ดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุน พ.ย. กลับมา “ร้อนแรง” โอกาสหุ้นไทยยืนเหนือ 1,650 จุด

เงินบาท-หุ้นไทย

สภาธุรกิจตลาดทุนไทย(FETCO) เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (พ.ย.64) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 124.3% จากเกณฑ์ “ซบเซา” เดือนก่อนมาอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” สะท้อนตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศการบริหารจัดการวัคซีนมีทิศทางดูดีขึ้นมาก นักลงทุนทุกกลุ่มเป็นครั้งแรกที่สวิงกลับมาจาก Bearish สู่ทิศทาง Bullish ด้าน “ไพบูลย์” ชี้เป้าดัชนีหุ้นไทยสิ้นปี’64 โอกาสยืนเหนือ 1,650 จุด

วันที่ 6 กันยายน 2564 นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) จากผลสำรวจในเดือน ส.ค.2564 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า(พ.ย.64) อยู่ที่ระดับ 144.37 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 124.3% จากเกณฑ์ “ซบเซา” เดือนก่อนมาอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” สะท้อนภาพตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศและการบริหารจัดการวัคซีนมีทิศทางที่ดูดีขึ้นมาก โดยนักลงทุนมองภาพเป็นบวกทุกกลุ่มและเป็นครั้งแรกที่สวิงกลับมาจาก Bearish สู่ทิศทาง Bullish

“ความคาดหวังแผนการฉีดวัคซีนเพื่อคลี่คลายสถานการณ์โควิด-19 เป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด ซึ่งเชื่อว่ารอบนี้ช่วงไตรมาส 4/64 จะมีวัคซีนเข้ามามากจากกำลังการผลิตที่มีความชัดเจน รองลงมาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศและเงินทุนต่างชาติ(Fund Flow) ไหลเข้า จากการคลายล็อกดาวน์ และกิจกรรมต่างๆ เริ่มทยอยกลับมาปกติ แต่ต้องติดตามต่อไปว่าจะสามารถสร้างความมั่นใจได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไรก็ตามยังมีความเสี่ยงหากมีการกลับมาระบาดโควิดอีกครั้งจนทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งสูง อาจทำให้บรรยากาศเปลี่ยนไปแย่ได้อีกรอบ” นายไพบูลย์กล่าว

จากนี้ไป 3 ปัจจัยบวกที่ทำให้ความเชื่อมั่นนักลงทุนสูงขึ้น จะสามารถดีขึ้นกว่านี้หรือไม่ ถ้าไม่ดีประเมินดัชนีตลาดหุ้นไทย(SET Index) คงยืนอยู่บริเวณนี้ 1,650 จุดตลอดทั้งไตรมาส 4/64 แต่ถ้าสถานการณ์มีทิศทางดีขึ้นมีโอกาสเห็นดัชนีปรับตัวสูงกว่าระดับ 1,650 จุดได้ แต่ช่วงที่เหลือของปีตลาดหุ้นไทยอาจจะมีอัพไซต์ไม่มาก แต่ทั้งนี้ดาวน์ไซต์เองก็มีไม่มากเช่นกัน อย่างไรก็ดีคาดว่าภาพต่อจากนี้คงจะเห็นฟันด์โฟลว์ทยอยไหลเข้าได้เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันขายสุทธิอยู่ที่ 83,934 ล้านบาท(3 ก.ย.64) หากไตรมาส 4 ได้วัคซีนไฟเซอร์ 30 ล้านโดส และอื่นๆ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้ชี้แจงไว้

ขณะเดียวกันเห็นตัวเลขเศรษฐกิจไทย(GDP) และประมาณกำไรบริษัทจดทะเบียนปรับตัวดีขึ้น แม้วันนี้ตลาดทุนไทยยังประเมิน GDP โต 0% แต่ถ้ารัฐมีแผนรับมือการระบาดโควิดชัดเจน แม้ตัวเลขจะพุ่งสูงขึ้นไปสู่ระดับเดิมแต่เชื่อว่านักลงทุนต่างชาติคงคุ้นชินกับตัวเลขดังกล่าวแล้ว 

นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่า ที่สำคัญมากคือภาพทิศทางปี 2565 เพราะปีนี้เศรษฐกิจค่อนข้างฟื้นตัวน้อยกว่าเมื่อเทียบประเทศอื่น แต่ข้อดีคือฐานต่ำทำให้ปีหน้ามีโอกาสฟื้นตัวแกร่งกว่า ฉะนั้นจะเห็นเงินลงทุนอัดรอไว้ ประเมินดัชนีตลาดหุ้นไทยปี 65 ไว้ที่ 1,800 จุด ตามความคาดหมายที่กล่าวไว้ข้างต้น

โดยสิ่งที่อยากฝากถึงรัฐบาลคือควรใช้ พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท รีบนำออกมาใช้กระตุ้นกำลังซื้อ โฟกัสกลุ่มผู้มีรายได้สูงโดยให้แรงจูงใจ จึงอยากเห็นมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ ดำเนินการด้วยเม็ดเงินก้อนใหญ่ ซึ่งควรจะใช้ให้หมดภายในปีนี้ จะส่งสัญญาณดีที่จะพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจขึ้นมาโดยเร็ว นอกจากนี้ต้องเร่งจ้างงานให้เกิดขึ้นไม่ว่าภาครัฐจะลงทุนเอง โดยสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ หรือเป็นมาตรการสนับสนุนเอสเอ็มอีที่จ้างงานให้มีสิทธิลดหย่อนภาษีมากขึ้น รวมไปถึงต้องขยับเพดานหนี้เป็น 70-75% 

ส่วนปีหน้าออก พ.ร.ก.เงินกู้อีกชุด ควรโฟกัสการกระตุ้นการท่องเที่ยว การใช้จ่ายในประเทศและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจจะยังไม่ได้กลับมามากมายนัก

โดยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน(ณ สิ้นเดือน ส.ค.64) ผลตอบแทนดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวบวก 13.1% เฉพาะในเดือน ส.ค.64 ปรับตัวบวกถึง 7.7% เมื่อเทียบจากเดือนก่อนหน้า ยืนเป็นอันดับ 3 เทียบดัชนีตลาดหุ้นในเอเชียและยุโรปบางประเทศ เป็นรองแค่ตลาดหุ้นอินเดียและฟิลิปปินส์ สะท้อนว่านักลงทุนเริ่มมีทิศทาง Bullish ต่อตลาดหุ้นอาเซียนมากขึ้น จากที่เป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบโควิดสายพันธุ์เดลต้ามากที่สุด