ตลาดตราสารหนี้ไทยสู้โควิด

การเงิน ตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ กราฟ เศรษฐกิจ
คอลัมน์สถานีลงทุน

ศิรินารถ อมรธรรม
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย

 

นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ขึ้นในประเทศไทยในช่วงต้นปี 2563 จนถึงขณะนี้ นับว่ายาวนานกว่าที่ทุกคนคาดการณ์ไว้ เกิดผลกระทบต่อประชาชนและภาคธุรกิจในวงกว้างอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งก็หนีไม่พ้นที่รัฐบาลจะต้องเข้ามาช่วยเหลือเยียวยาผ่านโครงการต่าง ๆ ด้วยการกู้เงินภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาและเยียวยาผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 จำนวน 2 ฉบับจนถึงปัจจุบันนี้ มีวงเงินรวมกัน 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินที่รัฐบาลจะต้องจัดหามาเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากการกู้เพื่อชดเชยงบประมาณขาดดุล

รัฐบาลมีหลายช่องทางในการกู้เงิน โดยช่องทางหลักคือ การกู้จากตลาดตราสารหนี้ในประเทศ ผ่านการออกตราสารหนี้ของรัฐบาล ได้แก่ ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล และพันธบัตรออมทรัพย์ ด้วยความต้องการกู้เงินที่เพิ่มสูงขึ้น อันสืบเนื่องมาจากโควิด รัฐบาลจึงมีการออกตราสารหนี้เพิ่มขึ้นในปีงบประมาณ 2563-64 ที่ปีละกว่า 1-1.6 ล้านล้านบาท มูลค่าคงค้างตราสารหนี้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้นจาก 4.8 ล้านล้านบาท เป็น 6.5 ล้านล้านบาท ในช่วงดังกล่าว มีสัดส่วนสูงขึ้นเป็น 45% ของมูลค่าคงค้างรวมตราสารหนี้ไทย และเพื่อระมัดระวังไม่ให้กระทบต่อสภาพคล่องในตลาด

ซึ่งจะกดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่เป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้น รัฐบาลและ ธปท.ได้ร่วมกันปรับแผนการออกตราสารหนี้ภาครัฐเพื่อให้สภาพคล่องในระบบมีเพียงพอรองรับการออกตราสารหนี้ของรัฐบาลได้เพิ่มขึ้น เช่น ธปท.มีการปรับลดการออกตราสารหนี้ลง

ทั้งนี้ สภาพคล่องในตลาดเองก็ถือว่าอยู่ในระดับที่สูง เห็นได้จากปริมาณเงินฝากธนาคารที่มีจำนวนสูงขึ้นเรื่อย ๆ นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด การเสนอขายพันธบัตรออมทรัพย์ที่ผ่านมามูลค่ากว่า 40,000 ล้านบาท จึงขายได้หมดภายในเวลาเพียงไม่กี่วัน ไม่เพียงแต่การออกตราสารหนี้ของภาครัฐ ภาคเอกชนก็สามารถออกหุ้นกู้ได้เพิ่มขึ้น โดย 7 เดือนแรกของปีนี้ การออกหุ้นกู้ระยะยาวมีมูลค่ารวมกว่า 6 แสนล้านบาท สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วกว่า 50% ในขณะที่สินเชื่อธนาคารพาณิชย์โตขึ้นเพียงเล็กน้อย

ในภาพรวมจึงดูเหมือนว่าตลาดน่าจะมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะรองรับการออกตราสารหนี้ของทั้งภาครัฐและเอกชนในอนาคตได้โดยไม่มีแรงกดดันให้ bond yield สูงขึ้นมากนัก เนื่องจากตอนนี้การคุ้มครองเงินฝากก็ได้ปรับลดวงเงินลง บวกกับดอกเบี้ยเงินฝากที่คาดว่าจะต่ำลงจากการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้คาดว่าน่าจะมีเงินฝากจำนวนหนึ่งที่ต้องการโยกไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า แต่ปลอดภัยอย่างพันธบัตรออมทรัพย์

ผู้ลงทุนบุคคลหรือประชาชนจึงดูจะมีบทบาทมากขึ้นในฐานะเป็นผู้ให้กู้แก่รัฐบาล สัดส่วนการถือครองพันธบัตรรัฐบาลของผู้ลงทุนบุคคลสูงขึ้นในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา จาก 4% เป็น 5.2% ส่วนผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้มากขึ้นก็น่าจะต้องการลงทุนในหุ้นกู้ซึ่งให้ผลตอบแทนสูงกว่า ช่วงที่ผ่านมาจึงมีหุ้นกู้เสนอขายต่อนักลงทุนทั่วไป (public offering : PO) เพิ่มมากขึ้น และก็ดูจะมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก

นอกจากนี้ ผู้มีส่วนร่วมในการเสนอขายตราสารหนี้ในตลาดแรกได้มีการปรับรูปแบบและช่องทางการเสนอขายให้เป็น online มากขึ้น หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากการ lockdown เมื่อต้นปีที่แล้ว มีส่วนช่วยให้ยอดการออกหุ้นกู้ในปีนี้ดีขึ้นจากปีที่แล้วมาก คาดว่าผู้ร่วมตลาดน่าจะมีการปรับปรุงการเสนอขายให้เป็นดิจิทัล มีความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

ตลาดตราสารหนี้สามารถทำหน้าที่เป็นกลไกส่งผ่านสภาพคล่องในตลาดไปให้ผู้ที่ต้องการเงินทุนทั้งภาครัฐ และเอกชนได้ใช้สู้กับโควิด เป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมและทั้งผู้กู้กับผู้ลงทุน แต่ก็ยังมีอีกหลายประเด็นที่ควรได้รับการแก้ไข ซึ่งโควิดได้ช่วยทำให้เห็นชัด เช่น หลักเกณฑ์เรื่องหลักประกันในการออกหุ้นกู้มีประกัน แนวทางการจัดการหุ้นกู้ที่มีปัญหา และความเข้าใจเกี่ยวกับการผิดนัดชำระ


ขอทิ้งท้ายไว้สักนิดสำหรับนักลงทุนว่า การลงทุนมีความเสี่ยงเสมอ ยิ่งผลตอบแทนสูงความเสี่ยงก็ยิ่งสูง ความเสี่ยงด้านเครดิตถือเป็นความเสี่ยงหลักของการลงทุนในตราสารหนี้ การผิดนัดชำระจึงไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติถ้าจะมีเกิดขึ้นแม้ว่าจะไม่มีใครอยากให้เกิด ดังนั้นผู้ลงทุนควรประเมินความเสี่ยงที่ตัวเองสามารถรับได้ก่อนเลือกลงทุนหุ้นกู้ที่อันดับเครดิตต่าง ๆ ไม่ควรพิจารณาเพียงผลตอบแทนที่สูงเท่านั้น และควรติดตามภาวะตลาดอย่างสม่ำเสมอเพื่อตามให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง