรเลย ส่งผลให้จีดีพีเหลือโตไม่ถึง 3%

“ความเสี่ยงจากกู้เงินเพิ่มเติม 1 ล้านล้านบาท ยอมรับว่าในช่วงแรกอาจจะเห็นสัดส่วนหนี้สาธารณะวิ่งขึ้นเร็วไปแตะระดับ 70% ในช่วง 3-4 ปีข้างหน้า แต่การกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทอัดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ก็จะทำให้การจัดเก็บภาษีในช่วง 5 ปีข้างหน้าทำได้เร็วกว่าในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี เพราะมองว่าการที่เศรษฐกิจดีจะทำให้เราปฏิรูปเรื่องภาษีได้ง่ายขึ้น เช่น การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในช่วงที่เศรษฐกิจดีย่อมทำได้ง่ายกว่า และจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะลดลงได้เยอะ โดยหากเทียบในช่วง 10 ปีข้างหน้าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีมีความแตกต่างกันถึง 5% ระหว่างการทำและไม่ทำ”