ส่องกองทุนเซมิคอนดักเตอร์ กระแส “ชิปขาด” ดันรีเทิร์น

ทำไมชิปขาดถึงเกิดวิกฤตโลก
Image by bbAAER from Pixabay

ยุคนี้อุปกรณ์ไอทีมีความจำเป็นมากขึ้นในชีวิตประจำวันของผู้คน โดยในช่วงการระบาดของโควิด-19 เกิดความต้องการอุปกรณ์ไอทีอย่างมาก ซึ่งส่งผลให้ความต้องการเซมิคอนดักเตอร์ (semiconductor)เร่งตัวขึ้น

ประกอบกับกระแสการขุดคริปโทฯ (คริปโทเคอร์เรนซี) ที่ต้องใช้การประมวลผลที่มีประสิทธิภาพ ก็ยิ่งทำให้มีความต้องการไอทีสูงขึ้นไปอีก กระทั่งเกิดภาวะขาดแคลน semiconductor ทั่วโลก

โดย “ชญานี จึงมานนท์” นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จากภาวะขาดแคลนชิปถือเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ผู้ลงทุนให้ความสนใจกับหุ้นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์

โดยเฉพาะในช่วงแรกที่โควิดแพร่ระบาดที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตและส่งออก ทำให้ปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์เกิดทั่วโลก จนมาถึงปัจจุบันที่มีความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นจากกลุ่มยานยนต์ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการผลิตและการส่งออกจะเพิ่มขึ้นและเพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งอาจเกิดขึ้นในช่วงปี 2565

4 บลจ.ไทยนำร่องเปิดขายกอง

ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ในประเทศไทย ได้ออกกองทุนที่เน้นลงทุนเกี่ยวกับเซมิคอนดักเตอร์มาให้เห็นกันบ้างแล้ว เช่น บลจ.ไทยพาณิชย์, บลจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์,บลจ.เกียรตินาคินภัทร เป็นต้น

โดยออกขายกองทุนรูปแบบกองทุนฟีดเดอร์ ในขณะที่ บลจ.วี เป็นลักษณะกองทุนรวมหน่วยลงทุน (fund of funds) ซึ่งกองทุน SCBSemiconductor ของ บลจ.ไทยพาณิชย์ เป็นกองทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดด้วยมูลค่าราว 2,800 ล้านบาท

ช่วงเดือน ก.ค. 2564 ที่ผ่านมา กลุ่ม global technology มีเม็ดเงินไหลเข้า-ออกรวมกว่า 4,200 ล้านบาท สูงสุดในประเภทกองทุนตราสารทุน ในจำนวนดังกล่าวไหลเข้ากองทุนเซมิคอนดักเตอร์รวม 3,800 ล้านบาท

โชว์ผลตอบแทนสูงกว่า 3%

ในด้านผลตอบแทนกองทุนกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ถือว่ามีผลตอบแทนที่ค่อนข้างสูงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หรือกว่า 30-60% ยกเว้นในปี 2561 ที่มีประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ขณะที่ในปีนี้มีผลตอบแทนสะสมอยู่ที่ระดับ 20%

ทั้งนี้ กองทุน KKP Semiconductor(บลจ.เกียรตินาคินภัทร) ที่ลงทุนใน iShares Semiconductor ETF (กองทุนหลัก)ให้ผลตอบแทนสูงสุดอยู่ที่ 3.62%

ขณะที่กองทุน LH Semiconductor (บลจ.แลนด์แอนด์ เฮ้าส์)ที่ลงทุนในกองทุนหลักเดียวกันให้ผลตอบแทนรองลงมาที่ 3.28% ส่วนกองทุน SCB Semiconductor (e-Channel) และกองทุน SCB Semiconductor (Acc) (บลจ.ไทยพาณิชย์)ที่ลงทุนใน VanEck Vectors Semiconductor UCITS ETF ให้ผลตอบแทนที่ 3.22% และ 3.11% ตามลำดับ ขณะที่กองทุนWe Evolution of Semiconductor (บลจ.วี) ให้ผลตอบแทน 3.15% (ดูตาราง)

“กองทุนเซมิคอนดักเตอร์แต่ละกองมีผลตอบแทนค่อนข้างใกล้เคียงกันมากในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากลงทุนไปที่กองทุนซ้ำกันบวกกับการลงทุนในพอร์ตที่คล้ายกัน” นางสาวชญานีกล่าว

“ชิปขาด” ดึงดูดนักลงทุน

สำหรับภาวะขาดแคลนชิปที่เกิดขึ้น “มนรัฐ ผดุงสิทธิ์” กรรมการผู้อำนวยการบลจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ วิเคราะห์ว่า มาจาก 2 ประเด็นหลัก คือ 1.การระบาดของโควิดทำให้เกิด supply disruption หยุดชะงักส่งผลให้โรงงานหลายแห่งต้องปิดชั่วคราว และ 2.การกักตุนชิป

นอกจากนี้ ด้วยการผลิตที่ค่อนข้างยาก ซึ่งบริษัทที่สามารถผลิตชิปได้อย่างครบวงจรมีเพียงไม่กี่บริษัท โดยอยู่ในประเทศเกาหลีใต้และไต้หวันเป็นหลัก ซึ่งการที่จะสร้างโรงงานผลิตจำเป็นต้องใช้เงินมหาศาลและใช้เวลาหลายปี

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตหากหลาย ๆ ประเทศสามารถผลิตชิปได้เอง ประเด็นเรื่องการกักตุน อาจลดลง รวมถึงสถานการณ์โควิดที่คลี่คลาย จะทำให้ความขาดแคลนลดลงเช่นกัน

“กองทุนเซมิคอนดักเตอร์ได้กระแสตอบรับที่ดีจากนักลงทุน รวมถึงผลตอบแทนกองทุนที่ไม่ติดลบ จึงค่อนข้างเป็นที่พึงพอใจ แม้ว่าประเด็นการขาดแคลนชิปจะเป็นปัจจัยหลักที่ดึงดูดความสนใจของนักลงทุน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าต่อไปการขาดแคลนชิปมีแนวโน้มลดลง แต่กองทุนเซมิคอนดักเตอร์ก็ยังคงมีเสน่ห์ มีโอกาสเติบโตที่ดีและจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง”

เมกะเทรนด์ระยะยาว

ทั้งนี้ ชิปเซมิคอนดักเตอร์เป็นวัสดุที่ใช้ทำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่ชิ้นส่วนประกอบขนาดเล็ก ๆ เช่น แผงวงจรรวม หรือไอซี (integrated circuit) และคาดว่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้าชิปจะถูกพัฒนาอย่างละเอียดและนำไปใส่ใน IOT (internet of things)

“จะเรียกว่าเป็นเมกะเทรนด์ หรือเป็นมากกว่าเมกะเทรนด์ก็ยังได้ เนื่องจากเซมิคอนดักเตอร์เป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของธุรกิจเมกะเทรนด์ในอีกหลาย ๆอุตสาหกรรม” นายมนรัฐกล่าว


นับว่า กองทุนเซมิคอนดักเตอร์เป็นอีกหนึ่งการลงทุนที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว