ใช้ Big Data พาเด็กยากจนกลับโรงเรียน (จบ)

นักเรียนไทย
FILE PHOTO : Sasin Tipchai จาก Pixabay
เช้านี้ที่ซอยอารีย์
พงศ์นคร โภชากรณ์
([email protected])

ที่น่าตกใจกว่าคือ จากการสำรวจของ กสศ.เองพบว่า ผู้ปกครอง 60% มีรายได้ลดลงจากผลของโควิด-19 สะท้อนให้เห็นความยากลำบากในการส่งลูกเรียนในช่วงโควิด-19 อย่างชัดเจน

นี่ยังไม่นับรวมถึงคุณภาพชีวิตของเด็ก ๆ ที่อาจจะแย่ลงกว่าเดิม ซึ่งผู้ที่รับผิดชอบการจัดเก็บข้อมูลเหล่านี้ น่าจะมีข้อมูลเชิงลึกในมืออยู่แล้วว่า เด็ก ๆ เหล่านี้ชื่ออะไร อายุเท่าไร

ชื่อผู้ปกครอง เลขบัตรประจำตัวประชาชนของเด็กและผู้ปกครอง เด็ก ๆ อยู่ในระบบการศึกษาใด ชั้นปีการศึกษาใด โรงเรียนอะไร และจังหวัดไหน ขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่จะหยิบขึ้นมาใช้เมื่อไร

จากสถานการณ์ดังกล่าว ผมจึงมีความเห็นว่า รัฐบาลจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องออกมาตรการหรือโครงการช่วยเหลือเด็กยากจนให้ได้เรียนต่อในปีการศึกษาถัดไปให้ได้มากที่สุด และเร็วที่สุด

โดยใช้เงินในพระราชบัญญัติกู้เงิน 500,000 ล้านบาท ในแผนที่ 2 เยียวยา ดังนั้น เป้าหมายของเราจึงตั้งต้นการช่วยเหลือไว้ที่ 3 แสนคน ที่สำคัญมาตรการนั้นต้องทำได้ทันที

โดยการแยกเด็กนักเรียนยากจนออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 คือ กลุ่มที่ กสศ.ดูแลช่วยเหลืออยู่แล้ว กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มที่ กสศ.ไม่ได้ดูแล แต่พ่อแม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพราะถ้าพ่อแม่มีรายได้น้อยและรายได้นั้นต่ำกว่าเส้นความยากจน

ก็ถือว่าลูกของเขาก็เป็นเด็กยากจนด้วย ทั้ง 2 กลุ่มนี้สามารถช่วยเหลือได้ทันที เพียงแต่กระทรวงการคลังและ กสศ.ต้องเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน เพื่อไม่ให้การจ่ายเงินสนับสนุนเกิดความซ้ำซ้อนระหว่าง 2 หน่วยงาน

อีกทั้งเป็นการสร้าง big data เด็กนักเรียนยากจนอย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นโครงการที่ win-win ทั้งคู่ เพราะ กสศ.ต้องการเก็บตกเด็กนักเรียนยากจนที่พ่อแม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่ยังไม่ได้อยู่ในระบบของ กสศ.

ในขณะที่กระทรวงการคลังก็ต้องการเก็บตกพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีรายได้น้อยและยังไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่ลูกอยู่ในระบบของ กสศ.แล้ว ส่วนกลุ่มที่ 3 คือ นักเรียนที่ยากจนและตกหล่นจากกลุ่มที่ 1 และ 2

อันนี้ต้องให้กระทรวงศึกษาฯออกแรง อัพเดตข้อมูลกับโรงเรียน ให้ความช่วยเหลือตามไปในภายหลัง และเชื่อมโยงกับ 2 ฐานข้อมูลแรก ฉะนั้น ถ้าทั้ง 3 หน่วยงานนี้ผนึกกำลังกันก็จะได้ big data นักเรียนยากจนทั้งประเทศ

ใช้ big data พาเด็กยากจนกลับโรงเรียนกันเถอะครับ ก่อนที่เด็กนักเรียนยากจนจะหลุดจากระบบการศึกษาอย่างถาวร