“บิล เกตส์” ชี้ภัยธรรมชาติ กระทบเศรษฐกิจ รุนแรงกว่าหลังสงครามโลก

(FILES) (Photo by JEFF PACHOUD / AFP)

บิล เกตส์ ยกประเด็นท้าทายศตวรรษ ลงทุนอย่างไร เพื่อหลีกเลี่ยงภัยพิบัติทางธรรมชาติอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ชี้ มีแนวโน้มกระทบเศรษฐกิจและรุนแรงยิ่งกว่าการถดถอยทางเศรษฐกิจทุกครั้งตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมกัน

วันที่ 27 สิงหาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มาร์ก เลซีย์ หัวหน้าฝ่าย Global Resource Equities Schroders เปิดเผยว่า หนังสือเล่มใหม่ของบิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ ช่วยย้ำความมั่นใจในการลงทุนด้านการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพลังงานใหม่

“บิล เกตส์” ซึ่งก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำอย่างไมโครซอฟท์ เป็นบุคคลที่สามารถเข้าถึงข่าวสารและข้อมูลเชิงลึก อีกทั้งการที่มูลนิธิของเขาประสบความสำเร็จอย่างน่าประทับใจด้านการแก้ไขปัญหาสุขภาพและการศึกษา ยังแสดงถึงความเอาจริงเอาจังของเขาในการแก้ปัญหาต่างๆ ที่ดูเหมือนว่าไม่มีทางออกอีกด้วย

ในหนังสือเล่มนี้ บิลยกประเด็นท้าทายของศตวรรษ คือ ทำอย่างไรเราจึงจะหยุดยั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปีละ 51 ล้านตัน โดยเร็วที่สุดอย่างคุ้มค่าและสมดุล เพื่อหลีกเลี่ยงภัยพิบัติทางธรรมชาติอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ในฐานะผู้จัดการกองทุนซึ่งให้ความสำคัญกับเทรนด์ดังกล่าวอย่างมาก แนวทางการแก้ไขปัญหาที่บิล เกตส์นำเสนอนั้นถือเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นในการลงทุนกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าว

บิล ระบุถึงความจำเป็นที่ต้องลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงจากฟอสซิล (เช่นน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ) โดยเร็ว และตั้งเป้าให้การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในระยะเวลา 30 ปีนับจากนี้ แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่มีการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลอีกเลย

เพราะนอกจากอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าและการขนส่งทางบกแล้ว ภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น การผลิตเหล็กกล้า ซีเมนต์ ปุ๋ย และพลาสติกมวลเบายังมีแนวโน้มที่จะยังคงต้องใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่แทนที่จะปล่อยก๊าซคาร์บอนออกสู่ชั้นบรรยากาศ เราอาจจำเป็นต้องหาวิธีเพื่อกักเก็บเอาไว้แทน

บิล ระบุว่า เราต้องลงทุนทั้งเวลาและเงินทุนในการแก้ปัญหาเพื่อหลีกเลี่ยงภัยพิบัติทางธรรมชาติอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทันที เพราะมีแนวโน้มว่าปัญหาดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรงยิ่งกว่าการถดถอยทางเศรษฐกิจทุกครั้งตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมกัน

บิลยังระบุอีกว่า เราจำเป็นที่จะต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้เหลือศูนย์ หรือใกล้เคียงภายในปี 2593 เนื่องจากหากเราไม่แก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง จะเป็นการเดินหน้าสู่หายนะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การพึ่งพาแหล่งพลังงานจากฟอสซิลเช่นในปัจจุบันทำให้การเริ่มต้นสร้างความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องยากอย่างยิ่ง ไม่เพียงเพราะเราใช้พลังงานฟอสซิลในแทบทุกกิจกรรมที่เราทำ ตั้งแต่การขับรถไปจนถึงการแปรงฟัน ฃ

แต่ยังเป็นเพราะพลังงานฟอสซิลมีราคาแสนถูกเมื่อเทียบกับพลังงานจากแหล่งอื่น เราจึงต้องมุ่งมั่นที่จะหาแนวทางในการลดต้นทุนของการผลิตพลังงานสะอาดที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงเป็นศูนย์ ไม่เช่นนั้นกระบวนการเปลี่ยนผ่านก็จะเป็นไปอย่างล่าช้า

เนื้อหาของหนังสือในส่วนถัดมาเริ่มแสดงให้เห็นถึงความหวัง เนื่องจากมีแนวทางมากมายที่เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้ร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการผลิตพลังงาน การขนส่ง การเกษตร และการผลิต

ทั้งนี้ รัฐบาลของประเทศต่างๆ เริ่มหันมาให้ความร่วมมือมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยข้อตกลงปารีส เมื่อปี 2558 ถือเป็นก้าวสำคัญของการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกัน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลในแต่ละประเทศต้องกำหนดนโยบายเพื่อกระตุ้นการลงทุนในภาคส่วนที่เหมาะสมเพื่อช่วยลดต้นทุนด้านต่างๆ เพราะนโยบายจากภาครัฐที่ชัดเจนจะช่วยลดความเสี่ยงของนักลงทุนในเทคโนโลยีสำคัญและหนุนการเติบโตของการลงทุนเพื่อสนับสนุนการลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ขณะเดียวกัน ปัจจุบันมีเทคโนโลยีต่างๆ ที่มีต้นทุนต่ำ ให้ความคุ้มค่าทั้งสำหรับนักลงทุนที่คาดหวังผลตอบจากการลงทุน และสำหรับผู้บริโภคที่สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ปลายทางในราคาที่จับต้องได้ วงจรแห่งการสร้างแรงกระเพื่อมเชิงบวกได้เกิดขึ้นแล้ว ดังจะเห็นจากต้นทุนของเทคโนโลยีเหล่านี้เริ่มปรับตัวลดลงตามตามการขยายตัวของตลาด และนโยบายจากภาครัฐจะเป็นตัวหลักช่วยสนับสนุนให้เทรนด์นี้เติบโตได้เร็วขึ้น

การเก็บภาษีคาร์บอนจำเป็นต้องปรับตามความเหมาะสมสำหรับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา และต้องเป็นการถือปฏิบัติในระดับอุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมการลงทุนในพลังงานสะอาดและกระตุ้นให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและเพิ่มอุปสงค์ในตลาด

ระบบพลังงานของโลก ซึ่งรวมถึงไฟฟ้า คมนาคม ระบบทำความร้อน/เย็น มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณครึ่งหนึ่งของปริมาณทั้งหมด 51 ล้านตันต่อปี การเปลี่ยนแปลงระบบพลังงานให้มีความยั่งยืนมากขึ้นเหล่านี้ เราเรียกกันว่า “การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพลังงานใหม่” (Energy Transition)

หนังสือเล่มนี้ยังเน้นถึงใจความบางอย่างที่เราอยากเน้นย้ำ โดย 6 เนื้อหาสำคัญ ได้แก่

1.การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของระบบพลังงานไปสู่พลังงานสะอาดเป็นการลงทุนเชิงโครงสร้างในระยะยาวหลายสิบปี ไม่ใช่การลงทุนตามวัฏจักรสั้นๆ

2.การลงทุนภายในพลังงานสะอาดเหล่านี้ ยังคงอยู่ในระยะเริ่มแรก และจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อให้สามารถก้าวไปสู่จุดที่ใกล้เคียงกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนเหลือศูนย์ภายในปี 2593

3.เม็ดเงินลงทุนในเทคโนโลยีการเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาดเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้ คาดว่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียง 100 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ระหว่างปี 2563 – 2593 ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนที่มีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับรอบการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานที่ผ่านมา หรือเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ

4.นโยบายจากภาครัฐให้การสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มากขึ้น และจะมีบทบาทสำคัญในการสร้างแรงจูงใจในการลงทุนในพลังงานสะอาดและลดแรงจูงใจในการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับสูง พร้อมทั้งขับเคลื่อนการลดต้นทุนของเทคโลโลยีสำคัญใหม่ๆ

5.ต้นทุนในการผลิตพลังงานสะอาดปัจจุบันเริ่มลดลงมาจนอยู่ในระดับที่ สามารถแข่งขันกับพลังงานจากฟอสซิลได้ และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

6.ลูกค้าทั้งในระดับธุรกิจและครัวเรือนทยอยเปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่นไมโครซอฟท์ใช้เฉพาะพลังงานไฟฟ้าจากแห่งพลังงานทดแทนเท่านั้น หรือการที่ผู้บริโภคหันมาซื้อรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น ซึ่งเทรนด์นี้มีแต่จะเร่งตัวขึ้นในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้านี้

Mark Lacey, Head of Global Resource Equities, Schroders