MAKRO ติดโผ SET50 รวม “โลตัสส์” อัพไซซ์ธุรกิจผงาดอาเซียน

การจัดโครงสร้างกลุ่มธุรกิจสยามแม็คโครของ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO ควบรวมกิจการกับ กลุ่มโลตัสส์ (LOTUS’s) ใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยในวันที่ 12 ต.ค.นี้ จะมีการประชุมผู้ถือหุ้นผ่านระบบออนไลน์ เพื่ออนุมัติรับโอนกิจการของโลตัสส์ ทั้งในไทยและในมาเลเซีย จากบริษัท ซี.พี.รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด (CPRH)

MAKRO ติดโผ SET50

“สุชาดา อิทธิจารุกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจสยามแม็คโคร เปิดเผยว่า หากผู้ถือหุ้นที่มีรายย่อยอยู่ 7% โหวตอนุมัติแล้ว ก็คาดว่าภายในไม่เกิน 3 สัปดาห์ นับจากวันประชุมผู้ถือหุ้น หรือประมาณวันที่ 25 ต.ค.นี้ กระบวนการรับโอนกิจการจะเรียบร้อย

หลังจากนั้นบริษัทเตรียมขออนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เสนอขายหุ้นเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไป (PO) จำนวนกว่า 1,300 ล้านหุ้น ซึ่งจะทำให้ทุนจดทะเบียนของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 5,000 ล้านหุ้น

โดยกระบวนการยื่นไฟลิ่งต่อ ก.ล.ต.น่าจะแล้วเสร็จภายในไม่เกินสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน พ.ย. 2564 และภายในไตรมาส 4 ของปีนี้ บริษัทจะรับรู้รายได้จากโลตัสส์เข้ามาได้

“หลังการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนครั้งนี้ จะทำให้แม็คโครมีสัดส่วนการกระจายหุ้นแก่ผู้ถือหุ้นรายย่อย (ฟรีโฟลต) เพิ่มขึ้นเป็น 15% จากปัจจุบันอยู่ที่ 7% ซึ่งจะหนุนความคล่องตัวในการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหุ้นไทยมีสูงขึ้น และหนุนให้ MAKRO ติดอันดับดัชนี SET50 ตลอดจนตะกร้าดัชนีหุ้นสำคัญ ๆ ของโลกอีกด้วย”

รายได้รวมเพิ่มดับเบิล

“สุชาดา” กล่าวว่า จากนั้นเมื่อรวมกิจการกันแล้ว แม็คโครจะมียอดขายเพิ่มขึ้นเท่าตัว จากปัจจุบันมียอดขายอยู่กว่า 2 แสนล้านบาท แต่หากเทียบในแง่สินทรัพย์รวม ทางโลตัสส์จะมีขนาดที่ใหญ่กว่า เพราะมีสัดส่วนรายได้ค่าเช่าด้วย

“ตรงนี้เป็นจุดแข็งของโลตัสส์ ที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาเพิ่มพื้นที่เช่าให้กับแม็คโครในอนาคต และจะทำให้โครงสร้างพอร์ตรายได้ของแม็คโครจะเปลี่ยนแปลงจากเดิม”

ส่ง “โลตัสส์” เจาะชุมชน

โดยแม็คโครเอง ยังมีแผนขยายสาขาในไทยเพิ่มเป็น 144 สาขา ภายในสิ้นปี 2564 นี้ จากปัจจุบันมีอยู่ทั้งหมด 139 สาขา จะเปิดเพิ่มอีก 5 สาขา ซึ่งจะเน้นเปิดสาขาขนาดกลางถึงเล็ก พื้นที่ขนาด 1,000-3,000 ตารางเมตร เจาะตลาด food service โดยถือเป็นแผนงานหลักในอีก 3-5 ปีข้างหน้า

“ขณะที่โลตัสส์ หลังจากรีแบรนดิ้ง มีการปรับลดขนาดเล็กเป็น go fresh มุ่งเน้นขายอาหารสดใกล้บ้าน ดังนั้น โลตัสส์ที่มีสาขามากถึง 1,600 แห่ง คงทยอยปรับเป็น go fresh แล้วเสร็จครบทุกสาขาในปีหน้า”

ปักธงผู้นำค้าปลีก O2O อาเซียน

นอกจากนี้ จากจุดเด่นในธุรกิจ B2B (business to business) และ B2C (business to customer) ซึ่งทั้ง 2 บริษัทมีพื้นฐานที่ดีและมีประสบการณ์ยาวนาน

โดยแม็คโครดำเนินธุรกิจ B2B ในไทยมากว่า 32 ปี ส่วนโลตัสส์ดำเนินธุรกิจ B2C มากว่า 27 ปี

ซึ่งหลังจากนี้ ตั้งเป้าจะเป็นผู้นำการให้บริการผู้ประกอบการและลูกค้าทั่วไปผ่านแพลตฟอร์ม O2O (online to offline) ชั้นนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

5 ปี ลงทุน 1.3 แสนล้าน

สำหรับแผนระยะ 5 ปีข้างหน้า (2564-2568) บริษัทได้เตรียมเงินลงทุนสำหรับธุรกิจของแม็คโครและโลตัสส์ รวมกันไว้ราว 130,000 ล้านบาท

โดยพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะลงทุนขยายสาขาและด้านดิจิทัลเพิ่มขึ้น นำเทคโนโลยีมาใช้ในสโตร์ให้มากขึ้น แบ่งเป็นเงินลงทุนของแม็คโครประมาณ 60,000 ล้านบาท และโลตัสส์ประมาณ 70,000 ล้านบาท

“ประโยชน์ที่ทั้ง 2 บริษัทจะได้ร่วมกัน คือ economy of scale (การประหยัดต่อขนาด) ซึ่งทำให้ต้นทุนลดลงไปมาก เนื่องจากเราจะมีการใช้ระบบงานเดียวกัน ทั้งระบบหลังบ้านและระบบโปรแกรมจัดการฐานข้อมูล ซึ่งจะทำให้ทำงานดีและเร็วขึ้นโดยไม่ต้องเพิ่มคน”

ปูพรมขยายสาขาต่างประเทศ

นอกจากนี้ ปัจจุบันแม็คโครมีการขยายสาขาไปแล้วมากกว่า 4 ประเทศ รวมกันประมาณ 7 สาขา

ประกอบด้วย 1.กัมพูชา 2 สาขา 2.เมียนมา 1 สาขา 3.อินเดีย 3 สาขา และ 4.จีน 1 สาขา (กว่างโจว) มีรายได้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 5% ของรายได้รวม

โดยตั้งเป้าจะเพิ่มสัดส่วนรายได้ต่างประเทศเป็นไม่ต่ำกว่า 10% ของรายได้รวมภายใน 5 ปีข้างหน้า จากการรับรู้รายได้จากสาขาในประเทศมาเลเซียและจากแผนการขยายสาขาของทั้ง 2 บริษัท

“ตอนนี้ได้ตั้งทีมที่ปรึกษาต่างประเทศ ศึกษาประเทศใหญ่ ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ เวียดนาม, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย รวมไปถึงทำเลพื้นที่ประเทศที่มีการลงทุนไปแล้วเพิ่มเติมด้วย อาจจะเข้าไปทำธุรกิจได้ทั้ง B2B และ B2C รูปแบบลงทุนเองหรือร่วมหุ้นกับรายอื่น ซึ่งจะขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์ในแต่ละประเทศ” ซีอีโอแม็คโครกล่าว

ปัจจัยบวก “MAKRO” สู่หุ้นใหญ่

ด้าน “ธรีทิพย์ วงษ์แสงไพบูลย์” ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หุ้น MAKRO จะมีความน่าสนใจมากขึ้น เพราะจากการรวมกิจการได้มีการแก้ไขข้อจำกัดหลาย ๆ เรื่อง อาทิ ฟรีโฟลตที่เพิ่มขึ้น, มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) หลังควบรวมโอกาสเข้าไปลิสต์ SET50 และมีสภาพคล่องซื้อขายสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้น MAKRO ตอบรับประเด็นเหล่านี้ไปพอสมควรแล้ว ดังนั้น ต้องจับตาราคาหุ้นใหม่ที่เสนอขายนักลงทุนทั่วไป ผ่าน book building ว่าราคาขายจะออกมาสะท้อนแนวโน้มของบริษัทในอนาคตแค่ไหน ซึ่งขึ้นอยู่กับความต้องการซื้อของนักลงทุน

“จำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้น ในระยะสั้นจะมีผลกระทบต่อกำไรต่อหุ้น (EPS) ที่ถูกลดสัดส่วนลง (dilution) โดยประเมินปี 2564 นี้ EPS จะอยู่ที่ 1.16 บาทต่อหุ้น ลดลงจากปีก่อนหน้าอยู่ที่ 1.37 บาทต่อหุ้น ส่วนปี 2565 คาด EPS ทรงตัวที่ 1.16-1.17 บาทต่อหุ้น และจะกลับไปโตในปี 2566 ที่ 1.50 บาทต่อหุ้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับเงินที่เข้ามา การชำระหุ้น และค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย”

ทั้งนี้ ประเมินปี 2564 MAKRO จะมีรายได้รวมที่ 257,000 ล้านบาท กำไร 6,600 ล้านบาท (รวมรายได้โลตัสส์ตั้งแต่ พ.ย. 2564) ใกล้เคียงปีก่อน แต่ปี 2565 คาดการณ์กำไรแตะ 13,000 ล้านบาท เติบโต 99% โดยมีรายได้เพิ่มเป็น 473,000 ล้านบาท


“ปีนี้สัดส่วนรายได้และกำไรยังน้อย เพราะมีแรงกดดันจากกำลังซื้อและรายได้ค่าเช่าที่ยังไม่ฟื้นตัว โดยประเมินราคาเป้าหมายหุ้น MAKRO ปี 2565 อยู่ที่ 50 บาท แนะนำนักลงทุน “ถือ” เพราะราคาหุ้นสะท้อนความคาดหวังในอนาคตไปประมาณหนึ่งแล้ว และปัจจัยถูก dilution ช่วงระยะสั้น แต่ในระยะยาวค่อนข้างมองบวก” ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทยกล่าว