ธพว.เดินหน้าพยุง SME อัด”สภาพคล่อง-พักหนี้”

เอสเอ็มอีแบงก์

ธพว.เร่ง “เสริมสภาพคล่อง-เติมทุน” เอสเอ็มอีรายเล็ก ชี้ยังมีวงเงินสินเชื่ออีกกว่า 1 หมื่นล้านบาท พร้อมหนุนผู้ประกอบการ หลังจากช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ ปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 2.8 หมื่นล้านบาท จากเป้าหมาย 4 หมื่นล้านบาทขณะที่เอสเอ็มอีกว่า 7,500 ราย ขอพักหนี้ “เงินต้น-ดอกเบี้ย” 2 เดือน

นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงาน 8 เดือนแรกของปี 2564 ธพว.ปล่อยสินเชื่อ

เพื่อช่วยเหลือลูกค้าเอสเอ็มอีไปแล้วกว่า 2.8 หมื่นล้านบาท โดยปีนี้ทั้งปีตั้งเป้าหมายไว้ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งน่าจะสามารถทำได้ตามเป้า เนื่องจากยังมีเอสเอ็มอีที่ต้องการเข้าถึงแหล่งทุน เพื่อเสริมสภาพคล่องอยู่อีก

“แต่ส่วนใหญ่ลูกค้าของแบงก์จะเป็นรายเล็ก เราจึงสามารถปล่อยสินเชื่อช่วยลูกค้าได้จำนวนมาก แต่วงเงินไม่สูง เฉลี่ย 2-3 แสนบาทต่อราย”

นอกจากนี้ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ธนาคารก็ได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกค้า ผ่านมาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือน ครอบคลุมลูกค้าเอสเอ็มอีทั่วประเทศ

ซึ่งปัจจุบันลูกค้าได้แจ้งความประสงค์ของเข้าร่วมมาตรการพักหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเข้ามาแล้วกว่า 7,500 ราย มูลหนี้รวมกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท

“ลูกค้าส่วนใหญ่ 95% ขอพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ต่างจากรอบที่ผ่านมา ซึ่งลูกค้าขอพักหนี้เงินต้น แต่ยังจ่ายดอกเบี้ยอยู่ แสดงให้เห็นว่าช่วงนี้เอสเอ็มอีมีความอ่อนไหวค่อนข้างมาก

ส่วนการขยายพักชำระหนี้ออกไปจนถึงสิ้นปี 2564 นั้น เรากำลังดูสถานการณ์โควิดอยู่ หากยืดเยื้อออกไปอีก ก็จะมีการประกาศขยายระยะเวลาพักหนี้ให้ ซึ่งอาจจะพักหนี้เฉพาะเงินต้น แต่หากสิ้นเดือน ส.ค.นี้แล้วรัฐบาลคลายล็อกดาวน์ออกมา ก็จะพิจารณาอีกที”

สำหรับในระยะถัดไป ธนาคารอยู่ระหว่างติดตามการปรับเงื่อนไขสินเชื่อฟื้นฟูของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ซึ่งจะทำให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น ภายใต้อัตราดอกเบี้ยต่ำที่ 2% โดยหากธปท.ปรับให้ยืดหยุ่นมากขึ้น ก็เชื่อว่าลูกค้าจะให้ความสนใจสินเชื่อดังกล่าวเพิ่มขึ้น

“ที่ผ่านมา ธพว.ปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูไปแล้ว 1,300 ล้านบาท ยังไม่รวมกับซอฟต์โลนของแบงก์ชาติเดิม เมื่อปี 2563 ที่ปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 3,600 ล้านบาท”

นอกจากนี้ ยังมีสินเชื่อจากที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ที่แบงก์ได้ร่วมดำเนินการ “โครงการสนับสนุน SMEs รายย่อย” วงเงินรวม 1,200 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษ 1% ต่อปี ผ่อนนานสูงสุด 7 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 1 ปี

โดยปัจจุบันได้ขยายความช่วยเหลือให้ครอบคลุมเอสเอ็มอีรายเล็ก ๆ เช่น ธุรกิจนำเที่ยว-ทัวร์ สปา ค้าส่งค้าปลีก จำหน่ายสินค้าที่ระลึก ธุรกิจเพื่อความบันเทิง ภัตตาคาร ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ขนม เบเกอรี่ เป็นต้น ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดนำร่องเปิดการท่องเที่ยวและจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด รวม 35 จังหวัด ซึ่งขณะนี้สามารถปล่อยสินเชื่อได้แล้ว 1 ใน 3 ของวงเงินทั้งหมด

นอกจากนี้ ธพว.ยังมีแพ็กเกจ “สินเชื่อเติมทุน SMEs มีสุข ยิ้มได้” วงเงินรวม 1.5 หมื่นล้านบาท ภายใต้ 3 ผลิตภัณฑ์สินเชื่อใหม่ ได้แก่ SMEs D เติมทุน, SMEs มีสุข และ SMEs ยิ้มได้ ช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้มีวงเงินเพิ่มขึ้น นำไปใช้เสริมสภาพคล่อง และลดต้นทุนทางการเงิน ซึ่งเปิดกว้างเอสเอ็มอีทุกกลุ่มธุรกิจ กู้ได้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ทั้งลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่ วงเงินกู้สูงขึ้นถึง 15 ล้านบาทต่อราย ดอกเบี้ยเฉลี่ย 4-5%

“ขณะนี้สินเชื่อเติมทุนฯยังมีวงเงินเหลืออยู่ ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถแจ้งความประสงค์ขอสินเชื่อได้” กรรมการผู้จัดการ ธพว.กล่าว